การเรียนรู้ยุคโควิด-19 'Learn from Home' กับโลก 'Cyber Space'
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งทำให้การเปลี่ยนแปลงในสังคมมนุษย์ ทั้งการก้าวสู่ New Normal หรือชีวิตวิถีใหม่ การเรียนการสอนจากออฟไลน์ สู่ออนไลน์ และการเปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงเรียนในช่วงที่ต้อง Social Distancing พ่อแม่ ครู ต้องปรับตัว เตรียมพร้อม
รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ที่ปรึกษา คิวบิก ครีเอทีฟ กล่าวว่า ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงตามวิวัฒนาการ ตามความก้าวหน้า และความเจริญเติบโตของเทคโนโลยี ถึงแม้ว่าไม่มีโควิด-19 การศึกษาก็เปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ สมัยก่อนเราเรียนกันอยู่ใต้ต้นไม้ ใช้กระดานชนวน ต่อมาก็มีการจัดระบบการศึกษาเป็นโรงเรียน เพื่อให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนกระทั้ง มีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต การเกิดใหม่ของเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงจาก Physical Object ไปสู่ Digital Object สิ่งของอะไรก็ตามที่เราจับต้องได้ สมุด ดินสอ ปากกา ยางลบ วงเวียน หนังสือ จะทรานฟอร์มตัวมันเองไปสู่ดิจิทัล
“การเปลี่ยนแปลงมาจนกระทั่งในวันนี้ เทคโนโลยีทำให้เรามีโลก 2 โลก โลกหนึ่ง เรียกว่า โลกกายภาพ (Physical) เราต้องมีสังคม เจอหน้ากัน ไปโรงเรียน เด็กมาเจอกับครู ครูสอนหนังสือ ขณะเดียวกัน ก็มีโลก Cyber Space ก็เติบโตเรื่อยๆ เราจะเห็นว่าบนแพลตฟอร์มบนโลกไซเบอร์ไม่ใช่เพิ่งมี แต่ค่อยๆ พัฒนามา เด็กอยู่ในโลก Cyber Space ผ่านการเล่นเกม ต่อมามีไลน์ ทวิตเตอร์ โซเชียลเน็ตเวิร์ค มีแพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับด้านการเงิน เป็นการทรานฟอร์มไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ซึ่งโลกไซเบอร์เกิดทีหลัง แต่โตเร็ว” รศ.ยืนกล่าว
- โควิด-19 ตัวเร่งสู่โลกออนไลน์
รศ.ยืน กล่าวต่อไปว่า พอโควิด-19 มา ในจังหวะที่เทคโนโลยีมาถึงจุดๆ หนึ่ง สถานการณ์ที่เราต้องคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด สิ่งแรก คือ Social Distancing ลดการพบปะกัน นั่นหมายถึงลดโลกทางกายภาพลง และไปเจอในโลกไซเบอร์มากขึ้น โรงเรียนซึ่งเป็นสังคมต้องหยุด การศึกษาต้องอาศัยโลกที่อยู่บนไซเบอร์มากขึ้น ทำให้การก้าวสู่โลกไซเบอร์เร็วขึ้นกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็น Work From Home หรือกรณีของการเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ และแพทย์ตรวจรักษาผ่านระบบออนไลน์ ดังนั้น ยุคโควิด ที่ทั่วโลกปิดโรงเรียน เด็กกว่า 1,700 ล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน หรือในประเทศไทยมีเด็กการศึกษาขั้นพื้นฐานราว 10 ล้านคนต้องหยุด แต่การศึกษาหยุดไม่ได้ เราจะให้เวลาเขาหายไป 1 ปี และไปเรียนอีกทีปีหน้าเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น พอโควิดมา จึงต้องเปลี่ยนเป็น Learn From Home และใช้ Cyber Space เข้ามาช่วย
“อย่างไรก็ตาม โลกของ Cyber Space คือ การนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ในวันนี้มาใช้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าถึงเทคโนโลยีได้หมด แต่แน่นอนว่าการศึกษาก็ต้องไม่หยุด ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เดินไปข้างหน้า เราเลื่อนเปิดเทอมไป 1 ก.ค. คำถามคือ หลังจาก 1 ก.ค. เด็กยังไปโรงเรียนได้หรือไม่ ยังไม่มีใครรู้”
“อ.ยง (นพ.ยง ภู่วรวรรณ) พูดเสมอว่า โควิด คือ มาราธอน มันไม่ได้หมดไปภายใน 2 -3 เดือน อาจจะใช้เวลาเป็นปี หรือสองปี แน่นอนที่สุดว่า เทอมแรกอาจจะขลุกขลักในการไปโรงเรียน แต่เด็กเวลาหายไปไม่ได้ เพราะเขาต้องโตขึ้นตลอดเวลา ต้องมีการศึกษา แต่การศึกษาในลักษณะนี้ ถ้าเด็กอยู่บ้านสิ่งที่เด็กต้องการ คือ Learn From Home เพื่อไม่ให้ช่วงเวลาของเด็กหายไป”
- เปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงเรียน
ทั้งนี้ รศ. ยืน อธิบายว่า การ Learn From Home ต้องทำให้เป็น Home-Based Learning หมายความว่า บ้านต้องเป็นโรงเรียนให้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องเรียนบน Cyber Space เท่านั้น เช่น การทำอาหาร สามารถให้เด็กมาเรียนรู้ว่า การใช้พลังงาน ความร้อน วิธีการทางด้านเคมี น้ำส้มสายชู ฯลฯ เปรียบเสมือนการเรียนที่บ้าน แม้แต่การกวาดบ้าน มันคือ คานงัดแบบไหน จุดหมุนอยู่ตรงไหน เพื่อให้ใช้แรงน้อย เป็นวิธีของการเปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียน
“วันนี้เรามีครูราว 6 แสนคน เด็กการศึกษาขั้นพื้นฐานราว 10 ล้านคน หมายความว่าครู 1 คนต้องดูแลเด็กราว 20 คน วันนี้นิเวศน์ด้านดิจิทัลเปลี่ยน เรามีเทคโนโลยีอยู่รอบตัวทั้งทีวี สมาร์ทโฟน ฯลฯ หากเด็ก 90% มีโทรศัพท์มือถือ แต่อีก 10% ไม่มี ต้องมองหาวิธีว่าอีก 10% ที่เหลือจะมีวิธีอื่นหรือไม่ ต้องมาช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันดูแล”
- ครู-ผู้ปกครอง ต้องเปลี่ยน
รศ.ยืน กล่าวต่อไปว่า สมมุตเด็กไปโรงเรียนไม่ได้สักปีหนึ่ง เสนอว่าให้เด็กเรียนที่บ้าน และไปทำการบ้านที่โรงเรียน ยกตัวอย่าง หากโรงเรียนขนาดใหญ่ มีเด็ก 3,000 คน ให้สลับวันกันมา วันละ 400-500 คน ที่เหลือก็เรียนที่บ้าน เพื่อลดความแออัดของโรงเรียน มาตรฐานห้องเรียนเราใหญ่ ห้องละ 40-50 คน ดังนั้น เราควรจะเรียนที่บ้านส่วนหนึ่ง เรียนที่โรงเรียนส่วนหนึ่ง และทำบ้านและโรงเรียนให้เป็นฐานการเรียนรู้
“หากทำตรงนี้ได้ วิธีคิดของครู และผู้ปกครองก็ต้องเปลี่ยนใหม่ หากครูคิดว่าการเรียนการสอนต้องเกิดที่โรงเรียนอย่างเดียว กรณีแบบนี้จะไม่มีทางเป็นไปได้ แต่หากครูคิดว่าการเรียนการสอนเกิดที่บ้านได้ ก็จะเกิดความคิดว่าเราจะออกแบบวิธีการเรียนการสอน ที่เป็น Home-Based Learning ได้อย่างไร เช่น ทำใบงาน ใบกิจกรรม เกม การทดลอง ให้เด็กไปเล่น เรียน และนำเทคโนโลยีมาช่วย อาทิ การใช้โซเชียลเชื่อมโยงระหว่างเด็กครู แต่กิจกรรมเกิดขึ้นที่บ้าน”
หากโรงเรียนกับบ้านทำงานร่วมกัน เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ การปรับตัวครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น ไม่มีใครบอกได้ว่าวิธีไหนดีที่สุด ดังนั้น ครูก็ต้องช่วยกันคิดเพราะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีใครบอกได้ หากครูรอแค่ว่าให้กระทรวงสั่ง ณ วันนี้ไม่มีทางทำได้ เพราะการถึงแม้จะสั่งการอย่างไร ก็ต้องมีส่วนหนึ่งที่ทำได้ และส่วนหนึ่งที่ทำไม่ได้ ดังนั้น ครูต้องหาวิธีการคิดตามบริบทที่สามารถทำได้ และได้ดีที่สุดของแต่ละท้องถิ่น ดังนั้น Learn From Home ในลักษณะที่เราบอกว่าโควิด-91 เข้ามามีอิทธิพล ก็จะออกมาในรูปแบบนี้ และทั่วโลกก็มีความเปลี่ยนแปลงเหมือนๆ กัน
“ขณะเดียวกัน ความพร้อมของผู้ปกครอง ซึ่งมีความหลากหลายแตกต่างกัน เราไม่ได้ต้องการให้ผู้ปกครองต้องมาสอนคณิตศาสตร์ของเด็กมัธยม แต่ผู้ปกครอง มีหน้าที่ต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นสังคมของการเรียนรู้ โดยเฉพาะสังคมเล็กๆ ที่บ้าน ในสภาพที่เหมาะสมของแต่ละบ้าน ซึ่งบางบ้านอาจไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีคอมพิวเตอร์ แต่ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมตามสถานภาพของบ้านแต่ละแห่งให้ดีที่สุด ทุกครอบครัวมีปัญหาที่ต่างกัน ดังนั้น ทำเท่าที่คิดว่าจะทำได้ เพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” รศ.ยืน กล่าว
- หลังโควิด Cyber Space จะยังอยู่
รศ. ยืน กล่าวต่อไปว่า หลังจากโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไป คิดว่าการเรียนในลักษณะนี้จะยังคงอยู่ การเปลี่ยนแปลงของการเรียนรู้ มันวิวัฒนาการของตัวเองตลอด ช่วงหลังของการศึกษาเป็นการใช้เทคโนโลยีที่รวดเร็ว ดังนั้น หลังโควิด-19 รูปแบบการศึกษาต้องเปลี่ยนแน่นอน เพราะเทคโนโลยีตอบโจทย์ได้เร็ว เช่น การประชุมคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งก็ไม่ต่างจากการไปนั่งประชุมสักเท่าไหร่ หากมองว่าเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์เราได้ ก็ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ค่าใช้จ่ายถูกลง ขณะที่การเรียน เรียนได้มากขึ้น เร็วขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง
ทั้งนี้ วิธีการเรียนที่เปลี่ยน มาจากปัจจัย 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ปัจจัยที่ 1 คือ เด็ก ซึ่งเกิดมาเป็น Digital native พอ Cyber Space เข้ามา เรื่องดิจิทัลแทบจะไม่ต้องสอน ปัจจัยที่ 2 เทคโนโลยีดีวันดีคืน ทำให้เราพิสูจน์ว่าใช้งานได้ และดีกว่ารูปแบบเดิม ทำให้รูปแบบเดิมๆ หายไป หรือที่เราเรียกว่า Disrupt และ ปัจจัยที่ 3 สังคม ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ สังคมกายภาพ และ สังคมไซเบอร์ ดังนั้น หลังโควิดไปแล้ว การทรานฟอร์มไปสู่ดิจิทัลจะยังอยู่ ถึงไม่มีโควิดการเรียนโดยใช้เทคโนโลยีก็ค่อยเป็นค่อยไปอยู่แล้ว แต่โควิดเป็นตัวเร่งทำให้การเปลี่ยนแปลงในสังคมมนุษย์เร็วขึ้น
“เพราะฉะนั้น โรงเรียน การศึกษา เป็นกระบวนการของสังคม หลังโควิด-19 จะเปลี่ยนหมด เพราะรูปแบบของการศึกษา เราต้องเรียนได้มาก เรียนได้เร็ว และได้ความรู้เยอะ ที่สำคัญคือ ต้นทุนถูก แต่ได้ผลลัพธ์มากขึ้น หลังโควิดจะเกิดการทรานฟอร์ม ด้านสังคม รูปแบบ วิธีการเรียน”
“ขณะที่สถานศึกษา หลังต้องปรับตัวเยอะมาก เพราะระบบการศึกษาบ้านเราใหญ่ มีความหลากหลาย อะไรก็ตามที่ใหญ่ โมเมนตัมของการเปลี่ยนแปลงจะช้า อย่างไรก็ตามแต่ แรงกดดันจากเทคโนโลยี ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนเร็วขึ้น โดยเฉพาะโควิด-19 หากมองในแง่ดี ทำให้สังคม วิธีการเรียน เปลี่ยนไปเร็วขึ้น ทุกอย่างเร็วขึ้น และหากพ้นสถานการณ์นี้ไปทุกคนก็น่าจะปรับตัวได้เยอะ” รศ.ยืน กล่าวทิ้งท้าย