ทำอย่างไร ไม่ให้มีประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง
นพ.เฉลิมชัย ระบุ แม้สถานการณ์ไทยดีขึ้น จากมาตรการต่างๆ แต่ไม่สามารถเบาใจได้ จนกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เข้ารักษาในรพ. มีจำนวนน้อยกว่าเตียงว่าง ทรัพยากรเพียงพอ แนะรัฐค้นหาผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ควบคุมแพร่เชื้อ เลี่ยงเคอร์ฟิว 24 ชม.
นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ระบุว่า สถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ ต้องถือว่าอยู่ในระดับที่พอใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถวางใจได้ ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น ถ้าดูจากสถิติย้อนหลังในช่วงเดือนแรก เรามีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย แต่อัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูง คือเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 4 วัน แต่สังคมยังไม่ค่อยตระหนักหรือให้ความสนใจเพราะแม้มีอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อค่อนข้างจะสูง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนัก คือ ไม่ถึง 100 คน
ในช่วงเดือนที่ 2 เราสามารถคุมการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อได้ค่อนข้างดี คือ มีอัตราการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าใช้เวลา 32 วัน ดีกว่าในเดือนแรกมากทีเดียว
ในช่วงเดือนที่ 3 เมื่อเกิดเหตุการณ์ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน 2 เหตุการณ์ คือ กรณีสนามมวยลุมพินี และกรณีสถานบันเทิงยามราตรี ทำให้สถานการณ์โรคของเรากลับมาแย่
เท่ากับเดือนแรก คือ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 4 วัน อีกครั้ง และเริ่มมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น
สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน รัฐได้ออกมาตรการต่างๆ จากเข้มข้นน้อย โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจ ขอความร่วมมือ จนมาตรการบังคับใช้กฎหมายออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ซึ่งมีการห้ามออกจากบ้านช่วง 22.00-04.00 น. เป็นหนึ่งในมาตรการต่างๆ) ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อเพิ่มรายใหม่เป็น 2 เท่าดีขึ้นมาก เป็นเพิ่มทุก 12 วัน (จากเดิมเพิ่มทุก 4 วัน)
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จะเบาใจได้ต่อเมื่อ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีอาการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จะต้องมีจำนวนน้อยกว่าเตียงที่ว่างลงจากมีผู้ป่วยที่รักษาหายและได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ เพื่อให้เรามีเตียงว่างมากพอที่จะดูแลผู้ป่วยรายใหม่ อันหมายรวมถึงมีเครื่องไม้เครื่องมือและบุคลากรที่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ ความโกลาหลของผู้ป่วยล้นเตียง อัตราการเสียชีวิตที่จะพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจะได้ไม่เกิดขึ้น เช่น ในกรณีที่เกิดกับ อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส
เมื่อใดก็ตามที่ประเทศไม่สามารถคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมมีจำนวนมากกว่าเตียงและบุคลากรที่จะรองรับได้ ประเทศนั้นก็จะไม่มีทางเลือก ต้องใช้มาตรการเข้มข้นสูงสุด คือ ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ซึ่งมีความหมายเดียวกับการปิดบ้าน (ห้ามทุกคนออกจากบ้าน แบบเมืองอู่ฮั่น)
ดังนั้น วิธีการใดก็ตามที่เราสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างรวดเร็วได้ ก็จะทำให้รัฐไม่ต้องประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่มีรัฐบาลประเทศไหนต้องการทำ ยกเว้นจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงต้องมาดูว่า อะไรยังคงทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ไปออกมาตรการย่อยแก้ไปทีละประเด็น
1) ผู้ติดเชื้อรายใหม่ มาจากต่างประเทศ กรณีเป็นคนต่างชาติก็ห้ามเดินทาง กรณีเป็นคนไทยก็ปรับมาตรการให้เข้มข้น คือ เดิมให้กักตัวอยู่ในบ้าน (Home Quarantine) มาเป็นการกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด (State Quarantine)
2) กรณียังมีผู้ออกจากบ้านโดยไม่จำเป็นจริง ก็ออกมาตรการเคอร์ฟิวบางช่วงบางเวลา ร่วมกับการบังคับใช้และทำความเข้าใจไปด้วย
3) กรณีมีผู้ติดเชื้อที่แพร่โรคได้แต่ไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อจึงไม่รู้ตัว แต่ทำหน้าที่พบปะผู้คนจำนวนมาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ทำงานในร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารตามสั่ง ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับส่งสินค้าและอาหารเป็นต้น รัฐก็ต้องทำการตรวจคัดกรองคนเหล่านี้ทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ โดยการออกมาตรการเชิงรุก คือ ไม่คิดค่าใช้จ่ายในการตรวจ ออกไปตรวจถึงชุมชนที่อยู่ของประชาชนเช่นเดียวกับประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อกักตัวผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ไม่ให้ออกไปทำงานแล้วแพร่เชื้อ โดยรัฐออกมาตรการเยียวยาจ่ายค่าชดเชยหรือค่าตอบแทนให้คนเหล่านี้ขณะที่ต้องหยุดงานมากักตัวไว้
อุปสรรคที่สำคัญของประเทศไทย ในการตรวจคัดกรองอย่างกว้างขวางเชิกรุก ได้แก่ ความเห็นต่างของผู้เกี่ยวข้อง ระหว่างการทดสอบหาเชื้อไวรัสโดยตรง ซึ่งตรวจได้น้อยราย ค่าใช้จ่ายสูง แต่มีความแม่นยำมาก กับการทดสอบหาภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส ซึ่งตรวจสอบได้มากราย สะดวก ค่าใช้จ่ายต่ำ มีความแม่นยำปานกลาง ว่ารัฐควรเลือกวิธีตรวจคัดกรองอย่างไร
"ถ้าประเทศไทยตัดสินใจเลือกการตรวจหาผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มที่กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ให้ครอบคลุมประชาชนที่ทำงานสัมผัสกับผู้คนจำนวนมากแม้จะไม่ปรากฎประวัติความเสี่ยงที่ชัดเจน ก็จะทำให้สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการได้จำนวนมากพอที่จะควบคุมการแพร่เชื้อได้สำเร็จ ทำให้รัฐไม่ต้องประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง" นายแพทย์เฉลิมชัย ระบุ