KTC Q1/63 กำไร 1.64 พันล. พร้อมออกมาตรการด้านสินเชื่อเพิ่มเติม20เม.ย.นี้ รับวิกฤติโควิด-19
เคทีซี ไตรมาส 1/2563 ตาม TFRS 9 กำไรสุทธิ 1,641 ล้านบาท จำนวนสมาชิกบัตรฯและยอดลูกหนี้ขยายตัวดี ค่าใช้จ่ายทางการเงิน และNPL อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ พร้อมปรับทัพองค์กรและเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพิ่มเติม20เม.ย.นี้ รับมือวิกฤติโควิด-19
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงไตรมาสแรก สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 เคทีซีมีกำไรสุทธิ 1,641 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ย (รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) เท่ากับ3,615 ล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) 4.01% (ถ้าเป็นภายใต้มาตรฐานการรายงานทางการเงินเดิมจะเท่ากับ 1.21%) เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้การค้ารวม) เท่ากับ 82,102 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.5 ล้านบัญชี (เพิ่มขึ้น5.6%) แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต2,593,947 บัตร (เพิ่มขึ้น 10.4%) เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้บัตรเครดิต)52,137 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 50,167 ล้านบาท เติบโต 2.2% NPL บัตรเครดิตตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 3.44% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซีเท่ากับ 926,729 บัญชี (ลดลง 6.0%) จากการปิดบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม(ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคล) 29,965 ล้านบาท NPL สินเชื่อบุคคลตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 4.99%
นอกจากนี้ ตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 บริษัทฯ ยังสามารถทำรายได้รวมเท่ากับ 5,669 ล้านบาท และมีรายได้ค่าธรรมเนียมเท่ากับ 1,183 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมภาษีเงินได้) อยู่ที่ 3,631 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน 1,929 ล้านบาท ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ) เท่ากับ 1,308 ล้านบาท และต้นทุนทางการเงิน 394 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ ภาพรวมของการดำเนินงานของเคทีซีในไตรมาสแรกถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี มีการเติบโตทั้งรายได้และผลกำไร รายได้หนี้สูญได้รับคืนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ขณะเดียวกันสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงินและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ของปี 2563 ยังมีอัตราขยายตัว 10% ในขณะที่อุตสาหกรรมเติบโต 6.2%
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ได้มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก จนกลายเป็นวิกฤติรุนแรงที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจเกือบทุกประเภท ต่อเนื่องมาถึงชีวิตความเป็นอยู่และภาคการใช้จ่ายของประชาชน และมีผลให้การเติบโตของพอร์ตลูกหนี้และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเคทีซีเริ่มได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เคทีซีได้ติดตามและประเมินผลกระทบของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และคาดว่าสถานการณ์และผลกระทบจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) แล้วอย่างเต็มที่
ดังนั้น ภารกิจของเคทีซีที่เราจะต้องคิดวิเคราะห์ให้ถ้วนถี่ในช่วงเวลานี้คือ การหากลยุทธ์ที่จะนำพาเคทีซีฝ่าวิกฤตินี้ไปอย่างไรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และจะเตรียมพร้อมรับมืออย่างไรหลังวิกฤติโควิด-19 เพราะโลกหลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป (New Normal) อีกทั้งจะเร่งวิเคราะห์ พัฒนาปรับปรุงกระบวนงานทั้งระบบ (End to End Process Improvement) ปรับลดความซ้ำซ้อนและซับซ้อน เสริมสร้างการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมทุกมิติ ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลให้ดีที่สุด
บริษัทฯ ยังได้สนับสนุนภาครัฐในการออกมาตรการผ่อนผันช่วยเหลือแบ่งเบาภาระลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามนโยบายของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเต็มที่ โดยปรับลดอัตราผ่อนชำระของบัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคล “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) ปัจจุบันได้รับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ 3% ซึ่งอยู่ในแนวทางการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวอยู่แล้ว นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมจะออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติมในวันที่20 เมษายน 2563 ที่จะถึงนี้อีกด้วย