CIBA มธบ.ชี้ระบบเรียนออนไลน์ฉลุย

CIBA มธบ.ชี้ระบบเรียนออนไลน์ฉลุย

 CIBA มธบ. เผยการเรียนการสอนระบบออนไลน์ฉลุย เหตุเด็กเก่งเทคโนโลยี คุ้นเคยกับระบบและเครื่องมือ ด้วยมหาวิทยาลัยมีความพร้อมเปิดสอนมาก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 แต่ที่ผ่านมาเรียนผ่านออนไลน์อาจยังไม่เป็นนิยมมากนัก ด้วยน.ศ.ยังชอบปฎิสัมพันธ์ในชั้นเรียนมากกว่า

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด –19 มหาวิทยาลัยได้ปรับการเรียนการสอนในห้องเรียนโดยจัดการเรียนการสอนออนไลน์ทดแทน สำหรับ CIBA นักศึกษาและบุคลากรได้มีการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์และมีการใช้เครื่องมือ โปรแกรมต่างๆ อยู่แล้ว จึงคุ้นเคยกับระบบเทคโนโลยี

โดยนักศึกษาของวิทยาลัย CIBA ได้รับแจกไอแพดจากมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 1 ภาคเรียนที่ 2 ดังนั้น นักศึกษาจึงมีอุปกรณ์พร้อมในการเรียนประกอบกับเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสามารถใช้เทคโนโลยี เครื่องมือต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยมีความพร้อมอยู่แล้วจึงปรับตัวได้เร็วเมื่อเกิดวิกฤติ

“ส่วนของเนื้อหาการเรียนการสอนได้กำหนดให้อาจารย์จัดแบ่งการเรียนการสอน เป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า (3 ชั่วโมง) และช่วงบ่าย (3 ชั่วโมง) ในแต่ละช่วงจะแบ่งเป็น 2 section แต่ละ section ประกอบด้วย 1.30 ชม ซึ่งการสอนแบบไลฟ์สดดังกล่าว กำหนดให้แต่ละsection จะมีการแบ่งการไลฟ์โดยกำหนดให้ไลฟ์ครั้งละ 15-20 นาที แต่สูงสุดไม่เกิน 50 นาที และอีก 30 นาที กำหนดให้นักศึกษาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนวิเคราะห์จากกรณีศึกษา เมื่อเสร็จสิ้นก็จะดำเนินการสอนในแต่ละ section เช่นนี้ต่อไป จนกว่าจะครบทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย” คณบดีCIBA กล่าว

158858409999

เมื่อการดำเนินการสอนแบบไลฟ์และการทำกรณีศึกษาเสร็จสิ้น อาจารย์ผู้สอนก็จะมอบหมายงานให้นักศึกษาจัดทำโปรเจค ที่สอดคล้องกับวีดีโอคลิปที่อาจารย์มอบหมายให้ เพื่อเป็นการทบทวนบทเรียนที่ได้เรียนรู้ไปในแต่ละวัน ทั้งนี้วีดีโอคลิปดังกล่าว จะมีความยาวไม่เกินกว่า 8 นาที เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจของให้นักศึกษาในการทบทวนได้เป้นอย่างดี และการทบทวนจากวีดิโอคลิปดังกล่าวจะถูกนำมาตั้งเป็นคำถามกับนักศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสรุปผลร่วมกันก่อนเริ่มเรียนในบทเรียนถัดไป ทั้งนี้การเรียนการสอนแบบไลฟ์นี้จะเหมาะกับนักศึกษา 30-40 คนต่อชั้นเรียนเท่านั้น

ทั้งนี้ สำหรับคลาสเรียนขนาดใหญ่ ที่มีนักศึกษาประมาณ 80 คน ผู้สอนควรจะใช้ Google docs หรือ Google Sheets ควบคู่กับโปรแกรม Zoom Video Conferencing  เพื่อให้เกิดการระดมสมองร่วมกันระหว่างนักศึกษาในชั้นเรียน และใช้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เนื่องจากการสอนออนไลน์แบบไลฟ์สดนั้น จะแตกต่างอย่างมากกับการเรียนในชั้นเรียน

เนื่องจากอาจารย์ไม่สามารถสังเกตหน้าตาของนักศึกษาที่กำลังสงสัย หรือเวลาที่นักศึกษาตั้งคำถาม อาจารย์จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เครื่องมือที่ได้กล่าวข้างต้นมาช่วยเพื่อเพิ่มพูนกระบวนการเรียนรู้ นอกจากนั้น ทางวิทยาลัย CIBA มีการอบรมทำความเข้าใจกับอาจารย์เกี่ยวกับการสอนออนไลน์ แม้ว่าอาจารย์จะมีความคุ้นชินอยู่แล้ว แต่ก็มีบางอย่างที่อาจารย์ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมร่วมกัน เช่น การเลือกใช้สี เลือกใช้ตัวอักษร เพื่อทำให้นักศึกษาสนใจการเรียนแบบออนไลน์เพิ่มมากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวในตอนท้ายว่า การเรียนการสอนออนไลน์นั้น เหมาะกับการเรียนของเด็กยุคใหม่ที่เข้าใจและใช้เทคโนโลยีได้อย่างชำนาญอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการใช้ระบบสอนออนไลน์ทั้งหมด กลับพบว่า กลุ่มนักศึกษาที่ชื่นชอบการเรียนออนไลน์นั้น เป็นกลุ่มนักศึกษาภาคพิเศษ (ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ทำงานอยู่แล้ว)

พวกเขามองว่าเหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มของนักศึกษาภาคปกติ ถึงแม้ว่าจะเรียนออนไลน์ได้ดี แต่ด้วยความเป็นมนุษย์สังคม ยังอยากมีปฎิสัมพันธ์ อยากมาสื่อสาร อยากมาเรียนรู้กับผู้อื่นในชั้นเรียนมากกว่า ดังนั้น ถ้าให้วิเคราะห์ในขณะนี้ การเรียนการสอนผ่านออนไลน์ทั้งหมดนั้น อาจจะยังไม่เป็นที่นิยมของนักศึกษามากนัก เพราะนักศึกษาไทย คนไทยยังคงชอบปฎิสัมพันธ์ พูดคุยสื่อสารกันมากกว่า