'บีอีซี' ซิลลิ่ง 2 วันติด หวัง '3 นายหญิง' กู้วิกฤต
เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง “อริยะ พนมยงค์” ประกาศลาออกจากตำแหน่ง “กรรมการผู้อำนวยการ” บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โดยจะมีผลวันที่ 20 มิ.ย. นี้
เท่ากับว่าเป็นเวลาเพียงแค่ 1 ปี เท่านั้น ที่เขาได้รับเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ ผ่านการชักชวนของ “ประชุม มาลีนนท์” ถือเป็นผู้บริหาร “คนนอก” รุ่นใหม่ไฟแรงที่ถูกจับตามองอย่างมาก เพราะฝีมือไม่ธรรมดา ผ่านงานด้านเทคโนโลยีมาแล้วมากมาย เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ “ไลน์ ประเทศไทย” และผู้จัดการประจำประเทศไทยของ “กูเกิล”
ด้วยโปรไฟล์ที่สวยหรู! จึงถูกตั้งความหวังไว้สูงลิบ ว่าจะช่วยนำพาองค์กรฝ่าแห่งนี้กระแสคลื่นดิสรัปชั่นที่กำลังพัดถล่มสื่อเก่าอย่าง “โทรทัศน์” ผ่านพ้นมหาวิกฤตนี้ไปให้ได้ หลังในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนส่วนใหญ่ดูโทรทัศน์น้อยลง หันไปเสพสื่อดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณาดิ่งลงอย่างหนัก
สะท้อนได้จากผลประกอบการจากอดีตที่เคยรุ่งโรจน์มีกำไรสุทธิหลายพันล้าน ค่อยๆ ลดลงจนถึงขั้นขาดทุน โดยเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ปี 2558 บริษัทมีรายได้ 16,018 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,983 ล้านบาท มาปี 2559 รายได้ลดลงเหลือ 12,534 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,218 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ทรงๆ ที่ 11,226 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิลดฮวบเหลือเพียง 61.01 ล้านบาท ก่อนที่จะพลิกขาดทุนครั้งแรกตั้งแต่ดำเนินธุรกิจในปี 2561 จำนวน 330 ล้านบาท จากรายได้ค่าโฆษณาที่ลดลงอย่างหนัก และการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงาน โดยมีรายได้ 10,504 ล้านบาท
ล่าสุดในปี 2562 ขาดทุนสุทธิเพิ่มเป็น 397 ล้านบาท และรายได้ลดลงเหลือ 8,779 ล้านบาท ดูจากตัวเลข บอกได้คำเดียวว่า “เหนื่อย” การปฏิวัติองค์กรท่ามกลางขาลงของอุตสาหกรรมไปใช่งานง่ายอย่างแน่นอน ที่สำคัญนอกจากศึกภายนอกแล้ว ศึกภายในก็หินไม่น้อย ด้วยความที่เป็นธุรกิจครอบครัวปลุกปั้นมากับมือ การจะปล่อยให้คนนอกมา “กุมบังเหียน” คงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ในที่สุดเมื่อ “คนนอก” ต้องออกไป ทุกอย่างกลับมายืนอยู่จุดเดิม คนในตระกูลกลับมากุมอำนาจอีกครั้ง เปลี่ยนผ่านจากทายาทฝ่ายชาย มาเป็นฝ่ายหญิง ภายใต้การนำของ 3 พี่น้อง ได้แก่ “รัตนา มาลีนนท์” ดูแลกลุ่มงานสนับสนุนทั้งหมด “อัมพร มาลีนนท์” ดูกลุ่มงานผลิต งานข่าว งานรายการ และการออกอากาศ และ “รัชนี นิพัทธกุศล” ดูกลุ่มงานขาย การตลาด และธุรกิจดิจิทัล
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ดูตลาดตอบรับในเชิงบวก หลังราคาหุ้น BEC สัปดาห์ก่อน พุ่งแรงชนซิลลิ่ง 2 วันติด (23-24 เม.ย.) มาปิดที่ 4.62 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ 14.93% ท่ามกลางความหวังจากการเปลี่ยนทีมผู้บริหาร รวมทั้งสถานการณ์โรคระบาดที่เริ่มดีขึ้นทำให้คาดว่าภาคธุรกิจจะกลับมาเปิดดำเนินการและใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาในเร็วๆ นี้
สุดท้ายแล้วต้องรอพิสูจน์ว่า “ช่อง3” ยุคใหม่ ภายใต้การบริหารงานของ 3 แม่ทัพหญิง จะนำพาองค์กรสื่อยักษ์ใหญ่แห่งนี้ผ่านพ้นวิกฤตได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สถานการณ์ต่อจากนี้ท้าทายกว่ายุคของ “อริยะ” เพราะการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 จะนำมาสู่บรรทัดฐานใหม่ หรือ “New Normal” ที่ยากและท้าทายกว่าเดิม การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลจะเร็วและซับซ้อนขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรยักษ์ใหญ่ขนาดไหน ถ้าปรับตัวไม่ทันยากที่จะรอด
ภายใต้ความท้าทายครั้งนี้ พอจะมีข่าวดีอยู่บ้างสำหรับผู้ประกอบการสื่อสารมวลชน เพราะหลังโควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น ตามการรณรงค์ของรัฐบาล “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อป้องกันและยับยั้งการระบาดของโลก ส่งผลให้คนไทยกลับมาดูทีวีมากขึ้น
โดยข้อมูลจากบริษัท นีลเส็น มีเดีย ประเทศไทย ระบุว่า ค่าเฉลี่ยการดูทีวียาวนานขึ้นเป็น 4.31 ชั่วโมงต่อวัน จากเดิมที่ 4.03 ชั่วโมงต่อวัน โดยการรับชมช่วงไพรม์ไทม์ 20.20-22.30 น. เติบโต 29% จากเดิม 26% ส่วนช่วงเช้า 06.00-08.00 น. เติบโต 7% จากเดิม 6%
และหากเจาะลงไปรายกลุ่ม พบว่า อายุ 4-14 ปี ใช้เวลาดูทีวีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50 นาทีต่อวัน, อายุ 15-24 ปี เพิ่มขึ้น 12 นาทีต่อวัน, อายุ 35-39 ปี เพิ่มขึ้น 21 นาทีต่อวัน และอายุ 50 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 20 นาทีต่อวัน จึงเป็นโอกาสทองของผู้ผลิตในการนำเสนอรายการที่ตรงใจผู้บริโภคเพื่อดึงเรทติ้งช่วงนี้มาให้ได้
แต่ใช่ว่าทีวีจะโตอย่างเดียว สื่อดิจิทัลโตแรงเช่นกัน โดยยอดรับชมช่วงโควิด-19 เฉลี่ยอยู่ที่ 994 ล้านวิว เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนอยู่ที่ 712 ล้านวิว โดยข่าวมียอดวิวเพิ่มขึ้นถึง 73% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะพบผู้ป่วยติดเชื้อคนแรกในประเทศไทย
แม้จำนวนผู้รับชมทีวีและสื่อดิจิทัลจะเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันเม็ดเงินโฆษณายังหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซบจากพิษของโควิด-19 เม็ดเงินโฆษณาล่าสุดเดือน มี.ค. ลดลง 5% จึงเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ยังต้องเหนื่อยกันทั้งอุตสาหกรรม