พลังอาเซียน พลังสู้โควิด-19
การที่เวทีประชุมสุดยอดอาเซียนและประชุมสุดยอดอาเซียน+3 สมัยพิเศษ เมื่อ 14 เม.ย.2563 ที่ได้ลงปฏิญญาร่วมมือกันต่อสู้กับโควิด-19 ครั้งนี้ ผ่านแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันที่ถูกเสนอออกมา 5 ข้อ จะเป็นพลังบวกที่จะสู้โควิด-19
การประชุมสุดยอดอาเซียนและประชุมสุดยอดอาเซียน+3 สมัยพิเศษ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (วิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์) ระหว่างผู้นำอาเซียน 10 ประเทศและผู้แทนจากประเทศอาเซียน+3 คือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา มีวาระสำคัญว่าด้วยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าร่วมในฐานะสมาชิกอาเซียน และยังเป็นผู้นำประเทศที่เพื่อนบ้านกำลังจับตามองหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ค่อนข้างต่ำ อัตราการเสียชีวิตไม่ถึง 2%
ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้นำข้อมูลโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) มาอ้างอิง ยูเอ็นดีพีระบุว่าภัยร้ายโควิด-19 จะกระทบประเทศกำลังพัฒนามากสุด คาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้กว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ หมายถึงหากรับมือไม่ดีพอ จะเกิดความสูญเสียมหาศาลด้านเศรษฐกิจ ประชาชนจะต้องเผชิญกับความเป็นอยู่อันแร้นแค้น ที่ประชุมซึ่งเห็นตรงกันว่าไม่มีประเทศใดสามารถต่อสู้กับภัยคุกคามนี้ได้โดยลำพัง จึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน 5 ข้อ
สาระโดยรวมคือ ลงนามความร่วมมือจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 อำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ การผ่านพิธีการศุลกากร และการค้าชายแดนระหว่างกัน สนับสนุนให้อาเซียนใช้เศรษฐกิจดิจิทัล การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่น่าสนใจที่ประชุมได้บรรจุให้กรณีศึกษา ถอดบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19 ให้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับการใช้ชีวิตในภายภาคหน้า หลังโควิด-19 หายไป
การรวมพลังระหว่างอาเซียนกับจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง เป็นการตระหนักถึงภยันตรายของโควิด-19 ถือเป็นมิติใหม่ในการร่วมมือร่วมใจทำงานของผู้นำทุกประเทศ อย่างน้อยมีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนจะเป็นความหวังได้มากน้อยแค่ไหนต้องรอเวลา เราเห็นว่าการยอมรับว่าการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวกับโรคระบาดใหม่อย่างโควิด-19 เป็นเรื่องยากยิ่ง การเป็นโรคติดต่อถึงกันโดยไม่มีกำแพงกั้น ตราบใดที่ยังคงมีการติดต่อ การเดินทาง ยิ่งท้าทาย
เราเห็นความสำคัญและเห็นว่าการทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) มีประสิทธิภาพ การทำหน้าที่ของ น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะกระบอกเสียง มีความพยายามตอกย้ำไม่ให้คนไทยชะล่าใจ ไม่ประมาท ตระหนักกับตัวเลขติดเชื้อของประเทศอื่นๆ เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมมีผลต่อการทำงานและทิศทางนโยบายในประเทศ การที่เวทีประชุมสุดยอดอาเซียนและประชุมสุดยอดอาเซียน+3 สมัยพิเศษ ได้ลงปฏิญญาร่วมมือกันต่อสู้กับโควิด-19 ครั้งนี้ จึงเป็นพลังบวก อย่างมิต้องสงสัย