"โควิด" จะยุติอย่างไร และประเทศต้องทำอะไร "ระหว่างรอเวลา"

"โควิด" จะยุติอย่างไร และประเทศต้องทำอะไร "ระหว่างรอเวลา"

นพ.เฉลิมชัย ระบุว่า โรคโควิด-19 จะยุติได้ มี 3 รูปแบบ คือ ค้นพบวัคซีน หรือติดเชื้อจนคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน หรือไวรัสก่อโรคหายสาปสูญไปจากโลก ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ทางเลือกยุติโรค คือ ใช้ยาแรง ใช้ยาปานกลาง หรือยาลูกผสม

จากบทความ ความรู้เรื่อง COVID-19 โดย นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ระบุว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงเดินหน้าต่อไปไม่หยุด มีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อวัน 4.02% ยอดผู้ติดเชื้อ 1.8 ล้านคน อัตราผู้เสียชีวิต 6.17% จำนวน 1.13 แสนคน ประเทศต่างๆ ได้ทำทุกวิถีทาง ทุ่มเททรัพยากรทุกอย่าง ขอความร่วมมือจากประชาชนด้วยมาตรการต่างๆ โดยมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคนมากบ้างน้อยบ้าง แต่ดูเหมือนทุกคนจะมีคำถามเดียวกัน อยู่ในใจว่า เมื่อไรโรคจะยุติ? อยากทราบคำตอบที่ชัดเจน เพื่อจะได้วางแผนชีวิตได้อย่างถูกต้อง จะได้เตรียมตัวเตรียมใจว่าจะต้องอดทน มีวินัยและคิดบวกไปอีกนานเท่าใด วันนี้เราจะมาลองตอบคำถามนี้ดู โดยใช้ทั้งองค์ความรู้เดิมบวกกับความรู้และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจากไวรัสใหม่ตัวนี้กัน

  • โรคระบาดจะยุติการระบาดลงได้ มีเพียง 3 รูปแบบเท่านั้น


1. ค้นพบวัคซีน แล้วฉีดวัคซีนให้กับประชากรโลกทุกคน (หรือส่วนใหญ่)


2. ติดเชื้อจนคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน หรือเกิดภูมิคุ้มกันหมู่


3. ไวรัสก่อโรคหายสาปสูญไปจากโลก อาจจะโดยการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ หรือเหตุอื่นที่มนุษย์คาดไม่ถึง


แล้วทั้ง 3 รูปแบบนี้ จะเกิดขึ้นได้เมื่อไรบ้าง คงตอบว่าไม่น่าจะเร็วกว่า 12 เดือน อาจใช้เวลาหลายปีก็เป็นได้ แล้วถ้าทั้ง 3 รูปแบบยังไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ มนุษย์เราจะทำอย่างไร เราจะดำรงชีวิตอยู่อย่างไร จะเรียนหนังสือ จะทำมาหากิน จะไปมาหาสู่กันได้อย่างไร คำตอบก็คือ แต่ละประเทศต้องทำให้การระบาดของโลกสงบลงชั่วคราว ด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องขนาดของประเทศ จำนวนประชากร สภาพภูมิอากาศ วินัย ความรู้ความเข้าใจ ความพร้อมของระบบสาธารณสุข อาชีพ-รายได้-เงินออมของคนในชาติ ระบบสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง

"ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมากหรือไม่มีเลย (แต่อาจมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ) จนประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้บ้าง แต่คงไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้ทั้งหมด เช่น คงจะเดินทางไปมาระหว่างประเทศลำบาก ไม่ว่าจะไปทำงานหรือไปท่องเที่ยว การติดต่อต่างๆ ภายในประเทศต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่อีก เพราะยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่และมีผู้ติดเชื้อ ที่ไม่มีอาการแต่พร้อมจะแพร่เชื้ออีกด้วย"


รอให้เกิดการยุติแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งใน 3 รูปแบบ ดังกล่าวข้างต้น หากโชคดีมีการคิดค้นยารักษาโรคได้ ก็จะทำให้การดำเนินชีวิตกิจวัตรประจำวัน ของมนุษย์มีความผ่อนคลายมากขึ้น แต่ไม่สามารถทำได้เต็มที่เหมือนการยุติแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะยาไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ เพียงแต่ลดความรุนแรงหรือลดอัตราการเสียชีวิตลงเท่านั้น

158687810020



  • “ประเทศต้องทำอะไรบ้าง ระหว่างซื้อเวลาให้โรคยุติการระบาด”

นพ.เฉลิมชัย อธิบายต่อไปว่า จะเห็นได้ชัดเจนว่าทุกประเทศอยู่บนเส้นทางเดียวกันทั้งสิ้น คือ เดินไปสู่จุดที่โรค COVID-19 ยุติการระบาด (ด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งใน 3 รูปแบบ) โดยระหว่างทางนั้นแต่ละประเทศมีทางเลือกในรายละเอียดอยู่พอสมควร ได้แก่

(1) การใช้ยาแรง ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนค่อนข้างมาก แต่คุมสถานการณ์ได้เร็ว (ประมาณ 2-3 เดือน) ตัวอย่างได้แก่ประเทศจีน

(2) การใช้ยาแรงปานกลาง คือ เร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อทั้งที่มีอาการและยังไม่มีอาการแต่มีประวัติเสี่ยง และแม้ประวัติไม่เสี่ยงชัดเจนในการไปสัมผัสโรคแต่มีความเสี่ยงที่อาจจะแพร่เชื้อไวรัสได้ เนื่องจากทำงานกับผู้คนจำนวนมากก็ต้องเร่งตรวจให้ครอบคลุมมากที่สุด แล้วนำมากักตัวด้วยวิธีต่างๆ ไม่ให้ออกไปแพร่เชื้อได้ ตัวอย่างได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรืออาจใช้วิธีห้ามออกจากบ้านเป็นบางระยะเวลา หรือบางเขตพื้นที่ เน้นการออกนอกบ้านให้น้อยลง เช่น ประเทศไทย เป็นต้น ก็จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมาได้ แต่อาจต้องใช้เวลานานกว่าวิธีใช้ยาแรง

(3) การใช้ยาแบบลูกผสม คือ ห้ามทำงาน ห้ามออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น แต่ห้าม 5 วัน/สัปดาห์ ปล่อยให้มาทำงานได้ 2 วัน/สัปดาห์ วิธีนี้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่รวดเร็วนัก ทำให้เศรษฐกิจจะพอไปได้ เช่น ประเทศอิสราเอล เป็นต้น

158687838644

นพ.เฉลิมชัย อธิบายว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่สงบลงด้วยวิธีการใดก็ตาม ล้วนเป็นการสงบชั่วคราวทั้งสิ้น เนื่องจากพลเมืองส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่พร้อมที่จะเกิดการระบาดรอบสองได้ตลอดเวลา ประเทศที่สงบแล้ว เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จึงยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ จนกว่าโรคจะยุติการระบาดโดยสมบูรณ์ ส่วนการเปิดให้เศรษฐกิจภายในแต่ละประเทศ (ที่สงบชั่วคราวแล้ว) ดำเนินต่อไปได้นั้น ต้องอาศัยฝีมือการคาดคะเนที่ยุ่งยากมาก ระหว่างความกังวลว่าเชื้อจะระบาดรอบใหม่กับภาวะเศรษฐกิจที่จะเสียหายอย่างรุนแรง ต้องมีดุลยภาพความพอเหมาะพอดี ถ้าเข้มเรื่องการควบคุมโรค เศรษฐกิจจะลำบาก ถ้าผ่อนคลายให้เศรษฐกิจพอไปได้ เกิดมีโรคระบาดรอบสอง ก็ต้องกลับมาออกมาตรการเข้มข้นให้โรคสงบชั่วคราวอีกรอบ ซึ่งก็จะกระทบเศรษฐกิจอีกครั้ง


"ตามประวัติศาสตร์ของโรคระบาด จะพบการระบาด 2-3 ระลอก ก่อนที่โรคจะยุติลง กลายเป็นโรคระบาดประจำถิ่นหรือประจำฤดูกาลต่อไปใช้เวลา 1-5 ปี แต่ถ้าโรคที่เกิดการค้นพบวัคซีน ค้นพบยารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูง หรือไวรัสกลายพันธุ์จนหมดความรุนแรง สถานการณ์ของโรค COVID-19 ก็จะเปลี่ยนแปลงยุติโดยรวดเร็ว และโลกเราก็จะกลับมาสบายใจได้ชั่วคราวระยะยาวอีกครั้ง (ไม่น่าจะเกิน 10 ปี ก็คงจะมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง)โลกนับจากนี้ไปจึงต้องมี มาตรฐานการดำเนินชีวิตใหม่ หรือ New Normal" นพ.เฉลิมชัย ระบุ