'โควิด-19'ในไทยถอยสู่สถานการณ์'ระบาดวงจำกัด'
สธ.เผยสถานการณ์โควิด-19ไทย ถอยกลับสู่การระบาดในวงจำกัด กำจัดเชื้อหมดจากประเทศเป็นไปไม่ได้ กำชับ 9 มาตรการหลักต้องทำต่ออย่างเข้มข้น รวม “ทำงานที่บ้าน” ส่วน 4 มาตรการเสริมคุมโรคเตรียมผ่อนปรน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 เมษายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ทีมวางแผนและยุทธศาสตรืได้ปรับระยะของการระบาดโรคโควิด-19ใหม่ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.ไม่มีผู้ป่วยหรือแพร่ระบาดในวงจำกัด 2.ระบาดต่อเนื่องมีผู้ป่วยมากขึ้น และ3.การแพร่ระบาดระดับวิกฤติ หมายถึงระยะที่มีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากเกินกว่าศักยภาพของสถานพยาบาลจะรองรับได้ ซึ่งไม่ได้เกิดในระดับประเทศแต่อาจจะเป็นในระดับบางพื้นที่หรือบางจังหวัด และหวังว่าจะไม่มีพื้นที่หรือจังหวัดใดเกิดการแพร่ระบาดถึงระดับนี้ โดยการระบาดในแต่ละระดับจะมีมาตรการการรับมือที่แตกต่างกัน โดยจัดการตามสถานการณ์ารแพร่ระบาดที่อาจจะเจอได้ แต่เมื่อมีวัคซีนป้องกันก็จะเข้าสู่ระยะสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและเข้าสู่ระยะฟื้นฟู
นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้างขวาง แต่ปัจจุบันสถานการณ์ถอยกลับมาอยู่ในระดับการแพร่ระบาดวงจำกัด แต่มาตรการสำคัญที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องต่อไป คือ 1.การสร้างเสริมความรอบรู้ด้านการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 2.การส่งเสริมอนามัยส่วนบุคคล 3.การเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น การค้นหาผู้ป่วยรายใหม่เชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เจอผู้ป่วยโดยเร็วและตัดวงจรการแพร่ระบาดได้เร็วที่สุด 4.การสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัสให้ได้ครบจน 14 วัน 5.การเตรียมความพร้อมระบบการจัดการภาวะฉุกเฉิน 6.การจัดการกลุ่มที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง คือผู้สูงอายุและโรคประจำตัวเรื้อรัง 7.การเตรียมความพร้อมและจัดระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย 8.การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล และ9เพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล(Social Distancing) การให้ทำงานที่บ้าน(work from home) การเหลื่อมเวลาทำงาน การเรียนรู้ออนไลน์จะต้องดำเนินการต่อไป รวมถึง การทำธุรกรรมออนไลน์ทั้งภาครัฐและเอกชน ช็อปปิ้งออนไลน์ หรือธนาคารออนไลน์ และปรับปรุงสถานประกอบการ ร้านค้า และกิจกรรมต่างๆให้สอดรับกับการป้องกันโรค เช่น รถโดยสารสาธารณะควรที่จะเพิ่มความถี่ในรอบรถเพื่อจำกัดปริมาณคนแต่ละรอบไม่ให้หนาแน่น เป็นต้น ส่วนมาตรการที่จะทยอยผ่อนปรนส่วนจะอันไหนก่อนหรือชะลออันไหนไว้ก่อนต้องรอฟังประกาศอย่างเป็นทางการจากศบค.
สำหรับมาตรการที่จะได้รับการผ่อนปรนก็คือมาตรการภาคบังคับจากภาครัฐที่ถือเป็นมาตรการเสริมในการควบคุมโรคก่อนหน้านี้ มี 4 มาตรการ คือ 1.การจำกัดการเดินทาง อีกสักพักน่าจะมีการพิจารณาจะเริ่มทยอยอนุญาตให้เดินทางกว้างขวางในประเทศได้ 2.ปิดกิจการหรือสถานที่ที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ 3.จะทยอยปิด/เปิดกิจการหรือสถานที่ตามระดับความเสี่ยง และ4.ประกาศห้ามออกจากเคหะสถานในบางเวลา ซึ่งหลักการทั่วไปในการผ่อนคลายมาตรการภาคบังคับ จะทยอยผ่อนคลายมาตราการตามระดับความเสี่ยง และความเป็นของกิจการและสถานที่ มีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และต้องมีการปรับปรุงกิจการและสถานที่ประกอบการทุกแห่งให้มีความเสี่ยงต่ำลงในเชิงโครงสร้างและวิธีการให้บริการ
“การที่ให้กิจการต่างๆทยอยเปิดบริการได้นั้น ไม่ใช่ไม่มีคนป่วยหรือเชื้อในประเทศไทยแล้ว เพราะการกำจัดโรคให้หมดไปจากประเทศนั้นเป็นเรื่องยากมาก แต่สิ่งที่ตั้งเป้าคือยอมให้มีการแพร่ระบาดในระดับต่ำสุดที่สุด และไม่ให้กลับไปมีการป่วยเพิ่มมากขึ้นอีก หรือมีกลุ่มก้อนขนาดใหญ่เกิดขึ้นอีก เหมือนที่ผ่านมา เช่น สนามมวย สถานบันเทิง และความเสี่ยงเมื่อเริ่มกลับมาใช้ชีวิตและเปิดกิจการต่างๆ ยังต้องรักษาความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด ถ้าออกมาสถานที่แออัดก็จะเสี่ยงมีผู้ป่วยมากขึ้น จึงต้องมีรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลไว้ต่อไป และทำให้กิจการต่างๆมีระดับความเสี่ยงต่ำสุด หลักคิดในการใช้ชีวิตหลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการ จะต้องระมัดระวังตลอดเวลา รักษาความเสี่ยงให้ต่ำต่อไป”นพ.ธนรักษ์กล่าว