โควิด-19 กับ การเรียนรู้จากของจริง
"ศ.นพ.ยง" ระบุ โควิด-19 กับ การเรียนรู้จากของจริง การเรียนที่ดีที่สุดที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ จะต้องเป็นภาคปฏิบัติ การท่องตำราแล้วเอาไปใช้ไม่ได้
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 63 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan โดยเนื้อหาระบุว่า...
โควิด 19 กับ การเรียนรู้จากของจริง
เล่าเรื่องคุณหมอโนกุจิ อยากจะโยงมาถึง โควิด-19 การเรียนการสอน หรือจะให้เข้าใจจริงๆ สู้ภาคปฏิบัติ หรือทำจริงๆ เลยไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน โควิด-19 หลายคน อ่านแล้วเอามาโพสต์ ก็สู้ผู้ที่ทำจริง แล้วเอามาเผยแพร่ความรู้ไม่ได้
บางครั้งอาจเอาเรื่องที่การศึกษาพบได้น้อยมาก ในโควิด-19 แล้วก็เอามาเผยแพร่ เล่นเอาคนตกใจกันทั้งเมือง คุณหมอโนกุจิเมื่อจบใหม่ๆ เกิดกาฬโรคระบาดที่เมืองจีน ต้องการหมอญี่ปุ่นไปช่วยปราบโรคกาฬโรค หมอญี่ปุ่นอาสาไป 15 คน มีหมอโนกุจิไปด้วย เดินทางสมัยนั้นไปทางเรือใช้เวลา 15 วัน หมอ 14 คนเอาตำราภาษาจีนมานั่งท่องระหว่างอยู่ในเรือ แต่คุณหมอโนกุจิไม่มีตำราภาษาจีนแม้แต่เล่มเดียว เมื่อลงเรือก็ไปคลุกคลีกับลูกเรือชาวจีนใต้ท้องเรือ เมื่อไปถึงเมืองจีน คนที่พูดภาษาจีนรู้เรื่องและดีที่สุดคือคุณหมอโนกุจิ คนที่ท่องตำรา เมื่อไปถึงเมืองจีนพูดและฟังภาษาจีนไม่ได้ เหมือนกับที่เราเรียนภาษาอังกฤษ 12 ปีแต่ไม่สามารถใช้ได้เลย เจอฝรั่งวิ่งหนีหมด
สอนให้เรารู้ว่าการเรียนที่ดีที่สุดที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ จะต้องเป็นภาคปฏิบัติ การท่องตำราแล้วเอาไปใช้ไม่ได้ อย่างที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่เกิดประโยชน์ใดเลย เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก จนจบมหาวิทยาลัย แต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ที่จริงก็ไม่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพราะเห็นตัวเลขของ โควิด-19 เริ่มลดลง R0 ต่ำกว่า 1 มาหลายวันแล้ว แต่อย่าเพิ่งไว้วางใจ เราจำเป็นต้องเปิดทาง ให้ทุกคนทำมาหากินได้แบบพอเพียง แต่ก็ต้องควบคุมไม่ให้มีการระบาด แต่ถ้ามีผู้ป่วยเป็นหลัก 100 ต้นๆ ต่อวัน ระบบสาธารณสุขของเรา ก็จะรองรับได้ ถ้ามากกว่านี้ ก็รับไม่ได้ จะศูนย์เสียมาก และสิ่งที่สำคัญโรคนี้จะต้องไม่ไปเกิดกับผู้ที่อ่อนไหวง่าย หรือผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และรอเวลาที่มียารักษาที่ดีกว่านี้ และมีวัคซีนในการป้องกัน ทุกอย่างก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ทุกคนอยู่ได้