'ธนาธร' เปิดโรงงานผลิต 'อุปกรณ์การเเพทย์' เผยถึงเวลาต้องช่วยกัน
พร้อมส่งมอบทุกโรงพยาบาลที่ต้องการ ลั่นถึงเวลาช่วยกันคนละไม้ละมือ แนะรัฐบาลควรใช้มาตราการคลายล็อกอย่างมีประสิทธิภาพ ด้าน สธ. ต้องเตรียมการให้ดี
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยตัวแทนบริษัท จรูญรัตน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เปิดโรงงานให้สื่อมวลชนเยี่ยมชมขั้นตอนการผลิต ก่อนจะบริจาคให้ 12 โรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลกับโรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้และใกล้เคียง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข รับมือสถานการณ์โควิด-19
นายธนาธร กล่าวว่า ได้รับการประสานจากกลุ่มเพื่อนคณะวิศวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปลายเดือนมีนาคม ด้วยเห็นว่ามีกำลังพอที่จะผลิตเพื่อบริจาคได้ จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ และจัดลำดับความสำคัญโรงพยาบาลจากความเร่งด่วนของปัญหา โดยจะผลิตเสร็จพร้อมจัดส่งรอบแรกให้โรงพยาบาลในจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดยะลา ระหว่างวันที่ 25-26 เมษายนนี้ และลอตสุดท้ายจะจัดส่งโรงพยาบาลอื่นๆ ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งได้ร่วมกับทีมวิศวกร เกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะผลิต 2 รายการ คือ
1) Modula ARI Clinic ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ห้องปฏิบัติการแรงดันบวกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ กับห้องความดันลบสำหรับผู้รับการตรวจ ในรูปแบบที่ยกมาติดตั้งและถอดแยกกันได้อย่างสะดวก
2) Patient Transportation Chamber คืออุปกรณ์ติดเสริมเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ด้วยระบบแรงดันลบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
นายธนาธร กล่าวด้วยว่า แม้สถานการณ์โควิด -19 จะเบาลงแล้ว ลงแต่อุปกรณ์ทั้ง 2 รายการนี้ สามารถใช้ดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ ได้อีก จึงตั้งใจผลิตให้มีคุณภาพ ไม่ได้ลดสเปคอุปกรณ์ในการผลิต เพราะจะไม่ได้ใช้แค่ปีเดียว แต่จะใช้ในระยะยาวได้
โดยคณะก้าวหน้าและทีมผู้ผลิตจะส่งมอบ Modula ARI Clinic จำนวณ 10 ชิ้น และ Patient Transportation Chamber จำนวณ 30 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 25-26 เมษายน และช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับอุปกรณ์ทั้ง 2 รายการ ได้ใช้ข้อมูลจากเพจ Open Source Covid Thailand ที่เผยแพร่ข้อมูล และคณะแพทย์ศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่เปิดให้สาธารณะผลิตและออกแบบ โดยทีมงานวิศวกรรมบริษัท จรูญรัตน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, ศิษย์เก่าวิศวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงพยาบาล
จากนั้น นายธนาธร ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวภายหลังเดินชมขั้นตอนการผลิตในโรงงาน โดยกล่าวว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ อย่างโครงการนี้ก็เป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายวิศวะจุฬาฯ กับภาคเอกชนในการทำงานเพื่อสังคม ทำให้ต้นทุนการผลิตไม่แพงอยู่ที่ประมาณ 6 แสนบาท โดยที่ยังไม่รวมค่าแรงและกำไร ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ไม่บ่ายเบี่ยงยินดีให้ความช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ ส่วนตัวนั้นก่อนหน้าได้มีการพูดคุยกับโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่กล้าออกแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ได้ปรึกษากับผู้ใช้ เพราะเป็นเรื่องของสาธารณสุขที่เกี่ยวพันกับชีวิตประชาชน ดังนั้นตนจึงอยากให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนเครื่องมือ เข้ามาพูดคุยว่าขาดเหลืออะไรบ้าง สำหรับความคิดเห็นในกรณีถ้ารัฐบาลยืดเวลาล็อกดาวน์ออกไป และเห็นว่าควรมีการเยียวยาประชาชน ดังนั้น จึงควรใช้วิธีคลายล็อคแต่ต้องทำให้มั่นใจได้ว่าสาธารณะสุขมีการเตรียมการที่ดีมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา