สธ.แนะปลดล็อกดาวน์เมือง 1 พ.ค.นี้ ควรเริ่มในจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ 14 วัน

สธ.แนะปลดล็อกดาวน์เมือง 1 พ.ค.นี้ ควรเริ่มในจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ 14 วัน

สธ.แนะปลดล็อกดาวน์เมือง 1 พ.ค.นี้ ควรเริ่มในจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ 14 วัน เผยผลิตวัคซีนในไทย อยู่ขั้นทดลองในสัตว์

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้เป็นวันที่ 111 ที่ไทยเกิดโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่มีค้นพบผู้ป่วยโควิด-19 นอกจากประเทศจีนเป็นแห่งแรก และตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 ทางกรมควบคุมโรคออกคำสั่งเปิดศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉิน แต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ เตรียมความพร้อมคัดกรอง เฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งในประเทศไทยได้มีการดำเนินการคัดกรอง เฝ้าระวังโรคนี้มาตลอด ซึ่งมาตรการต่างๆ เป็นไปตามข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ในเดือนมีนาคม เริ่มมีการล็อกดาวน์ให้ทุกคนอยู่บ้าน และวันที่ 2 เมษายน ประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ มาตรการทั้งหมด ทำให้หลังวันที่ 9 เมษายน ประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิน 100 คน

“ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ใช้มาตรการเดียว เราใช้มาตรการเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น มาตรการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ มาตรการทางสาธารณสุข มาตรการด้านการแพทย์ มาตรการด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล มาตรการบังคับปิดกิจการและสถานที่เสี่ยง มาตรการห้ามออกนอกเคหะสถาน มาตรการจำกัดการเดินทาง  มาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม ซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่มีประเทศไหนเหมือนกันทุกประการ การที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในส่วนหนึ่ง และจำนวนผู้ป่วยชะลอตัวลง และลดได้ดีในระดับหนึ่ง นั้นเกิดจากการผสมผสานในหลายวิธี” นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ในสังคมไทยตั้งคำถามว่าทำไมไทยตรวจน้อย ทำไมไม่ใช้แอฟ หรือเทคโนโลยีชั้นสูง ทำไมไม่ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในต่างประเทศเขาก็ถามประเทศเขาเช่นกัน  ว่าทำไมเขาถึงไม่มีอสม.1 ล้านคน ทำไมไม่มีนักระบาดวิทยาที่มีความรู้ความสามารถที่ทุ่มเทอย่างเพียงพอ ทำไมคนของเขาถึงไม่ใส่หน้ากากผ้า ทำไมประเทศเขาไม่มีเจลวางอยู่อย่างทั่วถึง ทำไมคนของเขายังออกนอกบ้านทั้งที่มีประกาศห้าม ทำไมบ้านเขาไม่มีคนที่มีน้ำใจออกมาแจกข้าวของจำเป็น ดังนั้น ไม่มีประเทศไหนเหมือนกัน และความสำเร็จของไทยก็ประเทศอื่นเลียนแบบไม่ได้ อยากให้ทุกคนเข้าใจ เพราะต้นทุนของแต่ละประเทศแตกต่างกัน

48% ผู้ป่วยโควิด-19เสียชีวิตเหตุโรคประจำตัวร่วมด้วย

นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวต่อว่าจากสถานการณ์โควิด-19 สามารถจำแนกผู้ป่วยเสียชีวิตในประเทศไทยโดยแบ่งตามกลุ่มอายุ พบว่า 43% มีอายุมากกว่า 60 ปี 48% มีโรคประจำตัว และ 32 % ไม่มีปัจจัยเสี่ยง  ซึ่งในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ ข้อมูล ณ วันที่ 18 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 101 คน  เป็นพยาบาล 40% แพทย์ 19% และพยาบาล18% โดย 74% มีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยโดยตรง 15%ติดเชื้อจากผู้ร่วมงาน และอีก 10% ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน

ทั้งนี้ สำหรับมารการการผ่อนคลาย หรือปลดล็อกดาวน์ประเทศนั้น ขณะนี้หลายฝ่ายได้หารือถึงการเปิดกิจกรรม หรือผ่อนคลายบางมาตรการนั้น  ซึ่งก่อนที่จะมีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ ปิดกิจการ หรือสถานที่ต่างๆ นั้น มีคนเคยพูดว่าตอนปิดไม่ได้คำนวณสถานการณ์ให้ดี ดังนั้น ตอนเปิดก็ไม่ควรจะซ้ำรอยความผิดพลาดเดิม โดยในการวางแผนเตรียมการเพื่อเปิดกิจการที่ปิดไปแล้วนั้น จริงๆ เราไม่ได้ปิดเมืองแบบใหญ่โต เราปิดกิจการจำนวนหนึ่งที่จำนวนมาก ซึ่งการทยอยเปิดต้องพิจารณาหลายอย่าง ทั้งมาตรการด้านสาธารณสุข และมาตรการอื่นๆ  และยังคงจำเป็นต้องมีความเข้มข้นต่อเนื่องต่อไป และบางมาตรการต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น มาตรการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มหรือการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก  มาตรการสอบสวนการควบคุมโรค รวมถึงมาตรการเรื่องการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล จำเป็นต้องดำเนินการต่อไป และต้องสนับสนุนให้บุคลากรทำงานจากบ้าน เหลื่อมเวลาการทำงาน เป็นต้น

แนะเริ่มปลดล็อกดาวน์จังหวัด ที่ไม่มีผู้ป่วย 14 วัน

นายแพทย์ธนรักษ์ สำหรับมาตรการเปิดกิจการต่างๆ มีข้อเสนอแนะหลักการเบื้องต้น คือ ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ จังหวัดที่ไม่มีจำนวนผู้ป่วยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา  เช่น 1 พฤษภาคมให้เปิดกิจการได้ ก็ต้องไปดูว่าจังหวัดไหนที่ไม่มีผู้ป่วยในช่วง 14 วัน และต้องเริ่มพิจารณาเปิดกิจการ หรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาทิ สถานที่ที่สามารถคงมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลได้ 1-2 เมตร ใส่อุปกรณ์ป้องกันได้ และใช้เวลาในสถานที่เหล่านี้ไม่นานเกินไป และสถานที่ที่สามารถปรับปรุงสภาพแวดล้อม มีเรื่องการระบายอากาศ ความแออัดของพื้นที่  และพิจารณาสถานที่ความเสี่ยงสูงเป็นสถานที่ความเสี่ยงต่ำได้หรือไม่ ซึ่งสถานที่ใดมีความเสี่ยงต่ำ และดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มข้นได้ ก็จะเป็นกิจการที่ได้รับการพิจารณาเปิดได้ก่อน 

“ที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินการ จัดการปัญหาโควิด ตามระดับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และคงไม่กลับไปใช้มาตรการที่ไม่ตรงกับความเสี่ยง ฉะนั้น ถ้าเราเริ่มมีความเสี่ยงต่ำ จะลดมาตรการได้ อยากเตือนทุกคนว่าเรื่องบางเรื่อง มาตรการภาคบังคับอาจจะหย่อนลงได้ แต่มาตรการส่วนบุคคลทุกมาตรการ จะเป็นมาตรการที่ไม่สามารถหย่อนได้ ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำการหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด การสวมใส่หน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน การล้างมือบ่อยๆ การรักษาระยะห่างบุคคล การใช้ช้องกลาง ล้างมือ มาตรการเหล่านี้ทุกคนต้องทำอย่างเข้มข้น เพราะโอกาสที่เราจะกำจัดโรคนี้ออกไปจากประเทศไม่ได้สูงมาก ตอนที่เราเปิดประเทศ เปิดกิจการต่างๆ ยังคงมีการแพร่ระบาดของโรคในประเทศ เราเปิดเพื่อให้กิจการต่างๆ  เดินต่อไป และต้องกดการแพร่ระบาดให้ลดต่ำลงต่อไปให้ได้” นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว

ไทยผลิตวัคซีนเอง อยู่ขั้นตอนการทดลองในสัตว์

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในไทย ว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นเรื่องวัคซีนค่อนข้างมาก และขณะนี้พี่น้องประชาชนร่วมมือร่วมใจทำให้คุมสถานการณ์โรคได้ จึงเกิดความสงสัยว่าระยะต่อไปจะทำอย่างไร ซึ่งวัคซีนเป็นเรื่องที่คนไทยคุ้นเคย เนื่องจากเป็นยาหรือสิ่งที่ฉีดเข้าไปในร่างกายให้ทุกคนมีภูมิต้านทานโรคได้ โดยในส่วนของประเทศไทยมี 3 ทางเลือกที่จะสามารถทำได้ คือ 1.ผลิตวัคซีนเองตามกระบวนการทดลอง 2.ร่วมมือกับประเทศที่ทำการผลิตวัคซีนสำเร็จแล้ว ซึ่งจะทำให้เราได้วัคซีนเร็วขึ้น และ3.ไม่ต้องทำอะไรรอซื้ออย่างเดียว แต่จะเจอปัญหาคือเราจะไม่รู้ว่าไปซื้อได้เมื่อใด

158729069459

นายแพทย์นคร เปรมศรี  ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทีมวัคซีนไทย กำลังดำเนินการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ซึ่งการพัฒนาวัคซีนประเทศไทยได้มีการดำเนินการตามทางเลือกที่ 1 และ 2 โดยทางเลือกที่ 1 นั้น คือการผลิตวัคซีนขึ้นเอง ตอนนี้ทางคณะแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับทางบริษัท ไบโอเนท เอเชีย ได้มีการผลิตวัคซีน และทำการทดลองในลิงหรือหนูแล้ว และกำลังรอผลจากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าจะสามารถปลอดภัยนำไปสู่การทดลองในคนต่อหรือไม่ ซึ่งการทดลองในคนนั้น จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ความปลอดภัย (ทดลองใน30-50 คน) ระยะที่ 2  การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (100-150 คน) และระยะที่ 3 ให้ผลในการป้องกัน (500 คนขึ้นไป) เมื่อได้ผลว่าวัคซีนดังกล่าวป้องกันโควิด-19 ก็ไปสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนต่อไป

ส่วนทางเลือกที่ 2 ความร่วมมือกับต่างประเทศ ที่มีการผลลิตวัคซีน ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่ก้าวหน้ามีการทดลองในคนแล้ว นั่นคือ  สหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ ถ้าจะให้ประเทศไทยมีเข้าถึงวัคซีนได้ต้องมีการนำวัคซีนต้นแบบที่มีศักยภาพสูงจากต่างมาทดลองในประเทศ โดยมีแผนรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต และข้อตกลงในการเข้าถึงวัคซีน ตอนนี้ในประเทศจีนได้มีการทดลองในคนระยะที่ 2 เพื่อดูว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ และไทยได้มีการเจรจาทำความร่วมมือกับจีนอยู่ โดยอยู่ในระหว่างการทำ MOU ร่วมกัน ก็จะเป็นอีกด้นที่นอกเหนือจากการพัฒนาวิจัยในประเทศเราเอง

“เป้าหมาย เพื่อการเข้าถึงวัคซีน ให้เร็วที่สุด ในสถานการณ์ของการระบาดจะไม่สงบจนกว่าประชากรมากว่า 60% จะติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะกินเวลานานมากเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างประเมินค่าไม่ได้ การซื้อวัคซีนโดยไม่ทำอะไร อาจทำได้ยาก และต้องรอเวลานาน เพราะศักยภาพการผลิตตอนแรกจะไม่เพียงพอ ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาเพื่อนไปสู่การผลิตวัคซีนในประเทศ จำเป็นต้องเริ่มดำเนินทันที เนื่องจากหากจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ก็ต้องมีทั้งบุคลากร และโรคงงานผลิตวัคซีน ซึ่งไม่สามารถสร้างได้ในเวลาอันสั้น  รวมถึงการลงทุนพัฒนานาศักยภาพด้านวัคซีนของประเทศ จะทำให้เราสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น แม้เพียง 1 เดือนก็นับว่าคุ้มค่า และศักยภาพการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนเมื่อได้เกิดขึ้นแล้ว จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการรับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคตได้อีกด้วย” นายแพทย์นคร กล่าว