'ราคาน้ำมันดิ่งเหว' จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติครั้งใหม่หรือไม่
ที่ผ่านมาราคาน้ำมัน WTI ติดลบครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้การบริโภคน้ำมันลดลง ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันไม่สามารถลดกำลังการผลิตตามได้ ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกสักพัก สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นวิกฤติครั้งใหม่หรือไม่
ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ราคาน้ำมัน WTI ติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก ส่งผลให้การบริโภคน้ำมันลดลงจากเดิมที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรล ต้องลดลงไป 20-30% ในขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันไม่สามารถลดกำลังการผลิตตามได้ ส่งผลให้เกิดภาวะ Over supply และสถานที่เก็บน้ำมันแต่ละแห่งเริ่มที่จะเต็ม
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงสะท้อนมายังการปรับตัวลดลงของราคาสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า (Futures) ที่ใกล้จะครบกำหนด รวมถึงกองทุน ETF น้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง United States Oil Fund (USO) ที่ปกติแล้วจะซื้อ Futures ระยะสั้น ได้ทำการเทขายสัญญาเดือนที่จะครบกำหนด ทำให้ราคาน้ำมัน WTI มีความผันผวนสูงจนเกิดการติดลบ และเปลี่ยนกลยุทธ์ไปถือสัญญาที่อายุนานขึ้นจนถึงปี 2021 โดยราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกสักพัก จนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาดำเนินได้ปกติ
ถึงแม้ราคาน้ำมันจะฟื้นตัวมาบ้างในช่วงนี้ แต่ด้วยความบอบช้ำของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงวิถีการใช้ชีวิต Social Distancing ที่จะอยู่กับมนุษย์ไปอีกนานอย่างน้อย 1-2 ปี จนกว่าจะเจอวัคซีนป้องกันโควิด-19 เศรษฐกิจจึงจะเริ่มฟื้นตัว
รวมถึงประเทศกลุ่ม OPEC ขนาดใหญ่มีรายได้หลักพึ่งพากับการส่งออกน้ำมัน จึงเป็นเหตุผลที่เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นก็จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและไม่ทำให้งบประมาณขาดดุล ดังนั้นราคาน้ำมันในระยะยาวคงไปไหนไกลมากไม่ได้ไปอีกสักพัก
วิกฤติราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่โควิด-19 เป็นตัวเร่งของเหตุการณ์ “การล้มละลายของบริษัทที่ประกอบธุรกิจน้ำมันขนาดกลาง-ขนาดเล็ก” โดยปัจจุบันราคาน้ำมันถูกกว่าต้นทุนการผลิตของบริษัทน้ำมันแล้ว โดยในสหรัฐ บริษัท Whiting Petroleum ซึ่งเป็นผู้ผลิต Shale oil รายใหญ่ได้ยื่นขอล้มละลายในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ตามมาด้วยบริษัทค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์อย่าง Hin Leong Trading ที่ลงทุนผิดพลาดจนขาดทุนและต้องขอเลื่อนชำระหนี้กับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ โดยหากมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ US High Yield ที่กลุ่มพลังงานมีสัดส่วนถึง 12% จะทำให้ธนาคารพาณิชย์และนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ทำให้เมื่อมีหุ้นกู้ครบกำหนดจะเกิดความเสี่ยงที่บริษัทจะไม่สามารถ Roll over หนี้ต่อไปได้และเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ก็จะทำให้เกิดหนี้เสียในระบบธนาคารขึ้นมาด้วย
กรณีเลวร้ายที่สุดก็คือ กลุ่มนักลงทุน ประชาชนทั่วไปกังวลว่าธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทเหล่านั้นจะล้มไปด้วย และเกิดความตื่นตระหนกแห่ถอนเงิน ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Bank run กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อระบบการเงิน เศรษฐกิจของประเทศที่ต้องใช้เวลา และงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เป็นจำนวนมาก
โดยธนาคารกลางและหน่วยงานรัฐในแต่ละประเทศก็ทราบถึงปัญหาเหล่านี้ และป้องกันโดยใช้วิธีออกนโยบายที่ให้ธนาคารกลางเข้าซื้อหุ้นกู้เอกชนได้ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อป้องกันในส่วนของ Roll over Risk โดยประเทศที่ใช้นโยบายนี้มีทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่นและประเทศไทย โดยรายละเอียดจะแตกต่างกันตรงที่ของสหรัฐนั้นสามารถซื้อหุ้นกู้ High Yield ได้ด้วย
ต่างกับของประเทศไทยที่สนับสนุนเฉพาะหุ้นกู้ Investment Grade เพราะธุรกิจพลังงานในสหรัฐ ส่วนใหญ่นั้นถูกจัดอันดับต่ำกว่า Investment grade แต่ของประเทศไทยนั้น บริษัทพลังงานกลุ่มใหญ่เป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีความเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายที่เหมือนกัน และเพื่อป้องกันเรื่อง Moral Hazard ที่หากมีการอุ้มบริษัทเอกชนทุกรายจะก่อให้เกิดความคิดที่ว่า “ไม่จำเป็นต้องมีผลประกอบการดี เดี๋ยวทางภาครัฐก็ช่วยเหลือ เพราะมีผู้ถือหุ้นกู้ที่เป็นประชาชนเป็นตัวประกัน"
สุดท้ายนี้ปัญหาที่กำลังอาจจะเกิดขึ้นในตอนนี้จะไม่ส่งผลกระทบ หากเราลงทุนโดยคำนึงถึงความเสี่ยงก่อน ไม่ใช่เพียงสนใจอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่สูงเป็นอันดับแรก และผมเชื่อมั่นว่าบริษัทพลังงานชั้นนำในไทยนั้นมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งแม้ว่าในระยะสั้นจะประสบปัญหาบ้าง แต่หากระยะยาวบริษัทยังมีแผนธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขันที่ดีแล้วนั้น การลงทุนในหุ้นกู้ Investment Grade ยังเป็นทางเลือกการลงทุนที่ดีในช่วงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงในอนาคตครับ