หุ้นกลุ่มน้ำมันพักฐาน รอลุ้นผลประชุมโอเปก
ราคาหุ้นกลุ่มน้ำมันแห่ปรับตัวลดลง หลังรอลุ้นผลประชุมโอเปกพลัสลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง ด้านโบรกฯ ประเมินผลประชุม 2 แนวทาง คาดหากปรับลดมากกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวันหนุนราคาน้ำมันโลกดีดตัวขึ้นต่อ แต่หากล้มเหลวราคาน้ำมันส่อดิ่งลงแรงลงระดับ 20-25 ดอลลาร
วันนี้(9 เม.ย.2563) พบความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในกลุ่มธุรกิจน้ำมันปรับตัวผันผวนอย่างหนัก หลังเปิดตลาดภาคเช้ามีแรงซื้อเข้ามาจนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า ก่อนที่เปิดตลาดภาคบ่ายจะมีแรงเทขายออกมาจนทำให้ปิดตลาดต่างปรับตัวในแดนลบ นำโดยบมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ลดลง 3.63% มาอยู่ที่ระดับ 79.75 บาท หรือลดลง 3.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2,712 ล้านบาท,บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ลดลง 2.80% มาอยู่ที่ระดับ 34.75 บาท หรือลดลง 1.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,297 ล้านบาท,บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ลดลง 2.74% มาอยู่ที่ระดับ 35.50 บาท หรือลดลง 1.00 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,218ล้านบาท,บมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย) (ESSO) ลดลง 0.81% มาอยู่ที่ระดับ 4.92 บาท หรือลดลง 0.04 บาท มูลค่าการซื้อขาย 113 ล้านบาท และบมจ. ปตท. (PTT) ลดลง 0.69% มาอยู่ที่ระดับ 35.75 บาท หรือลดลง 0.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 5,695 ล้านบาท
นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่าคาดว่าราคาหุ้นกลุ่มพลังงานและธุรกิจน้ำมันที่ปรับตัวผันผวนแรงนั้น น่าจะเป็นผลมาจากเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนเพื่อลุ้นผลประชุมประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปกพลัสในคืนนี้ หลังก่อนหน้านี้พบว่าประเทศรัสเซียออกมาระบุว่ายินดีที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงราว 15% ของกำลังการผลิตรวม ซึ่งมากกว่าเดิมที่เคยออกมาระบุว่าจะลดลงเพียง 10% จึงทำให้ตลาดตอบรับเชิงบวกไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ประเมินว่าผลของการประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศรัสเซียนั้นมีอยู่จำนวน 2 แนวทาง ได้แก่ 1.มีการตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันรวมกัน และ2.ที่ประชุมไม่สามารถตกลงการปรับลดกำลังการผลิตกันได้ ซึ่งในส่วนของฝ่ายวิจัยนั้นให้น้ำหนักว่าจะมีการปรับลดกำลังการผลิตลง เพราะปัจจุบันกลุ่มโรงกลั่นเริ่มมีการหยุดซื้อน้ำมันดิบแล้ว เนื่องจากความต้องการที่หายไปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบอาจต้องยอมลดกำลังการผลิตตามไปด้วย ประกอบกับปัจจุบันผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำก็ส่งผลให้กำลังการผลิตของสหรัฐฯลดลงไปแล้วกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ขณะที่ประเด็นของสำคัญของการเจรจากันครั้งนี้คือจะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งหากมีการปรับลดมากกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน เชื่อว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้ โดยเฉพาะหากปรับลดมากถึงระดับ 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน เชื่อว่าจะดันราคาน้ำมันขึ้นไปแตะ 40 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 33-34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หากปรับลดน้อยกว่าระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็อาจไม่ช่วยให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นได้ เพราะกำลังการผลิตยังล้นตลาดอยู่
อย่างไรก็ตามหากที่ประชุมไม่สามารถตกลงกันได้ เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะดิ่งลงไปอยู่ที่ระดับ 20-25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ และราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานและกลุ่มน้ำมันอาจถูกแรงเทขายออกมาอีกระลอก โดยมีโอกาสปรับตัวลดลงถึงระดับ 30% เพราะเป็นฐานเดิมจากการปรับตัวขึ้นมาในรอบก่อนหน้านี้
“ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานตอนนี้ตอบรับการประชุมโอเปกพลัสมาระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งหากผลประชุมไม่เป็นอย่างที่คาดก็อาจมีแรงเทขายทำกำไรออกมา แต่หากที่ประชุมมีมติลดกำลังการผลิตมากกว่าที่คาดราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวก็ถือว่าไม่แพงและมีโอกาสไปต่อได้”
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่าประเมินว่าการประชุมครั้งนี้จะมี 2 ทางเช่นกัน คือ1.ที่ประชุมตกลงลดกำลังการผลิต แต่รอดูว่าจะตัดลดกำลังการผลิตเท่าไหร่ ประเมิน ซึ่งหากมีการตัดลดการผลิต 0-10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็คาดว่ามีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นในช่วงสั้นและอาจจะถูกเทขายทำกำไรได้ เนื่องจากเกิดการ Sell on Fact และหากตัดลดการผลิตมากกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็คาดว่ามีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นต่อ แต่คาดจะไม่ได้ปรับขึ้นแรง
ขณะที่2.หากที่ประชุมไม่สามารถตกลงการปรับลดกำลังการผลิตกันได้ คาดจะกดดันต่อราคาน้ำมันดิบปรับฐานลง ซึ่งถือเป็นปัจจัยเชิงลบต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน พร้อมคำแนะนำในช่วงสั้นให้รอการเจรจาของกลุ่มโอเปกพลัสที่อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบผันผวน และราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานได้ปรับเพิ่มขึ้นมาได้ตอบรับราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นก่อนหน้านี้ไปแล้ว จึงแนะนำทยอยเข้าลงทุนเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัวจะปลอดภัยกว่า