ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19รายใหม่ในแรงงานต่างด้าว42ราย
ศบค.รายงานผู้ป่วยโควิด-19เพิ่ม 53 ราย คนไทย 11 ราย แรงงานต่างด้าว 42 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ขณะที่ 56 จังหวัดไร้ผู้ป่วยรายใหม่รอบ 14 วัน โซนเหนือยกภาคปลอด เร่งทำงานเชิงรุกมุ่งกลุ่มแรงงานต่างด้าว หลังปัจจัยเสี่ยงในประเทศเริ่มชะลอตัว
เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 25 เมษายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) แถลงข่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 53 ราย เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนไทย 11 ราย แยกย่อยเป็นผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 3 ราย กลุ่มไปสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 ราย และการค้นหาเชิงรุกในชุมชน จ.ยะลา 7 ราย และกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายที่ศูนย์กักขัง ตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา 42 ราย เป็นคนสัญชาติเมียนมาร์ 34 ราย เวียดนาม 3 ราย มาเลเซีย 2 ราย เยเมน 1 ราย กัมพูชา 1 รายและอินเดีย 1 ราย
ศบค.มีการหารือถึงตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการตรวจพบในแรงงานต่างด้าวที่ศูนย์กักขังฯมีสิ่งที่ควรต้องเรียนรู้ 5 ข้อ ได้แก่ 1.จากนโยบายของผอ.ศบค.ที่เห็นข่าวของประเทศสิงคโปร์พบแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก จึงให้นโยบายเชิงรุกการติดตามกลุ่มเสี่ยงนี้เป็นการเฉพาะ 2.ประเทศไทยมีการประกาศเขตโรคติดต่ออันตรายเพิ่มขึ้น 5 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศชายแดนติดต่อกับประเทศไทย เป็นการคุมเข้มขึ้นกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามา ทำให้เกิดการเข้าไปค้นหาผู้ป่วยมากขึ้น
3.กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)สงขลา ทำงานร่วมดูแลผู้ป่วยกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.)โดยส่งแพทย์ พยาบาลเข้าไปดูแล ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า 42 คนร่างกายยังแข็งดีเพราะเป็นวัยแรงงาน อาการยังไม่มาก แต่จะมีการเอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อทำให้ปอดอักเสบหรือไม่ 4.การให้การดูแลแรงงานต่างด้าวเป็นหลักการทางมนุษยธรรม แม้ไม่ใช่คนไทยและเข้ามาผิดกฎหมาย ก็ต้องดูแลเป็นความพยายามของรัฐไทยในการดูแลให้ปลอดโรค เพราะคนไทยจะปลอดภัยด้วย และ 5.ขอบคุณประชาชนชาวสงขลาที่มีไมตรีจิตร ที่ให้ใช้พื้นที่ในการดูแลคนต่างๆเพราะเป็นพื้นที่ที่มีขอบชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีเจ้าหน้าที่ด่านสะเดาติดเชื้อ จึงเกิดการขยายผลมาตรวจเชิงรุกจนเจอผู้ติดเชื้อในศูนย์กักขังนี้ และภาครัฐเข้าไปจำกัดพื้นที่และทำให้คนต่างด้าวได้รับการดูแลรักษาเป็นการทำงานเชิงรุก
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายไทย อายุ48 ปี อาชีพรับจ้าง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันซึ่งเป็นคนในครอบครัวที่มีการตรวจพบติดเชื้อ 4 คนมาก่อน คือน้องชายที่ทำงานสถานบันเทิงย่านทองหล่อ น้องสะใภ้ พ่อและแม่ โดยผู้เสียชีวิตมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ด้วยอาการไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ เข้ารับการตรวจที่รพ.ในกทม.ผลการตรวจปกติ จึงได้รับยากลับไปทานที่บ้าน แต่อาการไม่ดีขึ้นเข้ารับการรักษาที่รพ.อีกครั้งวันที่ 12 เมษายน 2563 มีไข้สูง 40 องศาเซลเซียส หายใจลำบาก ไอ ส่งตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 ผลยืนยันติดเชื้อ ต่อมาวันที่ 16 เมษายน 2563 อาการแย่ลง ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตวันที่ 24 เมษายน 2563 ด้วยภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19สะสม 2,907 ราย หายดีกลับบ้านแล้ว 2,547 ราย ยังอยู่รพ. 309 ราย และเสียชีวิต 51 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2563 จังหวัดที่รับรายงานรับรักษาผู้ป่วยรายใหม่ แยกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อน 9 จังหวัด คือ ชัยนาท ตราด สิงห์บุรี อ่างทอง กำแพงเพชร น่าน พิจิตร บึงกาฬ และระนอง 2.จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมา 12 จังหวัด จันทบุรี ราชบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ สุโขทัย อุทัยธานี มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด และอุดรธานี 3.จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 14-28 วันที่ผ่านมา 35 จังหวัด คือ เพชรบุรี กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ตรัง พัทลุง และสุราษฎร์ธานี 4.จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง7-14วันที่ผ่านมา 7 จังหวัด สมุทรสาคร เลย ขอนแก่น นครพนม นครศรีธรรมราช พังงา และสตูลและ5.จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 7 วันที่ผ่านมา 14 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ กระบี่ ชุมพร นราธิวาส ปัตตานี ภูเก็ต ยะลา และสงขลา ซึ่งจะเห็นได้ว่าในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือมีการดำเนินการมาตรการป้องกัน ควบคุมโรคได้เป็นอย่างดีไม่มีจังหวัดใดมีรายงานผู้ป่วยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
“จากการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อจากช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงกลางเดือนเมษายน พบว่าแนวโน้มการเจอผู้ติดเชื้อในคนที่ทำงานในสถานที่แออัด คนกลับจากต่างประเทศ สถานบันเทิง สนามมวย หายไปเพราะมีมาตการต่างๆเข้าไปดำเนินการ ทำให้จากที่เจอผู้ป่วยจำนวนมากลดน้อยและหายไป แต่มาเพิ่มผู้ป่วยรายใหม่ที่ศูนย์กักขังตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเกิดขึ้นจากการหาวิธีทางใหม่ๆเข้าไปค้นหาเชิงรุก ให้เจอกับผู้ป่วยให้ได้ จึงต้องไปตามหาผู้ป่วยในกลุ่มใหม่ๆในกลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศด้วย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2563 จะมีเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศไทย จากอิหร่าน 21 คน อินเดีย 171 คน และออสเตรเลีย 212 คน โดยทุกคนจะเข้าพักในสถานกักกันตัวของรัฐเป็นเวลา 14 วัน นอกจากนี้ ได้มีการเพิ่มมาตรการด้านการขนส่ง ขนถ่ายสินค้าบริเวณด่านพรมแดน เพื่อให้มีความปลอดภัยจากโรคและเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ แยกเป็นพื้นที่ควบคุม กำหนดพื้นที่ขนถ่ายสินค้าบริเวณด่านพรมแดน จัดให้มีจุดคัดกรองและให้มีการพ่นยาฆ่าเชื้อ และจัดให้มีที่พักสำหรับการกักตัว และ
มาตรการควบคุม กำชับผู้ขนส่งให้ขนถ่ายสินค้าด้วยความรวดเร็วและเมื่อเสร็จแล้วให้คนขับรถกลับประเทศของตนทันที ไม่ให้คนขับรถและผู้ประจำรถลงจากรถโดยไม่จำเป็น และคนขับรถและผู้ประจำรถของไทยต้องกลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายใน 7 ชั่วโมง ถ้ากลับเข้ามาไม่ทันจะต้องเข้าสู่มาตรการกักตัว 14 วัน