'เศรษฐกิจปี 63' เมื่อวันนี้ 'ไม่มีความเชื่อมั่น'
ผลกระทบจากโควิด -19 กำลังขยายวงกว้างออกไป ซึ่งสิ่งที่โควิดทิ้งไว้ไม่ใช่แค่จำนวนผู้ติดเชื้อ แต่คือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ประเมินว่าปี 2563 น่าจะอยู่ในขั้นวิกฤติ
ผลกระทบจากโควิด -19 กำลังขยายวงกว้างออกไป ซึ่งสิ่งที่โควิดทิ้งไว้ไม่ใช่แค่จำนวนผู้ติดเชื้อ แต่คือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ประเมินว่าปี 2563 น่าจะอยู่ในขั้นวิกฤติ แม้จะมีการประเมินว่าครึ่งปีหลังจากคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น แต่ในเชิงความรู้สึก ว่าด้วยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจ แบ่งตลาดสาขาอาชีพ และพื้นที่ก็จะพบว่า กลุ่มพนักงานเอกชนถือว่าระส่ำระสายมากที่สุด และไม่เว้นแม้แต่อาชีพพนักงานของรัฐด้วย
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำการสํารวจข้อมูลจากผู้บริโภคจํานวน 8,122 คน ในทุกอําเภอทั่วประเทศ (884 อําเภอ/เขต) แยกเป็น 7 กลุ่มอาชีพ ตามโครงสร้างอาชีพประชากรในแต่ละจังหวัด พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ37.5 จากระดับ 43.1 ในเดือนก่อนหน้าต่ำสุดในรอบ 15 เดือน เป็นการลดลงของทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันที่ลดลงจากระดับ 38.2 มาอยู่ที่ระดับ 32.7 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตที่ลดลงจากระดับ 46.4 มาอยู่ที่ระดับ 40.7
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ในเดือนนี้ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งลดลงในทุกภูมิภาคและทุกอาชีพ โดยมีสาเหตุสำคัญจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีระดับความรุนแรงสูงกว่าเดือนก่อน ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมหลายด้านเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้รัฐบาลได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสออกมาเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบในบางส่วนได้
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจําแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าทุกอาชีพ โดยกลุ่มเกษตรกร ลดลงจากระดับ 44.3 เป็น 38.4 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 41.0 เป็น 34.1 กลุ่มผู้ประกอบการจากระดับ 43.5 เป็น 35.1 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 42.0 เป็น 34.5 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 47.7 เป็น 41.9กลุ่มนักศึกษา จากระดับ 41.3 เป็น 37.3 และกลุ่มไม่ได้ทํางาน จากระดับ 40.1 เป็น 36.2
เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มพนักงานเอกชน มีความเชื่อมั่นต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ เป็นครั้งแรก คาดว่าแนวโน้มการให้หยุดพักงาน การเลิกจ้างงาน และการปิดกิจการ ที่มีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มพนักงานเอกชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากแนวโน้มดังกล่าวกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของพนักงานโดยตรง ส่วนพื้นที่ทีมีความเชื่อมั่นต่ำที่สุดคือ กรุงเทพ สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเป็นศูนย์กลางของการระบาดโควิด-19
สอดคล้องกับผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมี.ค. 2563 จัดทำโดย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากการสอบถามตัวอย่างจากประชาชน ทั่วประเทศเป็นจำนวน 2,250 คน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการโดยส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 258 เดือนหรือ 21 ปี 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2542 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม มี.ค. เท่ากับ 52.5 ลดลงจากก.พ. ซึ่งอยู่ที่ 41.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม เท่ากับ 49.3ลดลงจาก 61.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เท่ากับ59.9 ลดลงจาก 80.4
ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เนื่องจากการปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละรายการปรับตัวลดลงมากกว่า 10 จุดภายในเดือนเดียวเนื่องจากความกังวลในวิกฤติ COVID19 ทั่วโลก
การปรับตัวลดลงอย่างมากภายในเดือนเดียวทุกรายการเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอด 21 ปี 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2542 ที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมา
การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 6 เดือน โดยลดลงอย่างมากจากระดับ 64.8 เป็น 50.3
“คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะยังคงปรับตัวลดลต่อเนื่องต่อไปในอนาคตจนกว่าสถานการณ์ COVID19 จะคลายตัวลง ดังนั้นคาดว่าผู้บริโภคจะชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไป”รายงานระบุ
ที่สุดแล้ว สันชาตญาณมนุษย์ ว่าด้วยการอยู่รอด “Survival” จะตอบเราทุกคนเองว่า ถึงเวลาที่จะเร่งจบปัญหาโควิด หรือ ปล่อยให้โควิดจบเศรษฐกิจประเทศเราในที่สุด