โควิดพ่นพิษฉุดผู้โดยสารเดือน มี.ค.วูบ ! 'บีทีเอส-เอ็มอาร์ที' กระทบจำกัด
การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของหลายๆ คนเปลี่ยนไป
ทั้งการดูแลตัวเองที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นเพื่อป้องกันโรค ทำให้หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องติดตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางออกจากบ้าน
เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing อย่างน้อย 1- 2 เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการรับและสัมผัสฝอยละอองน้ำมูกน้ำลายซึ่งเชื้อไวรัสจะปะปนอยู่ ขณะที่รัฐบาลรณรงค์ให้คนไทยทุกคน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ปรับรูปแบบการทำงานใหม่ ให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home
ส่วนสถานที่สำคัญหลายๆ แห่งทั่วประเทศยังถูกสั่งปิดตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน เพื่อหลีกเลี่ยงการชุมชนของคนจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถาบันเทิง สวนสนุก สนามกีฬา ฯลฯ
เมื่อคนส่วนใหญ่อยู่บ้านมากขึ้น ทำให้การเดินทางขนส่งในหลายพื้นที่บางตาลง อย่างกรุงเทพฯ ช่วงนี้ถนนหลายสายโล่งไปเยอะ รถไม่ติดหนักเหมือนเมื่อก่อน และที่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือ รถไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นระบบขนส่งมวลชนยอดนิยมของคนกรุงเทพศฯ เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว สามารถกำหนดเวลาในการเดินทางได้ค่อนข้างแน่นอน
ทุกวันนี้ผู้โดยสารลดลงถนัดตาตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส ของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ รถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ที ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งในสถานการณ์ปกติจะมีผู้ใช้บริการหลายแสนคนต่อวัน โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน จนขบวนรถแทบไม่พอ
ดูตัวเลขผู้โดยสารบีทีเอส 3 เดือนที่ผ่านมา หรือ งวดไตรมาส 4 ของบริษัท (ม.ค.-มี.ค. 2563) ปรับลดลงต่อเนื่อง เดือน ม.ค. มีผู้โดยสารรวม 20.8 ล้านเที่ยวคน ลดลง 0.2% จากปีก่อน และ มีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 6.72 แสนเที่ยวคน, เดือน ก.พ. ตัวเลขผู้โดยสารรวมลดลงเหลือ 17.9 ล้านเที่ยวคน ลดลง 5.7% และมีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 6.17 แสนเที่ยวคน
และล่าสุดเดือน มี.ค. จำนวนผู้โดยสารลดลงเกือบเท่าตัว หลังภาครัฐเริ่มยกระดับมาตรการป้องกัน ประกาศล็อกดาวน์และใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ส่งผลให้ผู้โดยสารรวมเหลือแค่ 11.7 ล้านเที่ยวคน ลดลง 45.20% จากปีก่อน ถือเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดในรอบ 10 ปี จากช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือน พ.ค. 2553 อยู่ที่ 6.7 ล้านเที่ยวคน
ขณะที่รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มเอสทีจำนวนผู้โดยสารลดลงเช่นกัน โดยเดือน ม.ค. มีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 3.97 แสนเที่ยวคน, เดือน ก.พ. เหลือ 3.64 แสนเที่ยวคน และ ล่าสุดเดือน มี.ค. ลดลงเหลือ 2.34 แสนเที่ยวคน แน่นอนว่าเมื่อผู้โดยสารลดลงทำให้รายได้ค่าโดยสารลดลงด้วย โดยรายได้เฉลี่ยต่อวันเดือน ม.ค. อยู่ที่ 10.62 ล้านบาท, เดือน ก.พ. 9.67 ล้านบาท และ เดือน มี.ค. 6.24 ล้านบาท
ตอนนี้พึ่งผ่านไปแค่ 3 เดือน หลังพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกในประเทศไทย และหากยังยืดเยื้อลากยาวออกไปอีก คงทำให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าลดลงต่อเนื่อง แต่ดูจากสถานการณ์ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง หวังว่าทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ในแง่ผลประกอบการเมื่อผู้โดยสารลดลงย่อมกระทบแน่นอน แต่หากเจาะลึกลงไปรายบริษัท BTS ธุรกิจรถไฟฟ้าสัดส่วนรายได้หลักมาจากาการรับจ้างเดินรถ ซึ่งเป็นรายได้ที่แน่นอนไม่ผันผวนตามจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งในงวดปี 2562/2563 (เม.ย.2562-มี.ค.2563) จะรับรู้รายได้จากการเปิดเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือที่วิ่งไปถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรายได้จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง
ส่วนผู้โดยสารที่ลดลงจะส่งผลกระทบจากส่วนแบ่งกำไรที่บริษัทลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) สัดส่วน 33.3% และจะกระทบต่อเนื่องไปถึงธุรกิจสื่อโฆษณา
ขณะที่ BEM จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟใต้ดินและทางด่วนที่ลดลง เพราะถือเป็นรายได้หลัก ผลประกอบการน่าจะต่ำสุดในไตรมาส 2 แต่ดูจากราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว หลังลงไปกว่า 20% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ก่อนค่อยๆ ฟื้นตัวกลับ และปีนี้เปิดเดินรถสายสีน้ำเงินเต็มลูป ซึ่งหากโควิดคลี่คลายเมื่อไหร่น่าจะเป็นปัจจัยเร่งให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ที่ผ่านมานักวิเคราะห์ได้หั่นประมาณการผลประกอบการของทั้ง 2 บริษัทจากจำนวนผู้โดยสารที่อ่อนแอหลังเกิดโควิด แต่ตลาดรับรู้ไปมากแล้วเช่นกัน จึงไม่แปลกที่แทบทุกสำนักยังคงเชียร์ “ซื้อ” หุ้นทั้ง 2 ตัวนี้