Agility Test บทพิสูจน์องค์กร
“วิกฤติโคโรนาไวรัสครั้งนี้ เหมือนเป็นการซ้อมใหญ่สำหรับการทำ Business Transformation เพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างเต็มรูปแบบ” ผู้บริหารองค์กรใหญ่ท่านหนึ่งได้กล่าวเอาไว้
สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องทำในช่วง 4-5 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งการทำงานแบบ Virtual Team สร้าง Infrastructure เพื่อทำให้เกิดการทำงานแบบ Remote Working ทั่วทั้งองค์กร การเร่งสปีดเพื่อเอา Technology มาช่วยในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปรับตัวในเรื่องกระบวนการผลิตที่ต้องเร่งสปีดเรื่องการใช้ Robotics และ Automation ปรับช่องทางการขายและการให้บริการลูกค้ามาอยู่บนช่องทางดิจิทัลเกือบทั้งหมด
หลายองค์กรตกอยู่ในสภาวะสับสน นอกเหนือจากความเร่งด่วนในการสื่อสารกับพนักงานและลูกค้าเพื่อทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องทิศทางการทำงานแล้วยังต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แบบพลิกฝ่ามือจาก Business as usual ที่เคยเป็นมา หลายองค์กรกำลังอยู่ในโหมดให้พนักงานโฟกัสกับแผนงานที่จำเป็นเท่านั้น ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาวันต่อวัน เพราะโครงสร้างการทำงานในรูปแบบเฉพาะกิจยังไม่สามารถขับเคลื่อนให้สามารถเตรียมรับแผนระยะกลาง และระยะยาวได้ เอาเป็นว่าถ้าสถานการณ์ Covid-19 อยู่เกินกว่า 2-3 เดือน เราอาจจะได้เห็นความล่มสลายขององค์กร ที่เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการที่ไม่ Agile มีขีดจำกัดในการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
คำว่า “Business Agility” กำลังเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกองค์กรต้องประเมินตัวเอง ในสถานการณ์ปกติ องค์กรที่เรียกได้ว่ามี Organizational Agility มักจะเป็นองค์กรที่พร้อมเปลี่ยนแปลงและมีความยืดหยุ่นคล่องตัวเมื่อจำเป็นต้องปรับกลยุทธทางธุรกิจ ให้สอดรับกับโอกาสและการแข่งขันในอุตสาหกรรม เมื่อยามต้องเผชิญกับวิกฤติ องค์กรที่ Agile จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคได้แบบไม่ต้องล้มลุกคลุกคลาน คุณลักษณะขององค์กรที่มี Agility นอกเหนือจากความเร็ว แคล่วคล่องว่องไวในการบริหารจัดการแล้วยังมีสิ่งที่เหมือนๆกันอยู่นั่นก็คือ Customer-centric ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างและการกระจายทรัพยากรให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มี Team Dynamic ทีมงานทำงานประสานกันด้วยบทบาทการทำงานที่ชัดเจนแม้ในสภาวะวิกฤติ สำคัญที่สุดคือวัฒนธรรมองค์กรที่หล่อหลอมให้พนักงานมี Growth Mindset กล้าลองผิดลองถูก มีความโปร่งใสและพร้อมจะปรับเปลี่ยนได้ในทุกสถานการณ์
องค์กรที่ Agile มักเป็นองค์กรที่สามารถวางแผนและผลักดัน “ Plan B” ให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ที่จำเป็น โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญๆเช่น 1) Workforce Management การบริหารคน และการกระจายทรัพยากร เช่นถ้าทีมใดทีมหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จะสามารถหาทรัพยากรส่วนอื่นมาทดแทนได้ทันทีไม่ว่าจะเป็นจากภายในองค์กรหรือภายนอกองค์กร 2) การบริหาร Supply Chain ที่คล่องตัวและมีเครือข่ายผู้ให้บริการและเทคโนโลโลยีรองรับ Demand Surge 3) Customer Engagement มีระบบที่ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก 4) Financial Management สามารถบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้ มีแหล่งเงินทุนและเครือข่ายสนับสนุนที่ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง 4) Leadership Decision & Alignment ทีมผู้บริหารสามารถทำงานกันได้แบบไร้รอยต่อ แต่ละส่วนงานมีอำนาจหน้าที่ชัดเจนในการสั่งการและติดตามผลงาน ถึงแม้จะเป็นการทำงานในรูปแบบ Distributed Team ที่แยกกันทำหรืออยู่ห่างไกลกัน
ไม่เพียงแต่ในมุมขององค์กรใหญ่เท่านั้นที่ Agility จะเป็นเสมือน Stress Test ที่บอกว่าใครจะอยู่ใครจะไป ในองค์กรขนาดเล็กอย่าง สตาร์ทอัพ ระดับของความ Agile ก็ยังมีไม่เท่ากัน บางรายอยู่ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นท่องเที่ยวและร้านอาหาร หลายรายสามารถปรับตัวได้เร็วและปรับเปลี่ยน Business Model ไปให้บริการลูกค้ากลุ่มอื่น หรือหันมาพัฒนา Feature ใหม่ที่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้ยังคงรักษา Users ไว้ได้ แต่ก็มีบางรายที่หาทางไปต่อไม่ได้รอวันหมดรันเวย์และต้องเลิกจ้างพนักงาน โดยธรรมชาติสตาร์ทอัพที่มีความ Lean และมีการทำงานแบบ Agile อยู่แล้ว บทพิสูจน์ความแข็งแกร่งมักจะอยู่ที่ความคล่องตัวในการจัดการเรื่องใหญ่ๆ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือการบริหาร Burn Rate และสภาพคล่องทางการเงิน สอง ความเร็วในการปรับโมเดลธุรกิจ สุดท้ายที่สำคัญมากก็คือความพร้อมในการเตรียมแผนตั้งรับระยะสั้น-กลาง-ยาว (3 เดือน-1 ปี-3ปี) และมีเครือข่ายนักลงทุนเพื่อเจรจาและหาทางอยู่รอดให้ได้
ยังไม่มีใครตอบได้ว่าวิกฤติ Covid-19 จะนำไปสู่ The New Reality ที่แตกต่างจากวิถีธุรกิจในปัจจุบันแค่ไหน หรือจะนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเทียบเท่ากับ The Great Depression ในยุค 1920s แต่ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติจะมีธุรกิจที่ผงาดขึ้นมาเสมอ เช่น General Motors ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากตลาดรถยนต์ขนาดเล็กหลังยุค Great Depression ธุรกิจ Ecommerce ของ Alibaba โตขึ้นหลายเท่าตัวในปี 2003 ยุคโรค SARS เช่นเดียวกับ Sharing Economy สตาร์ทอัพอย่าง Uber และ AirBnB เติบโตขึ้นมาหลังวิกฤติ Hamburger บทพิสูจน์จากนี้คือ Agility Test ที่บอกว่าใครจะ Rise & Shine ในยุคนี้!