พนักงานการท่าเรือฯยื่น ป.ป.ช. ร้องสอบประมูลแหลมฉบังเฟส 3
กลุ่มพนักงานปกป้องผลประโยชน์ กทท.ยื่นเลขาธิการ ป.ป.ช.ตรวจสอบประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ร้องขอระงับการประมูลในระหว่างการตรวจสอบ 3 ประเด็น เสนอผลตอบแทนต่ำจนรัฐเสียหาย
รายงานข่าวระบุว่า วานนี้ (21 เม.ย.) นายพีระพล งามเลิศ และนายเผด็จ ผนวกสุข พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ตัวแทนกลุ่มพนักงานปกป้องผลประโยชน์ กทท.ได้ยื่นหนังสือถึงนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) มีพฤติกรรมเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปล่อยปะละเลย เอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่เหลือรายเดียวในการคัดเลือกเอกชนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3
สำหรับการยื่นเรื่องดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับจริยธรรมของพนักงาน โดยมีประเด็นที่ยื่น 3 ประเด็น ประกอบด้วย
1.การเสนอราคาที่ต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัด ซึ่งรัฐเสียหายและไม่ได้ประโยชน์ เนื่องจากโครงการนี้มีมูลค่า 32,225 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ แต่การเสนอราคาของกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ในซองที่ 4 เสนอผลตอบแทนแก่เพียง 12,051 ล้านบาท ต่ำกว่ามติ ครม.ถึง 20,174 ล้านบาท
2.การไม่สอดคล้องกันของแผนการลงทุนซองที่ 3 และข้อเสนอราคาซองที่ 4 โดยกิจการร่วมค้า GPC มีข้อเสนอซองที่ 3 เสนอค่าสัมปทานคงที่เป็นจำนวนเท่ากับที่กำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชน และได้กำหนดค่าสัมปทานผันแปรระบุที่ 200 บาท ท่าให้ผ่านการประเมินในซองที่ 3 ด้วยตัวเลข ผลตอบแทนในแผนการลงทุนที่สูงตามที่ กทท.ต้องการ แต่กลับยื่นข้อเสนอด้านการเงินในซองที่ 4 เพียง 12,051 ล้านบาท
3.พฤติการณ์เอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาที่เหลือเพียงรายเดียวอาจส่งผลให้รัฐเสียหาย ซึ่งหลักทั่วไปแล้วการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ ต้องไม่ให้เกิดการผูกขาด ฮั้วประมูลหรือปิดกั้นไม่ให้เกิดการแข่งขันจนเหลือผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว แต่ในสถานการณ์ที่เหลือผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว การใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ บางคน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือ ปล่อยปะละเลยเอื้อประโยชน์ทำให้รัฐเสียหาย
ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มพนักงานปกป้องผลประโยชน์ กทท.ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับจริยธรรมของพนักงาน ขอให้เลขาธิการ ป.ป.ช.ใช้อำนาจตามบทบัญญัติมาตรา 129 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ อาจมีพฤติการณ์จงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือปล่อยปะละเลยเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนโครงการนี้
โดยเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ประกอบความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 172 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หรือไม่
รวมทั้งเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาลและรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ไม่ให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากผลตอบแทนของการประมูลในครั้งนี้มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และหากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดขอให้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องจนถึงที่สุด
โดยในระหว่างการตรวจสอบขอให้ประธานและคณะกรรมการมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารและพยานบุคคลเพื่อพิจารณาสอบสวน ข้อเท็จจริง พร้อมทั้งมีรายงานเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งระงับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนโครงการนี้ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ