ตื่นแห่ ‘ตุนอาหาร’ ดันราคาข้าวไทยพุ่ง!

ตื่นแห่ ‘ตุนอาหาร’ ดันราคาข้าวไทยพุ่ง!

WTO ออกแถลงการณ์ ป้องปัญหากักตุนอาหารในหลายประเทศเหตุการออกกฎตรวจเข้ม ปิดด่านป้องโควิด-19 ทำซัพพลายอาหารตลาดโลกสะดุด ส่งผลราคาพุ่ง ด้านตลาดข้าวโลกผวาสต็อกพร่อง ปม ‘โควิด-ภัยแล้ง’ หันแบนส่งออก ทำราคาข้าวเปลือกไทยพุ่งทะลุตันละหมื่น

ดับเบิลยูทีโอ ออกแถลงการณ์ ป้องปัญหากักตุนอาหารในหลายประเทศเหตุการออกกฎตรวจเข้ม ปิดด่านป้องโควิด-19 ทำซับพลายอาหารตลาดโลกสะดุด ส่งผลราคาพุ่ง ด้านตลาดข้าวโลกผวาสต็อกพร่อง ปม ‘โควิด-ภัยแล้ง’ หันแบนส่งออก ทำราคาข้าวเปลือกไทยพุ่งทะลุตันละหมื่น 

แนวทางการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดในหลายประเทศทั่วโลก แม้จะแก้ไขปัญหาหนึ่งได้ แต่กำลังจะสร้างอีกปัญหาหนึ่งตามมา นั่นคือ มาตรการคุมเข้มการข้ามแดน หรือล็อกดาวน์ ทำให้การส่งซัพพลายสินค้าโดยเฉพาะอาหารได้รับผลกระทบ ทั้งเน่าเสียและจำนวนไม่เพียงพอส่งป้อนในตลาด ทำให้ราคาปรับสูงขึ้น นอกจากปัญหาโรคระบาดแล้ว ปีนี้โลกกำลังเผชิญปัญหาภัยแล้งในหลายประเทศ ทำให้มีความกังวลว่า อาหารจะไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคและอาจนำไปสู่การ เกิด “panic buying” ในระดับโลกได้ 

องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เผยแพร่ผลหารือระหว่างดับเบิลยูทีโอ, องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ)และองค์การอนามัยโลก(ดับเบิลยูเอชโอ)เห็นชอบให้ออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ สร้างผลกระทบให้น้อยที่สุดจากมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะผลกระทบต่อการค้าอาหาร

ทั้งนี้ พบว่า มาตรการตรวจเข้มเพื่อป้องกันโควิด ได้ทำให้กระบวนการนำเข้าอาหารมีความล่าช้า และท้ายที่สุดทำให้เกิดการเน่าและสูญเสียอาหาร เป็นผลกระทบต่อซัพพลายอาหารในห่วงโซ่บริโภค และผลจากการที่ซัพพลายในตลาดลดลง ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น และทำให้หลายประเทศกำลังขาดสมดุลด้านอาหาร

ทางแก้ คือ ต้องให้ข้อมูลว่า ด้วยมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับอาหาร ความสามารถการผลิต การบริโภค และสต็อกที่มีอยู่ รวมถึงราคาอาหาร ซึ่งควรเป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อลดความไม่แน่นอนต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตอาหาร ผู้บริโภค พ่อค้าเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องได้ 

“เชื่อว่ามาตรการต่างๆ จะช่วยให้ แพนิค บายอิ้ง (panic buying) และการกักตุนอาหารและสินค้าจำเป็น ไม่เกิดขึ้นได้”

ก่อนหน้านี้ ดับเบิลยูทีโอ จัดทำเพจ COVID-19 and world trade ซึ่งเป็นเพจเฉพาะกิจบนเว็บไซต์ www.wto.org รวบรวมข้อมูลการออกกฎระเบียบ และมาตรการทางการค้าที่ประเทศสมาชิกนำมาใช้ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ การค้า และสาธารณสุข

จากข้อมูลบนเพจเฉพาะกิจ ณ วันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า บราซิล แอลเบเนีย คีร์กีซสถาน มอริเชียส อินโดนีเซีย คาซัคสถาน รัสเซีย และไทย รวม 8 ประเทศ ยื่นเอกสารแจ้งการใช้มาตรการทางการค้าต่อดับเบิลยูทีโอ แล้ว เช่น คีร์กีซสถาน ห้ามส่งออกอาหารบางประเภท อาทิ ข้าวสาลี น้ำมันพืช น้ำตาล ข้าว และไข่ไก่ เป็นเวลา 6 เดือน 

  • ดับเบิลยูทีโอตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ

นอกจากนี้ ดับเบิิลยูทีโอ ยังได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (task force) ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายเลขาธิการดับเบิลยูทีโอ ผู้แทนของประเทศสมาชิกฯ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศ และจะรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ในรายงานการคาดการณ์สภาวะการค้า ประจำปี 2563 (WTO's annual trade projections) ที่เตรียมจะเผยแพร่ในเดือน เม.ย.นี้ 

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศมีแผนรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศเพื่อไม่ให้มีราคาที่สูงเกินไปจนกระทบต่อประชาชน

158609426450

โดยเวียดนามมีแผนชะลอการส่งออก ด้วยการไม่รับคำสั่งซื้อข้าวใหม่ เพราะไม่ต้องการส่งออกข้าวมากจนกระทบราคาภายใน ประกอบกับแนวโน้มผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ เริ่มปลูกช่วงเม.ย.-พ.ค. นั้น คาดว่าจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง และน้ำทะเลหนุนทำให้พื้นที่ปลูกข้าวมีน้ำเค็มปน คาดว่า มาตรการที่ชัดเจนของเวียดนามน่าจะได้ข้อสรุปช่วง พ.ค. นี้

ด้านกัมพูชา และเมียนมา ที่ห้ามการส่งออกแล้ว ด้วยเหตุผลเดียวกัน ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อ พบว่า ฟิลิปปินส์ มีแผนจะซื้อข้าวเพิ่มเพื่อสต็อกในประเทศ หลังหลายประเทศมีแนวโน้มส่งออกลดลง ส่วนฮ่องกงก็มีหนังสือถามมายังไทยว่ายืนยันมาตรการส่งออกเหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งได้แจ้งกลับไม่ว่ายังไม่การเปลี่ยนแปลงใดๆในขณะนี้

  

  • เอกชนชี้ยังไม่จำเป็นคุมส่งออก

“ได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ในเบื้องต้นว่า ควรจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ก่อนกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาสมดุลการส่งออก และการบริโภคข้าวในประเทศ โดยสามารถพิจารณาจากปริมาณการส่งออก ซึ่งหาก เม.ย. - พ.ค. ส่งออกข้าวได้ถึง 9 แสนตันเมื่อใด ก็ควรเร่งกำหนดมาตรการได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องออกมาตรการ เพราะไทยมีการส่งออกเฉลี่ยที่ เดือนละ 6 แสนตันเท่านั้น"

ส่วนราคาข้าวในตลาดโลก มีแนวโน้มสูงถึงพันดอลลาร์ต่อตัน เป็นการปรับตัวสูงขึ้นเหมือนปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติพลังงาน แต่ปัจจุบันราคาที่สูงขึ้นมาจากปัจจัยโควิดและภัยแล้ง ขณะที่ราคข้าวเปลือกในประเทศสูงมากกว่าตันละ 1 หมื่นบาท แล้ว 

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาส่งออกข้าวของไทยปรับเพิ่มขึ้นกว่า 71 ดอลลาร์ต่อตัน เป็นอัตราปรับขึ้นที่สูงมาก อีกทั้งยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มกว่านี้ จากปัจจัยภัยแล้ง และโควิด

 โดยภัยแล้งได้ส่งผลให้เวียดนามประกาศชะลอการส่งออกข้าว และอินเดียที่คาดว่าจะไม่ส่งออกเช่นกัน เพราะสต็อกที่มีอยู่ในขณะนี้ 29.5 ล้านตัน ถือว่าเป็นอัตราส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของประชากร

ส่วนประเทศผู้ส่งออกหลักที่เหลืออย่างไทย พม่า กัมพูชา คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกัน โดยไทยคาดว่าการผลิตปี 2563/64 นั้นจะได้ผลผลิตเพียง 27 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 16-17 ล้านตันข้าวสาร จำนวนนี้จะใช้เพื่อบริโภคภายในประเทศ ประมาณ 10 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก

  • คาดราคาข้าวเพิ่มอีก 20-30%

เมื่อปริมาณที่ผลิตได้ ไม่สอดคล้องกับความต้องการ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าราคาข้าวในปีนี้ จะปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน หากสถานการณ์โควิดยังไม่สิ้นสุดในช่วง 2-3 เดือนนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะสถานการณ์โดยรวมจะผลักให้ราคาข้าวในช่วงนี้เพิ่มขึ้นอีก 20-30 %

อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของราคาข้าว จะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2551 ที่ราคาข้าวเปลือก15 % พุ่งสูงจากตันละ 7,500 เป็น 14,000บาท ทั้งนี้เพราะปัจจุบันจีนที่มีสต็อกข้าวอยู่ 115 ล้านตันนั้นคาดว่าจะไม่ระบายอีกแล้ว เพราะกังวลเรื่องภัยแล้งและโควิด

158609429916

“การประกาศชะลอการส่งออกของเวียดนามนั้นเป็นจุดช็อก ทำให้ราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้นแรงมาก ทั้งข้าวไทยและของเวียดนามเอง ยิ่งกระแสโควิดที่อาจลากยาวไปถึงสิ้นปี ทำให้ดับบลิวทีโอ เกิดความกังวลว่า ประเทศผู้ผลิตจะเกิดการกักตุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก ทั้งหมดจึงต้องจับตามองว่าในช่วงฤดูฝนปีนี้ ฝนจะกระจาย ให้สามารถทำนาได้ทั่วทั้งประเทศหรือไม่ หากทำได้ทั้งประเทศ ภาวะราคาข้าวจะเพิ่มขึ้นแต่อาจไม่แรงมาก”

  • ไทยพร้อมส่งออกอาหารป้อนโลก

ายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า จากที่โควิดระบาด ทำให้ร้านค้า ร้านอาหารทั้งรายเล็กรายย่อย ต้องปิด การท่องเที่ยวหายไป 100 % ทั้งหมดทำให้ไก่ล้นตลาด การส่งออกที่รับออเดอร์ไตรมาส 1-2 ได้ส่งไปหมดแล้ว ขณะนี้ เป็นช่วงรับออเดอร์ไตรมาส 3 ซึ่งจีนและสิงคโปร์ ยังมีออเดอร์เข้ามาบ้าง

หลังสถานการณ์โควิดในประเทศเหล่านั้นเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีตลาดสหภาพยุโรปหรืออียูกำลังเริ่มระบาด ญี่ปุ่นยังไม่คลีคลาย โดยญี่ปุ่นนั้นการท่องเที่ยวหายไป 100% เช่นกัน ดังนั้นการบริโภคไก่ภายในประเทศ น่าจะลดลง

“ผู้ประกอบการไก่ของไทยยังไม่ปรับลดการผลิต และพร้อมส่งออกอยู่ตลอดเวลา รอเพียงออเดอร์ที่เข้ามาเท่านั้น แต่หากโรคระบาดยังไม่คลี่คลายช่วง 2 เดือนนี้ ผู้เลี้ยงของไทยอาจต้องปรับตัว ลดกำลังการผลิตให้สอดคล้องความต้องการตลาด “

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การระบาดของโควิด 19 ยังไม่รุนแรงถึงขั้นทั่วโลกต้องกักตุนสินค้า การที่ดับเบิลยูทีโอออกประกาศดังกล่าวอาจเป็นการปรามไว้ เพราะเป็นความกังวลขั้นต้น หลังมีหลายประเทศผู้ผลิตข้าวออกนโยบายปีนี้จะไม่ส่งออก แต่เป็นเพราะเกิดภัยแล้ง ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้วที่ทุกประเทศจะต้องพิจารณาความต้องการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก เมื่อเหลือแล้วจึงส่งออก