'กลินท์' ยื่นแผนผ่อนปรนเปิดธุรกิจ เสนอแบ่งพื้นที่ 3 โซน
นายกฯ ส่งสัญญาณผ่อนมาตรการคุมโควิด เคาะสัปดาห์สุดท้าย เม.ย.นี้ แนะทุกกิจการเตรียมพร้อม “กลินท์” ชงขีดวง 3 พื้นที่เปิด-ปิดธุรกิจ เสนอ สศช. 20 เม.ย.นี้
การควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย.2563 ซึ่งที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจประกาศปิดพื้นที่และควบคุมการเปิดกิจการต่างๆ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 เม.ย.2563 ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า น่ายินดีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทยอยลดลงช่วงหลายวันที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดให้รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.พิจารณาด้วยหลักเกณฑ์และหลักการทางด้านสาธารณสุขอีกครั้ง ว่าจะผ่อนปรนอะไรได้บ้างหรือไม่ แต่ในช่วงนี้ต้องขอเวลาอีกระยะ เพราะต้องระวังและยังมีความเสี่ยงสูงในการมาชุมนุมหรือรวมตัวกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลจะประเมินอีกครั้งในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย.นี้ ระหว่างนี้กำลังหามาตรการที่เหมาะสมที่สุด และถ้าหากผ่อนปรนเหล่านี้ค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่ทีเดียวทั้งหมด เพราะบางพื้นที่ระบาดอยู่ โดยเฉพาะภาคกลาง กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคใต้ จึงต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้มาระบาดใหม่ทุกมิติ
“ทุกกิจการต้องเตรียมพร้อมไว้ด้วย ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความพร้อมอย่างไรเมื่อจะเปิด และถ้าเปิดจะมีมาตรการดูแลอย่างไร เช่น การใช้แอลกอฮอล์ การตรวจเข้าออก และปริมาณคนที่เข้ามาในพื้นที่ในหลายกิจการ”
สำหรับวันที่ 30 เม.ย.นี้ จะครบวันประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะต่ออายุหรือขยายมาตรการเคอร์ฟิวหรือไม่อยู่ในการประเมินของ ศบค.ที่จะต้องไปคิดวิเคราะห์ และชั่งน้ำหนักหลายด้าน แม้สถานการณ์แนวโน้มขณะนี้จะลดลงบ้าง ซึ่งอาจหมายความว่าป้องกันได้ดีแต่หากขาดความร่วมมือแล้วหย่อนความเข้มงวดไป โรคระบาดจะกลับมาโจมตีได้อีก
“กลินท์”ชงแบ่ง3พื้นที่เปิดธุรกิจ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ เปิดกับ "กรุงเทพธุรกิจ" เผยว่า คณะทำงานฯ กำลังพิจารณาข้อเสนอให้บางธุรกิจหรือบางกิจการเปิดกิจการได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบสภาพคล่องและการจ้างงาน โดยวางแนวทาง 2 มติ คือ 1.กำหนดพื้นที่ที่จะเปิด 2.ธุรกิจหรือกิจการที่เปิด
ทั้งนี้ การกำหนดพื้นที่เบื้องต้นแบ่งเป็น 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่สีเขียว เป็นจังหวัดที่ไม่แพร่ระบาดและไม่มีผู้ติดเชื้อ 2.พื้นที่สีเหลือง เป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่มาก 3.พื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
สำหรับพื้นที่ใดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอาจจะไม่พิจารณาให้เปิดธุรกิจ เพราะมีความเสี่ยงสูงในการระบาดเพิ่มขึ้น ส่วนพื้นที่ที่ระบาดน้อยจะพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และพิจารณาว่าจะเปิดธุรกิจประเภทใดได้บ้าง ทั้งนี้การกำหนดพื้นที่ดังกล่าวจะยึดข้อมูลจากศูนย์ ศบค.เป็นหลัก
นอกจากนี้ จังหวัดที่เปิดบริการธุรกิจบางประเภทจะกำหนดให้โหลดแอปพลิเคชั่น”หมอชนะ” ซึ่งเป็นระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้บริการตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่างๆด้วยตัวเอง ซึ่งมุ่งประสิทธิผลในการคัดกรองความเสี่ยง
เน้นมาตรการควบคุมระบาด
นายกลินท์ กล่าวว่า ธุรกิจหรือกิจการที่เสนอเปิดได้นั้น คณะทำงานได้วางหลักเกณฑ์เบื้องต้นว่า ต้องบริหารจัดการควบคุมการระบาดได้มีประสิทธิภาพ มีการบริหารพื้นที่เพื่อสร้างระยะห่างได้ โดยกรณีศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าต้องควบคุมจำนวนผู้เข้าไปใช้บริการได้ มีอุปกรณ์ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์ล้างมือ เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย
ส่วนร้านอาหารบางประเภทที่จะเปิดได้ต้องจัดโต๊ะและเก้าอี้ให้มีระยะห่าง ควบคุมจำนวนคนที่จะเข้าไปทานอาหารในร้าน กำหนดเวลารับประทานอาหาร รวมทั้งผู้ปรุงอาหารและบริกรต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน ในขณะที่ธุรกิจที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากและหนาแน่นคงต้องปิดไปก่อนเพื่อป้องกันการระบาด เช่น สนามมวย สนามกีฬา
“ธุรกิจที่จะเปิดต้องมีความเสี่ยงต่ำในการทำให้ติดเชื้อและมีมาตรการควบคุมได้เป็นสำคัญ ธุรกิจใดที่เสี่ยงขอให้ชะลอเปิดไปก่อน โดยจะเสนอคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นปนะธาน (สศช.) ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ม.ย.นี้
ส.อ.ท.หนุนจำกัดเปิดกิจการ
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากรัฐบาลเลือกเปิดเป็นกลุ่มธุรกิจจะยิ่งทำให้การระบาดเพิ่มขึ้นและควบคุมได้ยาก จึงควรจะกำหนดพื้นที่เปิดเป็นจังหวัดแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เขียว เหลือและแดง
โดยให้จังหวัดสีเขียวที่ไม่มีการระบาดได้เปิดกิจการก่อน แต่ต้องกำหนดกติกาที่เข้มงวด เช่น ห้างต้องคำนวณพื้นที่ในห้างให้มีระยะหางระหว่างบุคคล 5 ตารางเมตรต่อคน จะได้จำนวนผู้ใช้บริการต่อวัน และต้องควบคุมให้ทุกคนใส่หน้ากาก และมีเจลแอลกอฮอล์ให้บริการอย่างทั่วถึง และหากระบาดเพิ่มขึ้นต้องปิดกิจการ
สำหรับมาตรการนี้จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ประกอบการในจังหวัดมากขึ้น เพื่อช่วยให้เปิดกิจการได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดแข่งขันให้เป็นพื้นที่สีเขียวและจะทำให้การควบคุมระดับประเทศดีขึ้น