เมื่อ ‘Made in China’ ไม่ได้ ‘บริษัทข้ามชาติ’ ปรับตัวให้รอดอย่างไร

เมื่อ ‘Made in China’ ไม่ได้ ‘บริษัทข้ามชาติ’ ปรับตัวให้รอดอย่างไร

เมื่อสหรัฐใช้ ‘อาวุธภาษี’ บีบประเทศต่างๆ ให้เลือกข้างด้วยการจัดการบริษัทจีนที่ใช้ประเทศเหล่านั้นเป็นทางผ่านสินค้า เหล่าบริษัทข้ามชาติจึงเร่งปรับตัว มองหา ‘ตลาดใหม่’ ลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐลง และกระจายความเสี่ยง

เดิมที “จีน” เป็นฐานผลิตใหญ่ที่สุดของบริษัทข้ามชาติทั้งหลาย แต่เมื่อทรัมป์ปล่อย “อาวุธภาษี” ต่อจีนในระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปัจจุบันแตะที่ 145% แล้ว นี่คล้ายกับการบีบบริษัทข้ามชาติทั้งหลายไม่ให้ตั้งฐานผลิตในจีน

ไม่เพียงเท่านั้น เวียดนามที่โดนภาษีจากสหรัฐสูงถึง 46% แม้จะเสนอลดภาษีศุลกากรเหลือ 0% แต่สหรัฐยังคงปฏิเสธ พร้อมทั้งกดดันให้เวียดนามจัดการภายในประเทศ ไม่ให้จีนใช้เป็นฐานส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ หรือปล่อยให้บริษัทจีนแอบอ้างแหล่งผลิตเป็น “Made in Vietnam” แล้วส่งออกไปยังสหรัฐเช่นกัน

นี่ดูเหมือนเป็นแรงบีบให้แต่ละประเทศเลือกข้างระหว่าง “จีน” หรือ “สหรัฐ” กลายเป็นความท้าทายใหญ่ในการรักษาสมดุลทางการทูต เพราะสหรัฐเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทยที่พารายได้เข้าประเทศ

ขณะเดียวกัน วัตถุดิบราคาถูกจากจีน ก็ช่วยให้ต้นทุนสินค้าไทยไม่สูงเกินไปในการขายต่อ และยังมีส่วนช่วยลดระดับค่าครองชีพด้วย ซึ่งไม่ว่าเลือกอยู่ข้างใดก็เจ็บหนักเหมือนกัน

เมื่อ ‘Made in China’ ไม่ได้ ‘บริษัทข้ามชาติ’ ปรับตัวให้รอดอย่างไร - ทรัมป์กับสีจิ้นผิง (เครดิต: Reuters) -

ช่วงชุลมุน ก่อนภาษีทรัมป์บังคับใช้

ย้อนไปในช่วง “ก่อนเส้นตายภาษีทรัมป์ 9 เม.ย.” จะมีผลบังคับใช้ ตลาดหุ้นโกลาหลหนัก ทั่วโลกต่างหวาดหวั่นภาษีที่สูงลิ่ว สถานการณ์ยิ่งเร็วร้ายลง เมื่อจีนโต้กลับภาษี 104% จากสหรัฐด้วยภาษี 84%

ในช่วงเวลาบีบคั้นเช่นนี้ บริษัทต่าง ๆ เช่น Apple, Dell, Microsoft และ Lenovo จึงกดดันซัพพลายเออร์ให้รีบส่งสินค้าระดับพรีเมียมไปยังสหรัฐให้ได้มากที่สุดทางเครื่องบิน โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ที่มีราคาสูงกว่า 3,000 ดอลลาร์ (1 แสนบาท) หรือแม้แต่ iPhone เพราะเมื่อภาษีมีผลบังคับใช้ iPhone ที่ผลิตในจีน หากราคาเดิมอยู่ที่ราว 30,000 บาท จะพุ่งเป็น 60,000 บาทแทน

“เราได้รับโทรศัพท์จากลูกค้าให้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด และให้ส่งทางอากาศให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ผู้บริหารรายหนึ่งจากบริษัทซัพพลายเออร์ของ Apple, Microsoft และ Google ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย “แต่ความท้าทายใหญ่ที่สุดคือ เราไม่มีชิ้นส่วนและวัตถุดิบในสต๊อกมากพอ มีเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่เราสามารถจัดส่งได้ภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ก่อนที่ภาษีใหม่จะเริ่มบังคับใช้”

ไม่เพียงแต่บริษัทที่ตื่นตระหนก แม้แต่คนอเมริกันก็แห่ซื้อ iPhone ตุนเก็บไว้ด้วย ก่อนราคาจะแพงขึ้น 104%

ผู้จัดการคนหนึ่งจากบริษัทขนส่งทางอากาศอธิบายสถานการณ์นี้ว่า “ต้องแข่งกับเวลา!”

“ต้องผ่านพิธีศุลกากรให้เสร็จทั้งหมดก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 8 เมษายน ตามเวลาสหรัฐ ดังนั้น เราจึงได้รับคำร้องเร่งด่วนให้ขนส่งทางอากาศจากเอเชียมากขึ้น” ผู้จัดการรายนี้กล่าว

ในขณะเดียวกัน บางบริษัทก็ดูเหมือนตกใจจนไม่แน่ใจว่าจะรับมืออย่างไร เช่น บริษัทคอมพิวเตอร์ HP ในช่วงแรกได้แจ้งกับซัพพลายเออร์ว่า แทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ และขอให้ดำเนินตามแผนจัดส่งเดิม แต่ไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อมา บริษัท “กลับลำ” และเรียกร้องให้ซัพพลายเออร์เร่งจัดส่งสินค้าให้ได้มากที่สุดภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ต้อง Made in USA เท่านั้น ถึงจะรอด?

แม้ว่าภาษีทรัมป์ต่อประเทศต่าง ๆ ถูกเลื่อนออกไป 90 วัน แต่ “ไม่ได้หมายความว่า” ถูกยกเลิก ทรัมป์สามารถใช้ตัวเลขภาษีเหล่านี้บีบคั้นแต่ละประเทศได้อีก

แต่เดิม การเลือกสร้างฐานผลิตใน “ประเทศที่วางตัวเป็นกลาง” อาจรอดจากศึกมวยจีน-สหรัฐ แต่ในยุคทรัมป์กลับไม่ใช่แล้ว เพราะแม้แต่ “เวียดนาม” ที่เป็นขวัญใจบริษัทต่างชาติ ก็โดนภาษีทรัมป์สูงถึง 46% เพราะเกินดุลสหรัฐมาก

นี่อาจเป็น “จุดเปลี่ยน” หรือไม่ ว่าต่อไปการจะเลือกประเทศใดเป็นฐานผลิต อาจต้องดู “ยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐ” ด้วย โดยผู้บริหารของซัพพลายเออร์เทครายหนึ่งกล่าวว่า “ลูกค้าหลายรายของเราที่ก่อนหน้านี้เลือกเวียดนามแทนฟิลิปปินส์ ได้กลับมาหาเราในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ขอให้เราช่วยบรรจุและจัดส่งสินค้าจากโรงงานของเราในฟิลิปปินส์แทน เนื่องจากประเทศนี้เผชิญกับอัตราภาษีเพียง 17%”

ในระหว่างที่ฝุ่นฟุ้งตลบ “เม็กซิโก” ก็กลายเป็นฐานผลิตทางเลือกที่น่าสนใจขึ้นมา โดยบริษัท HP ได้ขอให้ซัพพลายเออร์ “เพิ่ม” กำลังการผลิตในเม็กซิโก ซึ่งในปัจจุบันเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าจากโรงงาน “ในไทย” และ “ในจีน”

ส่วนในประเด็น “เปลี่ยนเป็นผลิตในสหรัฐ” แทน จะได้ไม่โดนภาษีการค้าตามความฝันของทรัมป์ อันที่จริงแล้ว สหรัฐมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง ค่าพลังงาน ค่าวัตถุดิบในสหรัฐที่แพงกว่า หรือแม้แต่แรงงานในประเทศ ซึ่งหากไม่ต้องการทำงานจำเจ หรืองานในระดับล่างแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความยากในการหาแรงงานขึ้นอีก

ไม่เพียงแรงงานระดับล่าง แม้แต่ “แรงงานระดับสูง” ก็ขาดแคลนด้วย โดยตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงทิม คุก ซีอีโอของ Apple และสตีฟ จ็อบส์ อดีตผู้บริหารผู้ล่วงลับ คือ สหรัฐไม่มีแรงงานในภาคการผลิตเพียงพอเหมือนในประเทศอื่น ๆ  

“ในสหรัฐ คุณอาจจัดประชุมวิศวกรเครื่องมือ แล้วไม่แน่ใจว่าจะมีคนพอเติมห้องได้ แต่ในจีน คุณสามารถเติมคนได้หลายสนามฟุตบอลเลยทีเดียว” ทิม คุกกล่าว โดยคุกย้ำว่า เหตุผลที่บริษัท Apple พึ่งพาประเทศอย่างจีน ไม่ใช่เพราะแรงงานราคาถูก แต่เพราะคุณภาพของพนักงานที่มีทักษะและผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี

ในปัจจุบัน ด้วยภาษีต่อจีนที่สูงถึง 145% การนำเข้าเครื่อง iPhone ที่ผลิตในอินเดียแทน กลับชดเชยได้เพียง 20% เท่านั้น เพราะการผลิต iPhone กว่า 80% เกิดขึ้นในจีน โดย Apple กำลังอยู่ในระหว่างการขยายโรงงานใหม่ในอินเดีย ซึ่ง “ใช้เวลา”

รับมือความไม่แน่นอน ด้วยการหาตลาดนอกสหรัฐ

ท่ามกลางนโยบายทรัมป์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ประเด็นภาษีถูกหยิบยกขึ้นมาใช้บีบคั้นได้เสมอ หนึ่งในวิธีรับมือคือ “การหาตลาดใหม่” พร้อมกับ “ลดการพึ่งพา” ตลาดสหรัฐลง เหตุผลเพราะ ยิ่งเศรษฐกิจในประเทศผูกกับประเทศนั้นมากขึ้นเท่าไร “ความเป็นอิสระ” ในการกำหนดนโยบายก็ยิ่งน้อยลงตามไปด้วย

Lenovo ของจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก ได้สั่งให้ทีมงานมุ่งเน้นตลาดภายในจีน ประเทศตามแนวเส้นทางสายไหม (Belt and Road) ที่ยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน รวมถึงตลาดยุโรป โดย Lenovo ถือเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ “อันดับสาม” ในตลาดสหรัฐ มีส่วนแบ่งประมาณ 17% ตามหลังคู่แข่งสัญชาติอเมริกันอย่าง HP และ Dell ตามข้อมูลจาก Canalys บริษัทวิเคราะห์ตลาดเทคฯ

สำหรับ Acer ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่อันดับ 6 ของโลก ได้แจ้งกับซัพพลายเออร์ในทำนองเดียวกันว่า บริษัทจะให้ความสำคัญกับตลาดเกิดใหม่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยุโรปเป็น “ลำดับแรก”

“ยังมีความไม่แน่นอนมากเกินไป จนทำให้การตัดสินใจที่เป็นรูปธรรมเป็นเรื่องยากมาก การตัดสินใจใด ๆ ที่เราทำ อาจมีอายุเพียง 24, 48 หรือ 72 ชั่วโมง ก่อนที่จะต้องกลับมาทบทวนและปรับเปลี่ยนใหม่” ผู้บริหารจากซัพพลายเออร์ของ Lenovo, HP, Dell และ Asus กล่าว

“แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ เราได้รับคำร้องจากลูกค้าหลายรายที่บอกว่า พวกเขาตั้งใจที่จะเปลี่ยนโฟกัสไปยัง ‘ตลาดที่ไม่ใช่สหรัฐ’ ในปีนี้ โดยเน้นไปที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และยุโรป” ผู้บริหารรายนี้กล่าว

นอกจากนี้ ผู้บริหารของซัพพลายเออร์ที่ให้บริการแก่ Apple, Google และ Microsoft เปิดเผยว่า ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคทั่วโลกนั้น มีสัดส่วนอยู่นอกสหรัฐถึง 75-80% ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่บริษัทต่างๆ จะหันมาให้ความสำคัญกับตลาดเหล่านี้มากยิ่งขึ้น โดยสหรัฐไม่ใช่ตลาดทั้งหมด เมื่อห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีได้ถูกวางเครือข่ายการผลิตในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเม็กซิโกมาเป็นเวลานาน ความพยายามเหล่านี้จะไม่สูญเปล่า และเครือข่ายเหล่านี้ยังคงเป็นประโยชน์สำหรับตลาดอื่นๆ ทั่วโลกด้วย

“ในช่วงสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยีทวีความรุนแรงขึ้น เรามักมองโลกในมุมมอง 'จีนกับไม่ใช่จีน' แต่หลังจากภาษีตอบโต้ของทรัมป์ออกมา เราต้องมองโลกใหม่จากมุมมอง 'สหรัฐกับส่วนที่เหลือของโลก’ แทน” ผู้จัดหาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้บริการแก่ HP, Dell และ Apple กล่าว

สะท้อนว่าความตึงเครียดที่ขยายออกไป จากเดิมที่เป็น “ความขัดแย้งสหรัฐกับจีน” ไปเป็น “ความขัดแย้งสหรัฐกับหลายประเทศทั่วโลก” และนี่เป็นยุคที่สหรัฐยึด “ผลประโยชน์ที่จะได้” เหนือกว่าหลักการหรือความสัมพันธ์อันยาวนาน

อ้างอิง: guardiannikkeidwreuters