'วิกฤติใหญ่' ยังรออยู่ หลัง 'โควิด-19' สงบ
หลังวิกฤติโควิดยังมีวิกฤติที่ใหญ่กว่ารออยู่ คือวิกฤติจากแกนของเศรษฐกิจโลก ที่มุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มใบ ผู้คนคุ้นชินกับสังคมระยะห่าง เทคโนโลยี หรืออีคอมเมิรซ์ ที่แทบไม่มีผู้ประกอบการไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แล้วอนาคตไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป
นักธุรกิจระดับ “บิ๊กเนม” ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ได้ก่อเกิด “วิกฤติเศรษฐกิจ” ลูกใหม่ขึ้นมา เป็นวิกฤติที่มีความรุนแรงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 หรือ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เพราะวิกฤติคราวนี้ส่งผลกระทบ “หนักหน่วง” ต่อผู้คนในทุกระดับ ไล่ตั้งแต่ “แรงงานกลุ่มล่าง” ไปยัง “นักธุรกิจกลุ่มบน” ที่สำคัญยังส่งผลกระทบเป็น “วงกว้าง” ในลักษณะเดียวกันนี้กับ “ทุกประเทศ” ทั่วโลก
ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤติคราวนี้จะจบลงเมื่อไหร่และจบลงอย่างไร เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากทั่วโลกยังคงพุ่งทะยานอย่างไม่มีเหนื่อย หลายคนคาดหวังว่าความรุนแรงจากวิกฤติครั้งนี้จะถูก “บรรเทา” ผ่านมาตรการต่างๆ จากทั้ง “ภาครัฐ” และ “ธนาคารกลาง” ของแต่ละประเทศ ที่ทุ่มสรรพกำลังอย่างเต็มที่ในการอัดฉีด “เม็ดเงิน” และ “มาตรการ” ต่างๆ มาดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ...ในส่วนของ “ไทย” มาตรการที่ “รัฐบาล” และ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือ “แบงก์ชาติ” นำมาใช้ ถือว่าทำได้เร็วและทันท่วงที หลายคนเริ่มมีความหวังว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในคราวนี้จะ “ไม่ซึมลึก” เหมือนวิกฤติปี 2540
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้น “ยังไม่จบ” และไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ นี่คือ “ตัวแปรสำคัญ” ที่ “ชี้อนาคต” เศรษฐกิจไทยว่า จะบาดเจ็บสาหัสจากวิกฤตินี้เพียงใด ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ หลังวิกฤติโควิด ยังมี “วิกฤติที่ใหญ่กว่า” รออยู่ข้างหน้า นั่นคือ วิกฤติจาก “แกน” ของ “เศรษฐกิจโลก” ที่ถูก “เหวี่ยง” เข้าสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” อย่างเต็มใบ หลังโควิดสงบผู้คนจะคุ้นชินกับ “สังคมระยะห่าง” หรือ Social Distancing กันมากขึ้น แม้แต่ในวัยอาวุโส ที่ไม่คุ้นเคยกับโลกของเทคโนโลยีมาก่อน ก็จะสามารถ “ช้อปปิ้ง” ผ่าน “โลกออนไลน์” ได้อย่างไม่มีเคอะเขิน ออฟฟิศ สำนักงานต่างๆ จะถูกลดไซด์ลง ผู้คนจะคุ้นเคยกับการทำงานที่บ้าน ซึ่งดูจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะสามารถเปลี่ยนเวลาเดินทางจาก 1-2 ชั่วโมง ผลิตงานออกมาได้มากขึ้น
หันมาดู “กิจกรรม” เศรษฐกิจในบ้านเรา “ก่อนเกิด” วิกฤติโควิด เราแข่งกันสร้างศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ในรูปของ “มิกซ์ยูส” จำนวนมาก ข้อมูลของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ระบุว่า ในช่วง 3 ปีนี้ (2563-2566) จะมีมิกซ์ยูสราว 9 แสนตารางเมตร “เกิดขึ้นใหม่” ในจำนวนนี้ เป็นพื้นที่ “ค้าปลีก” ราว 22% ถัดมา คือ พื้นที่สำนักงานอีก 19% ...พื้นที่ทั้ง 2 ส่วนนี้ แต่เดิมก็มีปัญหา “อุปทาน” ที่สูงเกินพอดีอยู่แล้ว ยิ่งโลกยุคหลังโควิด พฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป จะยิ่งตอกย้ำถึงปัญหา “โอเวอร์ซัพพลาย” ในตลาดเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นโจทย์ท้าทายข้อแรก คือ เราจะจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไรไม่ให้กระทบเศรษฐกิจในภาพรวม
อีกโจทย์ใหญ่ที่น่าห่วงกว่า คือ “โลกหลังโควิด” ผู้คนจะคุ้นชินกับการสั่งสินค้าออนไลน์ ทำให้โลก “อีคอมเมิรซ์” ซึ่งเฟื่องฟูอยู่แล้วบูมหนักมากขึ้น แต่ถ้าดู “แพลตฟอร์ม” การให้บริการต่างๆ ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ยัน “ปลายน้ำ” แทบไม่มีผู้ประกอบการไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเลยในธุรกิจเหล่านี้เลย ไม่ว่าจะเป็น “มาร์เก็ตเพลส” ซึ่งก็ถูกทั้ง “ลาซาด้า” และ “ชอปปี้” จากจีนช่วงชิงมาร์เก็ตแชร์ไปหมดแล้ว หรือด้าน “โลจิสติกส์” ก็ถูก “แกร็บ” ของมาเลเซีย “ไลน์แมน” จากเกาหลีใต้ และ “เก็ต” ของอินโดนีเซีย กวาดตลาดไปเรียบ ...แล้ว “ประเทศไทย” อยู่ส่วนไหนของโลกหลังโควิด นี่ถือเป็นโจทย์สำคัญที่เราทุกคนต้องช่วยกันคิด ไม่เช่นนั้นเราจะเป็นได้เพียง “ผู้ใช้บริการ” จากผู้ประกอบการเหล่านี้เท่านั้น!