อินโดนีเซียไฟเขียวเปิดตลาดอัญชันไทย
กรมวิชาการเกษตร ดันดอกอัญชันไทยเจาะตลาดอินโดนีเซีย เริ่ม พ.ค.นี้ ชี้ได้ราคาสูงกว่ากก.ละ 4,000 บาท
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรในฐานะเป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) ของประเทศไทย ได้ดำเนินการยื่นขอเปิดตลาดและส่งข้อมูลทางวิชาการประกอบการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชดอกอัญชันแห้งเสนอหน่วยงานกักกันพืช กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซีย Indonesian Agricultural Quarantine Agency (IAQA) เพื่อพิจารณาเมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค. 2562
พร้อมกับได้มีการประสานงานเพื่อติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องจนได้รับหนังสือตอบรับจากหน่วยงานกักกันพืชของอินโดนีเซียเมื่อเร็วๆ นี้ แจ้งว่าการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของดอกอัญชันแห้งจากประเทศไทยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมส่งร่างข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืชของดอกอัญชันแห้งจากประเทศไทยเสนอกรมวิชาการเกษตรเพื่อพิจารณา ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้มีหนังสือตอบยอมรับข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืชฯ แจ้งหน่วยงานกักกันพืชของอินโดนีเซียเรียบร้อยแล้ว
โดยไทยสามารถส่งออกดอกอัญชัน ได้ภายในเดือนพ.ค. 2563 ผู้ประกอบการที่มีความสนใจจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืช ประกอบด้วยต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Requirement) ซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตรแนบไปพร้อมกับสินค้า สินค้าต้องไม่มีการปนเปื้อนแมลงที่มีชีวิต ศัตรูพืชชนิดอื่น ๆ วัชพืช ดิน ราก หรือวัสดุที่สามารถนำพาศัตรูพืชได้ ต้องผ่านการทำความสะอาด อบแห้งด้วยความร้อนในเตาอบที่อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง และบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่แสดงฉลากเพื่อใช้ในการทวนสอบได้
ทั้งนี้อัญชันจัดเป็น 1 ในพืชสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์มากมายที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง เนื่องจากมีสารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) เป็นสารสำคัญมากกว่าพืชชนิดอื่นถึง 10 เท่า มีคุณสมบัติช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ลดอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด บำรุงสายตา ลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระในดอกอัญชันยังยังช่วยบำรุงผิวพรรณและชะลอริ้วรอยแห่งวัยได้ด้วย
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกดอกอัญชันแห้งไปหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี มาเลเซีย และออสเตรเลีย โดยเฉพาะออสเตรเลียมีมูลค่าส่งออกสูงถึง 4,000 บาทต่อกิโลกรัม
“สมุนไพรของไทยเป็นที่สนใจของตลาดต่างประเทศอีกมากแต่การส่งออกสินค้าแต่ละชนิดต้องยื่นผลวิเคราะห์ความเสี่ยงของแมลงศัตรูพืชประกอบด้วย จึงต้องใช้ระยะเวลาเจรจากรณีอัญชัน ในตลาดอินโดนีเซียใช้เวลาเพียง 4 เดือน ถือว่ามีความรวดเร็วมาก”