Market Place ชาวมหา'ลัย กระตุ้นเศรษฐกิจยุคโควิด-19
ผลกระทบของโควิด – 19 ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ในระหว่างที่ทุกคน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และประชาชนบางส่วนขาดรายได้ แพลตฟอร์มออนไลน์ จึงกลายเป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ค้าและผู้ซื้อมาเจอกันได้อย่างง่ายที่สุด
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้มีการสร้างคอมมูนิตี้ เพื่อเป็นพื้นที่ในการหาสินค้าและบริการที่ต้องการ ให้แก่นิสิต นักศึกษาปัจจุบัน ศิษย์เก่า รวมถึงบุคลากร ได้มีพื้นที่หารายได้ในภาวะวิกฤต ซึ่งเรียกได้ว่า สามารถดึงทั้งกลุ่มผู้ซื้อและผู้ขายเข้ามาได้จำนวนมหาศาล เกิดกระแสเงินหมุนเวียนสะพัด กระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว อาทิ กลุ่ม “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 เมษายน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 122,484 คน
กลุ่ม “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 เมษายน ปัจจุบันมีสมาชิก 157,257 คน กลุ่ม “Silpakorn Online Market : ชีวิตสั้น ฝากร้านกันยาวๆ” สร้างเมื่อวันที่ 13 เมษายน สมาชิก 27,890 คน กลุ่ม “ตลาดนัด มศว” สร้างเมื่อวันที่ 13 เมษายน มีสมาชิก 9,716 คน และ กลุ่ม “ม.เกษตร มาร์เก็ต และการฝากร้าน” สร้างเมื่อวันที่ 13 เมษายน มีสมาชิก 1,972 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 เมษายน 2563)
- “มธ. และการฝากร้าน"
สำหรับพื้นที่ Market Place สู้โควิด-19 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างกลุ่ม “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตรและการฝากร้าน” ถูกสร้างขึ้นในวันที่ 7 เมษายน 2563 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 122,484 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 เมษายน 2563)
ภาวรินทร์ รามัญวงศ์ ศิษย์เก่าคณะศิลปะศาสตร์ เอกภาษารัสเซีย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่ม ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์ Covid19 ในปีนี้ทำให้พี่น้อง มธ. หลายคนเจอภาวะตึงเครียดทางการเงิน จึงตั้งใจทำเพจนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการรวม Community พี่น้องที่ทำธุรกิจในเเวดวงต่างๆ เพื่อเป็นไอเดียและช่วยเหลือกัน หรือเเม้กระทั่งหากคิดไรไม่ออกก็เข้ามาหาของกินได้ อาจมีส่วนลด เเต่รบกวนว่าหากจะโพส “ให้บอก ชื่อ คณะ เเละรุ่น” เพื่อให้รู้ว่าเป็นใคร มาจากไหน
"โดยสามารถฝากได้หมดตั้งเเต่คอร์สเรียน อาหาร ปลาทะเล ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ทำก่อสร้าง ทำบัญชี หรือเป็นทนาย และขอสงวนสิทธิ์-การขาย-สำหรับพี่น้องชาวธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ยินดีต้อนรับสมาชิกทุกท่านให้จับจ่ายเลือกซื้อของได้ตามใจ โดยกฏของกลุ่ม คือ จงมีเมตตาและมีความสุภาพเราทุกคนมาอยู่ในกลุ่มนี้ก็เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร มาร่วมกันปฏิบัติต่อทุกคนอย่างให้เกียรติ การโต้แย้งกันอย่างมีเหตุผลเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าลืมมีเมตตาต่อกันด้วย"
ภาวรินทร์ อธิบายว่า ในช่วงแรกที่ก่อตั้งกลุ่มเราตั้งขึ้นมาสนุกๆ เพื่อที่จะได้ขายของ และพูดคุยกับกลุ่มเพื่อน พอสมาชิกเยอะเป็นหลักหมื่น เริ่มดูแลไม่ไหว จึงมีเพื่อนๆ มาช่วย ซึ่งตอนนี้มีทีมแอดมิน 6 คน และกำลังร่างแนวทางปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันเพิ่มเติม เราไม่อยากเรียกว่าเป็นกฏ เพราะไม่อยากให้รู้สึกว่าเป็นการบังคับ แต่คนที่เข้ามาขายสินค้าบางคนขายดีมาก ขณะที่ บรรยากาสในกลุ่มมีความหลากหลายปะปนกันไป มีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางอย่างที่อาจจะทำให้เกิดการยั่วยุ และทำให้บรรยากาศการเดินตลาดของคนในกลุ่มเสีย ก็ต้องช่วยกันดูแล
ทั้งนี้ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตรและการฝากร้าน” มีทั้งหมดกว่า 50 หมวดหมู่ อาทิ แฟชั่น อาหาร ขนม อสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ ความงาม ออกแบบ อุปกรณ์กีฬา ล่าม นักเขียน สายมูเตลู ผลไม้ ประกัน สื่อสารมวลชน อัญมณี หรือแม้กระทั้งงานหาลำไพ่พิเศษ เป็นต้น
“จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส”
ด้าน “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” พื้นที่แลกเปลี่ยน ซื้อขาย สินค้า และบริการ ของนิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน รวมถึงคนทั่วไปที่มองหาสินค้าและบริการ จากวันแรกที่ก่อตั้ง 11 เมษายน 2563 มีสมาชิกเข้าร่วมมากถึง 5,000 คนในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และเติบโตจนปัจจุบัน มีสมาชิกกว่า 157,257 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1ุ6 เมษายน 2563)
ปาณพล จันทรสุกรี ในฐานะศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “จุฬาฯ มาเก็ตเพลส” เล่าว่า ด้วยพิษโควิด-19 ทำให้งานที่ทำอยู่ทั้งด้าน Marketing Agency และธุรกิจส่วนตัว Event & Organizer ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ ที่บ้านได้เปิดร้านขนมเล็กๆ เป็น Home Cook ของคุณแม่ ซึ่งแต่เดิมทำเป็นงานอดิเรก พอเกิดวิกฤตสถานการณ์โควิด จึงต้องหันมาทำจริงจังมากขึ้น
“จุดเริ่มต้นของการสร้างกลุ่มมาจากการที่เราเห็นว่า สมาชิกในออฟฟิศนำขนมไปขายในกลุ่มของหมู่บ้าน และขายดีมาก ประกอบกับ มีกลุ่มของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเพื่อนดึงเข้าไปอยู่ แต่เราอยู่ในฐานะผู้ซื้อและได้เห็นว่าบางร้านขายดี เป็นชุมชนที่น่ารัก และที่จุฬาฯ ยังไม่มีใครทำ จึงสร้างกลุ่มนี้ขึ้นมา จากการชวนคนสนิทใกล้ชิดเข้ามาก่อนในวันแรกมีสมาชิก 5,000 คน ต่อมาเป็นหลักหมื่นและปัจจุบันเป็นหลักแสน คนเข้ามาเร็วมากจนตกใจ และเกิดการซื้อขายสินค้าหลากหลาย”
ปาณพล กล่าวต่อไปว่า แรกๆ สินค้าที่ขายในกลุ่มจะเริ่มจากของกินก่อนเพราะยังเป็นธุรกิจที่ไปได้ รวมถึงของใช้ในบ้าน อุปกรณ์รับมือโควิด เช่น หน้ากากผ้า แอลกอฮอล์เจล สเปรย์ ฯลฯ พอถึงวันสงกรานต์ 13 เมษายน เริ่มมีการขายคอนโด ที่ดิน ขายเซอร์วิส คอร์สสอนออนไลน์ สถาบันภาษา รับแปล และอื่นๆ หลากหลายมากขึ้น กระทั่ง ตอนนี้จึงเริ่มมีการจัดหมวดหมู่เป็นอุปกรณ์รับมือโควิด อาหารคาว อสังหาริมทรัพย์ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และขนมของทานเล่น
“ล่าสุด ได้รับการตอบรับจากพี่ๆ ในวงการบันเทิงที่เป็นศิษย์เก่า ดารา นักร้องนักแสดง เข้ามาโปรโมทเพลง ทำให้กลุ่มแฟนคลับเขาได้เข้าใกล้ศิลปินมากขึ้น น้องบางคนกลับบ้านไปต่างจังหวัด พ่อแม่ทำสวนผลไม้ มีคนซื้อเยอะจนต้องหยุดรับออเดอร์เพราะทำไม่ทัน บางคนเป็นเจ้าของร้านอาหาร ก็มีคนมาขายวัตถุดิบ ขายผัก ขายไก่ เกิดการซื้อขาย ขณะเดียวกัน ตอนนี้ร้านของคุณแม่เองก็ต้องปิดรับออเดอร์แล้วเพราะทำไม่ทัน” แอดมินกลุ่มฯ กล่าว
“ทั้งนี้ เนื่องจากกฎที่บอกว่า คนขายต้องแนะนำตัว ชื่อ คณะ และชั้นปี ทำให้เราเห็นรูป เห็นชื่อ บางคนอาจเจอเพื่อนเก่าที่มาเป็นคนขาย ก็อยากเข้ามาทักทาย อุดหนุน และส่วนใหญ่ตรวจสอบได้ การรู้จักกัน ถือเป็นการการันตีสินค้าและบริการอย่างหนึ่ง ว่าหากไม่ดีจริงเขาคงไม่กล้าขาย เพราะสามารถรีพอร์ทได้”
ปาณพล กล่าวต่อไปว่า ในฐานะแอดมิน การที่เราได้เห็นการเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ และขยายจนมีสมาชิกหลักแสนในเวลาเพียงไม่นาน ตอนแรกยอมรับว่าช็อคมาก รู้ว่าการค้าขายจะเปลี่ยนไปตลอดกาล ตั้งแต่เรียนจบมาเราไม่เคยว่าง แต่กลับต้องมาอยู่บ้านเฉาๆ ช่วงนั้นสภาพจิตใจแย่มาก แต่วันนี้เรามีอะไรทำ สภาพจิตใจดีขึ้นมา 100% แม้จะเหนื่อยแต่พลังกลับคืนมา เป็นความสุขรายวันที่เราสามารถผลักดันพื้นที่ตรงนี้ได้ อาจจะมีติดขัดไปบ้างแต่จะพยายามปรับปรุงให้ดีที่สุด
“หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 จบลง กลุ่มนี้จะยังอยู่และดำเนินต่อไป โดยตั้งใจอยากทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็น มาร์เก็ตเพลสอย่างจริงจัง และด้วยจำนวนสมาชิกที่เยอะสามารถเป็นฐานข้อมูลประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ หรือธุรกิจอื่นๆ ได้ หรือต่อยอดไปสู่ฟังก์ชันหางาน ให้น้องๆ ศิษย์เก่าที่ต้องการหางานได้เข้ามาแมชกับงานที่ต้องการในอนาคต” ปาณพล กล่าวทิ้งท้าย