อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าวัคซีนพัฒนาไม่ได้?
ความหวังในหยุดการระบาดของโควิด-19 นี้คือวัคซีน แต่ก็มีความเป็นได้ในทางที่แย่ที่สุดคือ การที่ไม่สามารพัฒนาวัคซีนที่ว่านั่นได้ ซึ่งในอดีตก็เคยมีโรคที่ไม่สามารถพัฒนาวัคซีนมารักษาได้มาแล้ว
ในขณะที่หลายต่อหลายประเทศถูกแช่แข็งภายใต้มาตรการล็อคดาวน์ และวิถีชีวิตผู้คนนับล้านได้รับผลกระทบ บุคคลสาธารณะบางคนยังหยอกล้อได้ว่าค้บพบวิธีหยุดการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ได้แล้ว นั่นคือวัคซีน
แต่มันมีความเป็นไปได้อีกทางที่แย่สุดๆ นั่นคือ เราอาจจะไม่สามารถพัฒนาวัคซีนที่ว่านั่นขึ้นมาได้ และถ้าเป็นอย่างนั้นก็เป็นการดับความหวังของผู้คนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แทนที่จะพยายามขจัดโควิดไปจากโลก หรือบางทีเราอาจต้องเรียนรู้ที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่กับมัน
ในขณะที่หลายแห่งกำลังจะกลับมาเริ่มเปิดทำการ และนักการเมืองก็พูดถึงเรื่องการพัฒนาวัคซีนที่มาถึงขั้นการทดลองในคนแล้ว แต่อีกความเป็นไปได้ที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคกำลังซีเรียสอยู่ในเวลานี้คือ อาจไม่มีวัคซีนมารักษาโควิด ซึ่งก็เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หลายๆครั้งในอดีต
ดร.เดวิด นาบาร์โร ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขระดับโลกจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน และที่ปรึกษาโรคโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ได้กล่าวว่า "มันมีไวรัสจำนวนหนึ่งที่เรายังไม่มีวัคซีนรักษา เราไม่สามารถสันนิษฐานได้เต็มร้อยว่าจะมีวัคซีน หรือถ้ามีมันจะผ่านการทดลองประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้หรือไม่"
"มันเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่สังคมในทุกที่ทั่วโลกดำรงตนอยู่ในจุดที่จะต่อกรกับไวรัสเหมือนกับว่ามันเป็นภัยคุกคามอยู่อย่างนั้น และสามารถที่จะใช้ชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปได้โดยตระหนักถึงไวรัส" ดร.นาบาร์โรกล่าวกับซีเอ็นเอ็นวานนี้
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 นี้ได้ ส่วนหนึ่งเพราะไวรัสตัวนี้ไม่ได้กลายพันธุ์เร็ว อย่างที่พบในเชื้อโรคตัวก่อนๆ อย่างมาลาเรียหรือเอดส์ (HIV)
แต่อีกหลายๆ คน รวมทั้งดร.แอนโธนี ฟอว์ซีย์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและภูมิคุ้มกันบกพร่องของสหรัฐฯ กล่าวว่า "มันอาจต้องใช้เวลาเป็นปีหรือปีครึ่งเลยทีเดียว ในการพัฒนาวัคซีน"
หรืออย่างคริส วิตตี้ ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของอังกฤษก็ประเมินไว้ว่า อย่างน้อยๆ ก็หนึ่งปีหรือเร็วกว่านั้น แต่หากการพัฒนาวัคซีนเกิดขึ้นได้จริงในเวลาเหล่านี้ นั่นจะเป็นชัยชนะอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
"เราไม่เคยเร่งการพัฒนาวัคซีนในเวลาหนึ่งปีหนือปีครึ่งเลย มันไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่มันจะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาก เราจำเป็นที่จะต้องมีแพลน A แล้วก็ แพลน B ด้วย" ดร. ปีเตอร์ โฮเตส อธิการบดีของวิทยาลัยเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งชาติของวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ในฮุสตันกล่าว
เมื่อวัคซีนไม่เวิร์ค
เกือบ 4 ทศวรรษ ที่มีคนกว่า 32 ล้านคนล้มตาย โลกก็ยังเฝ้ารอวัคซีนรักษาโรคเอดส์ (HIV) เป็นเวลาหลายปีที่การตรวจแล้วผลออกมาเป็นบวกไม่ได้หมายถึงแค่โทษประหาร แต่ยังหมายถึงคนๆ นั้นรับประกันได้เลยว่าจะถูกทอดทิ้งโดยชุมชนของเขาในวาระสุดท้ายของชีวิต ในขณะที่แพทย์ก็เอาแต่ถกในวารสารทางการแพทย์ว่าคุ้มไหมที่จะรักษาคนเหล่านี้
การค้นหาวิธีรักษาโรคเอดส์ไม่ได้จบในช่วงทศวรรษ 80 โดยในปี 2540 ประธานาธิบดีบิล คลิตัน ได้ท้าทายให้สหรัฐฯ ค้นหาวัคซีนให้ได้ แต่ภายในสิบปี 14 ปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ยังต้องใช้เวลาอีกเป็นสิบปีที่จะพัฒนาวัคซีน ความยุ่งยากในการหาวัคซีนรักษาโรคเอดส์ มาจากธรรมชาติของตัวไวรัสเอง
"อย่างไวรัสหวัดสามารถเปลี่ยนตัวเองจากปีหนึ่งไปอีกปีหนึ่ง ทำให้ภูมิคุ้มกันธรรมชาติที่เกิดขึ้นของปีก่อนๆ ไม่ได้ช่วยคุ้มกันคนในปีถัดไป และไวรัสเอดส์ก็เป็นแบบนั้น มันกลายพันธุ์ในตัวคุณ มันเหมือนกับคุณติดเชื้อเอดส์เป็นพันสายพันธุ์ และในเวลาที่มันกำลังกลายพันธุ์ มันก็จะทำลายภูมิคุ้มกันของคุณไปด้วย" พอล ออฟฟิท ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อที่ร่วมพัฒนาวัคซีนโรต้าไวรัสอธิบาย
ในขณะที่ไวรัสเอดส์สร้างความยากลำบากที่เป็นรูปแบบเฉพาะตัวมากต่อการพัฒนาวัคซีน แต่โควิคไม่ได้มีลักษณะหลบเร้นในระดับนั้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังมีความหวังในการค้นหาวัคซีนรักษามัน
แต่มันก็มีเชื้อโรคอื่นๆ ที่ทำให้นักวิทยาศาตร์และร่างกายของเราเองสับสน อย่างวัคซีนรักษาไข้เลือดออกที่ทำให้คนเสียชีวิตกว่า 4 แสนราย ก็เป็นเวลาหลายทศวรรษที่หลบรอดจากความสามารถของแพทย์ในการรักษา ในปี 2560 ความพยายามที่จะพัฒนาวัคซีนต้องล้มเลิกเพราะมันกลับทำให้อาการคนไข้แย่ลง
คล้ายๆ กันมันเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะพัฒนาวัคซีนสำหรับไรโนไวรัส และอดีโนไวรัสที่ทำให้เกิดหวัดทั่วไปและการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งก็เหมือนกับโคโรนาไวรัสที่สามารถทำให้เกิดอาการคล้ายหวัด มีวัคซีนเพียงชนิดเดียวที่ช่วยป้องกันอดีโนไวรัสสองสายพันธุ์ได้ แต่ก็ยังไม่ได้มีวางขายทั่วไป
"คุณเต็มไปด้วยความหวัง แล้วความหวังคุณก็ถูกดับลง เรากำลังดีลกับระบบชีวภาพ เราไม่ได้ดีลกับเครื่องยนต์กลไก มันจึงขึ้นอยู่กับว่าร่างกายเราจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเป็นอย่างมาก" ดร. เนบาร์โรกล่าวถึงกระบวนการที่ช้าและยุ่งยากในการพัฒนาวัคซีน