ไทยพบผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' เพิ่ม 19 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย
ไทยพบผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" รายใหม่เพิ่ม 19 ราย รวมยอดสะสม 2811 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย สรุปยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 48 ราย รักษาหาย 655 ราย ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านเเล้ว 2108 ราย
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 21 เม.ย. 63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" รายใหม่เพิ่ม 19 ราย รวมยอดสะสม 2,811 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย สรุปยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 48 ราย รักษาหาย 655 ราย ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านเเล้ว 2,108 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-29 ปี จำนวน 684 ราย อายุมากที่สุด 97 ปี และน้อยที่สุด 1 เดือน อายุเฉลี่ย 39 ปี แบ่งตามภูมิภาค กรุงเทพฯ นนทบุรี 1,602 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 108 ราย ภาคกลาง 356 ราย และภาคใต้ 583 ราย
ผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้นในวันนี้ 19 ราย ใน 8 จังหวัด เข้ารับการรักษาในกรุงเทพมหานคร (10), ยะลา (2), ชลบุรี (2), นนทบุรี (1) ปัตตานี (1), สงขลา (1), ภูเก็ต (1), ชุมพร (1)
กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยที่รับรักษาสะสมมากที่สุด (1,447 ราย) ตามด้วย ภูเก็ต (193), นนทบุรี (152), สมุทรปราการ (108), ยะลา (95), ชลบุรี (85), ปัตตานี (79), เชียงใหม่ (40) , สงขลา (39) และปทุมธานี (34) โดยอยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 67 ราย และมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระหว่าง state quarantine ในจังหวัดต่างๆ 71 ราย
โดยยังมี 9 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานการรับรักษาผู้ป่วย ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และ อ่างทองและมีอีก 36 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเขื้อในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 50 ปี อาชีพขับแท็กซี่ มีโรคประจำตัว คือ เบาหวานชนิดที่สอง ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี สูบบุหรี่ ประวัติเสี่ยง คือ รับส่งผู้โดยสารไปดูมวยที่ลุมพินี เริ่มป่วยด้วยอาการหายใจลำบาก ไข้ต่ำ ไอ 18 มีนาคม เข้าตรวจ ที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และได้ยากลับไปทานที่บ้าน หลังจากนั้น อาการไม่ดีขึ้น เข้ารับการรักษาอีกครั้ง 23 มีนาคม ด้วยอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว หายใจลำบาก มีเสมหะเพิ่ม ส่งตรวจหาเชื้อยืนยันผลโควิด-19 อาการค่อยๆ แย่ลง และเสียชีวิตวันที่ 20 เมษายน
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ยังคงมีผู้ป่วยอยู่เป็นอันดับ 1 ขณะจังหวัดที่เป็น State Quarantine จะพบว่า “สตูล” หากไม่นับผู้ป่วย State Quarantine อัตราส่วนการพบผู้ป่วยเป็นศูนย์ไม่มีตัวเลขการติดเชื้อ ดังนั้น จึงต้องปรับสตูลลงมาอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ยังไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อ ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง และบวก สตูล
“จะเห็นว่า ผลของผู้ติดเชื้อที่ลดลงในวันนี้ มาจากการที่เรา อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ 14 วันที่แล้ว ที่มีการร่วมมือกันอย่างดี ยัผู้ป่วยที่ยังรักษาในโรงพยาบาลลดลงอยู่ที่ 655 ราย ถือเป็นเรื่อดีที่เตียงว่าง ตอนนี้ไม่มีใคอยากจะเข้าโรงพยาบาล การเจ็บป่วยลดลง รวมถึงโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูการก็ลดน้อยถอยลงเช่นเดียวกัน เป็นเรื่องดีที่เราหันมาดูแลสุขภาพกัน” โฆษก ศบค. กล่าว
5 อันดับผู้ป่วยยืนยัน วัยทำงาน/นักเรียน
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ 11 จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วย 7 วัน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 เมษายน) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ภูเก็ต ชลบุรี ยะลา ปัตตานี สงขลา กระบี่ นราธิวาส ขอนแก่น และชุมพร ขณะที่จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 14 วัน (7 – 20 เมษายน) 36 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ จันทบุรี เชียงราย ตาก นครนายก บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ พระนครศรีอยุทธยา มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สกลนคร สมุทรสงคราม สระบุรี สุโขทัย สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี สระแก้ว อุบลราชธานี และสุพรรณบุรี
“สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่สัมผัสกับผู้ป่วยก่อนหน้าค่อยๆ ลดน้อยลง ขณะที่อาชีพเสี่ยงลดน้อยลงเช่นกัน แต่กลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้น คือ กลุ่มที่เดินางมาจากต่างประเทศ และไปสถานที่ชุมชน ตลาดนัด ซึ่งจำนวนผุ้ป่วยยืนยัน 2 สัปดาห์ล่าสุด พบว่า ผุ้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ที่ต้องอยู่ใน State Quarantine มีจำนวน 71 ราย อาชีพเสี่ยง 39 ราย และไปที่สถานที่ชุมชน 24 คน”
“ทั้งนี้ 5 อันดับแรก ผู้ป่วยยืนยันจำแนกตามอาชีพ ได้แก่ อันดับ 1 รับจ้างทั่วไป/ฟรีแลนซ์ 395 ราย ถัดมา คือ อาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว 308 ราย พนักงานบริษัท/โรงงาน 235 ราย พนักงานในสถานบันเทิง 176 ราย และนักเรียน/นักศึกษา 164 ราย จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานและนักศึกษาอายุระหว่าง 20-39 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบบ่อยมากที่สุด ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญของคนกลุ่มนี้ ท่านสามารถเป็นพาหะนำโรคได้” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว
สิงคโปร์ยอดพุ่งจากแรงงานต่างด้าว
สถานการณ์ทั่วโลก 208 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ มีผู้ติดเชื้อรวม 2,481,287 ราย อาการหนัก 56,766 ราย รักษาหาย 646,260 ราย เสียชีวิต 170,436 ราย โดย 10 อันดับ อันดับที่ 1 ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ถัดมา ได้แก่ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ ตุรกี อิหร่าน จีน และรัสเซีย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55
นายแพทย์ทวีศิลป์ อธิบายต่อไปว่า สำหรับในประเทศอาเซียน อย่าง “สิงคโปร์” มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 1,426 ราย ภายใน 24 ชั่วโมง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้าไปทำงานในสิงคโปร์ ที่มีมากถึง 323,000 คน ซึ่งพักอาศัยในหอพักต่างๆ 43 แห่ง มีหอพักขนาดใหญ่ ซึ่งมีคนอยู่กว่าพันคน และ แต่ละห้องมีความแออัดกันอยู่ราว 12 – 20 คน เนื่องจากพื้นที่ประเทศเล็กจึงต้องอยู่รวมกันจำนวนมาก ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวรายแรกของสิงคโปร์ เป็นชาวบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ และมีการติดเชื้อในกลุ่มก้อนใหญ่ภายในหอพัก วันที่ 30 มีนาคม เริ่มจากการติดเชื้อ 4 คน และขยายเป็น 1,000 คน ภายในเวลาอันรวดเร็ว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่เราเรียกว่าซูเปอร์สเปรดเดอร์ ส่งผลให้สิงคโปร์ไต่อันดับขึ้นไปอันดับต้นๆ ของกลุ่มประเทสอาเซียน ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ
ขณะนี้ ทางการของสิงคโปร์ ได้มีการจัดการอย่างเต็มที่ โดยการใช้มาตรการล็อคดาวน์หอพักรวม 43 แห่ง หลังจากนั้น จัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลเรื่องแรงงาน หยุดไม่ให้มีการแพร่ระบาด ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวระหว่างหอพัก และจัดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันป้องกันการเผยแพร่การระบาดในวงกว้าง แรงงานทุกคนจะได้รับค่าจ้างระหว่างการ Quarantine และมีทีมดูแล มีคลินิก สถานพยาบาล คัดกรองในบริเวณนั้นทั้งหมด เคลื่อนย้ายแรงงานที่หายดี และมีผลเป็นลบ เพื่อไปอยู่บนเรือลอยกลางทะเล เพื่อเอาคนไปพักไว้ราว 2,000 คน ทำให้การระบาดต้องถูกควบคุมให้ได้ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ
ดัน พสต./อสต. ดูแลแรงงานต่างด้าว
โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่าประเด็นแรงงานต่างชาติไม่ใช่มีแค่สิงคโปร ไทยก็มีเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทางกระทรวงสารณสุข ต้องเข้าไปดูแล โดยกรมอนามัย และหน่วยงานท้องถิ่นทั้งหลาย ต้อแสกนพื้นที่ทั้งหมด ว่าแรงงานด้าวอยู่กันอย่างไร เน้นย้ำ ให้มีระยะห่างทางสังคม และส่งเสริมการมีพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ทำหน้าที่คล้าย อสม. โดยการอบรมให้ความรู้ และให้พวกเขาได้ดูแลซึ่งกันและกันในหลายจังหวัด คาดหวังว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากสิงคโปร์ น่าจะเป็นมาตากรควบคุม ป้องกัน ในประเทศไทย สองประเด็นนี้สำคัญมาก ต้องป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรค และหากเกิดแล้วต้องควบคุม รวมถึงดูแลพี่น้องแรงงานชาวต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เป็นโรค และเราก็จะปลอดภัยด้วย
สำหรับเที่ยวบินที่นำคนไทยที่ตกค้างกลับไทยในวันนี้ (21 เมษายน) ได้แก่ เที่ยวบินจากไต้หวัน เวลา 17.00 น. จำนวน 120 คน จากรประเทศญี่ปุ่น 2 เที่ยวบิน ได้แก่ เวลา 15.30 น. จำนวน 80 คน และ เวลา 16.30 น. จำนวน 20 คน
ย้ำผ่อนปรน ไม่ใช่ยกเลิก
จากกรณีที่มีการติดเชื้อระลอกใหม่ที่พบในญี่ปุ่น สิงคโปร์ นั้นในส่วนการป้องกันในประเทศไทย นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า ติดเชื้อเกิดขึ้นมาประเทศไทยสามารถคุมได้ดีระดับหนึ่ง เนื่องจากการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ถือเป็นผลดี แต่การที่เราเรียนรู้ว่า การผ่อนปรน ยกเลิกมาตรการ ผลจะเป็นเอย่างไร ก็ให้เรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่าสิงคโปร มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ขณะที่อังกฤษ ถึงแม้วันนี้จะเพิ่มต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์ แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีท่าทีผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์
“แต่สหรัฐอเมริกาที่ยอดผู้ป่วยพุ่งสูง ยังคงเกิดแรงกดดันจากผู้ประท้วงในหลายรัฐ เช่น อริโซน่า โคโลราโด วอชิงตัน ที่ขอให้ผ่อนปรนเรื่องมาตรการล็อกดาวน์ หลายมลรัฐขอให้เปิดเมืองอีกครั้ง แต่ท่านจะเห็นว่าตัวเลขผู้ตายและป่วยพุ่งสูงขึ้น ขณะที่อิหร่าน ตอนนี้ค่อยๆ ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ลง ธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำสามารถเปิดกิจการได้ แต่คนที่ขับรถแท็กซี่ต้องมีแผ่นฟิล์มพลาสติก กั้นระหว่างคนขับและผู้โดยสาร และต้องฉีดพ่นฆ่าเชื้อเป็นประจำ ด้าน สเปน ขยายการปิดเมืองอีก 15 วัน เพื่อควบคุมการระบาด จะมีผลถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นการเลื่อนครั้งที่สาม นิวซีแลนด์ ก็เลื่อนการล็อกดาวน์ไปอีก 1 สัปดาห์เช่นเดียวกัน”
ล่าสุด มีการพูดคุยร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) อีโอซี ซึ่ง อธิบดีกรมควบคุมโรค ขอให้เข้าใจตรงกัน คือ 1) ผ่อนปรน ไม่ได้เลิก 2) การผ่อนปรน ต้องมองตรงกันในภาพใหญ่ ที่ต้องป้องกันและควบคุมโรค ครอบคลุมทั้งประเทศ และ 3) ต้องมีศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ โดยเฉพาะในระดับจังหวัดที่ให้ความร่วมมือ หลังจากนั้น ทางการไทยจะมีการตัดสินใจ โดยใช้ข้อมูลเชิงสถิติ รวมถึงนักวิชาการ รวมกับภาคธุรกิจ ช่วยกันคิดหาทางออก อย่างที่บอกสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ปากท้องก็สำคัญ เราต้องไล่เรียงลำดับขึ้นมา ชีวิตต้องอยู่ได้ก่อน เศรษฐกิจ และสังคมจะตามมา เป็นกติกาที่เราใช้ร่วมกันเราถึงมีวันนี้
“วันนี้เราอยู่ในตัวเลขสองหลัก เราต้องช่วยกันให้จำนวนผู้ป่วยใหม่ ต่ำกว่า 10 ให้ได้ ในระยะเวลาอีก 14 วันเป็นอย่างน้อย เราจะได้เห็นว่าสถาการณ์เป็นอย่างไร เราอาจจะเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ซีลประเทศได้อย่างดี” โฆษก ศบค. กล่าว
เดินหน้ากระจายหน้ากาก/PPE
สำหรับการจัดส่งหน้ากากอนามัย ณ วันที่ 21 เมษายน จัดส่งสะสมแล้ว 39,464,350 ชิ้น จัดส่งเมื่อวันที่ 20 เมษายน จำนวน 1,564,500 ชิ้น ในส่วนของหน้ากาก N95 จัดส่งแล้ว 138,940 ชิ้นทั่วประเทศ แบ่งเป็น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 58,760 ชิ้น ภาคกลาง 3,620 ชิ้น ภาคตะวันออก 9,800 ชิ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14,380 ชิ้น ภาคเหนือ 13,200 ชิ้น และภาคใต้ 32,140 ชิ้น ด้าน ชุด PPE จัดส่งแล้ว 39,719 ชุด แบ่งเป็น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 20,399 ชุด ภาคกลาง 720 ชุด ภาคตะวันออก 840 ชุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,280 ชุด ภาคเหนือ 2,525 ชุด และภาคใต้ 12,005 ชุด
โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า วานนี้ (20 เมษายน) โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ได้ทำหอผู้ป่วยรวม ซึ่งมีห้องความดันลบ เพื่อรองรับโควิด19 จำนวนมากแห่งแรกในไทย โดยนำตึกที่มีอยู่เดิม มาปรับปรุง โดยความร่วมมือจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และภาคเอกชนอย่าง ไซโจเดนกิ ระดมความร่วมมือ ภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อรองรับผู้ป่วยอาการไม่หนักมาก ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในทุกภาคส่วน รัฐ เอกชน ที่ร่วมมือกันในครั้งนี้