กยท.เร่งชาวสวนขึ้นทะเบียน รับสิทธิเยียวยาเกษตรกร 1.5 หมื่นบาท
กยท.แนะเกษตรกรชาวสวนยาง เร่งขึ้นทะเบียน แจ้งข้อมูล และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับ กยท.ในพื้นที่ใกล้บ้านไม่เว้นวันหยุด ภายใน 15 พ.ค.นี้ เพื่อเยียวยาจากรัฐ 1.5 หมื่นบาท
นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2563 มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) รายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน จำนวน 15,000 บาท งบประมาณรวม 150,000 ล้านบาท ตั้งแต่ เดือนพ.ค. – ก.ค. 2563
ส่วนของเกษตรกรชาวสวนยางใช้ฐานข้อมูลที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับ กยท. ประกอบด้วย เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำสวน และคนกรีดยาง โดยเกษตรกรชาวสวนยางท่านใดยังไม่เคยขึ้นทะเบียนกับ กยท. สามารถขึ้นทะเบียน แจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง และหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ให้แจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับ กยท. ได้ตั้งแต่วันนี้ - 15 พ.ค.นี้ ณ การยางแห่งประเทศไทยใกล้บ้าน ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับสิทธิ์เยียวยาฯ นอกจากนี้ สามารถตรวจสอบสถานะการขึ้นทะเบียนกับ กยท. ได้ที่เว็บไซด์ กยท.
สำหรับขั้นนตอนการดำเนินการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยางนั้น กยท. จะจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนและการแจ้งข้อมูลเกษตรกรที่ปลูกยางฯ ไปยัง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เพื่อดำเนินการรวบรวมข้อมูลเกษตรกร
จากนั้น สศก.จะนำส่งข้อมูลต่อไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้กระทรวงการคลังตรวจข้อมูลและคัดกรอง ป้องกันการรับสิทธิ์เยียวยาจากรัฐบาลซ้ำซ้อน เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วกระทรวงการคลังจะส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. จ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรกรต่อไป
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากกรณีที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เปิดเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com
โดยเปิดให้เกษตรกรลงทะเบียนเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมาในโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 นั้น มีเกษตรกรจากหลายจังหวัดสอบถามมาด้วยความข้องใจว่าต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับ ธกส.ด้วยหรือไม่ จึงขอชี้แจงว่าเว็ป “เยียวยาเกษตรกร” ของ ธกส.ให้เกษตรกรลงทะเบียนว่าจะให้โอนเงินไปเข้าบัญชีธนาคารอะไรในกรณีที่ไม่มีบัญชีธนาคารกับ ธกส.
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนซึ่งจะได้รับรายละ 15,000 บาท จ่าย 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เดือนพ.ค.- ก.ค. 2563 วงเงิน 150,000 ล้านบาท จำนวนไม่เกิน 10 ล้านราย ประกอบด้วย
เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มแรก (ข้อมูลสรุป ณ 30 เม.ย. 63) จำนวนไม่เกิน 8.33 ล้านราย จ่ายเงินผ่าน ธ.ก.ส. และ เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มที่สอง ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน ซึ่งจะหมดเขต วันที่ 15พ.ค. 63 จำนวนไม่เกิน 1.67 ล้านราย
ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังมีมาตรการต่าง ๆควบคู่ไปกับการเยียวยา เช่น ในส่วนของกรมประมง จะมีการแจกจ่ายปลานิลแปลงเพศ ประมาณ 44,000 ราย รายละ 800 ตัว พร้อมอาหารปลาจำนวน 120 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยกุ้งก้ามกร้าม ตามแหล่งน้ำสาธารณะ 1,436 แห่ง 129 อำเภอ แห่งละ 200,000 ตัว และให้มีการตั้งคณะกรรมการมาดูแลแหล่งน้ำชุมชน เพื่อให้เป็นระบบในการบริหารจัดการแหล่งน้ำร่วมกัน
โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการให้เกษตรกรและคนในชุมชนมีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน และเมื่อเหลือแล้วถึงเอาไปขาย โดยดำเนินการในลักษณะของชุมชน นอกจากนี้ ในส่วนของกรมปศุสัตว์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการมอบเป็ดไข่ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ ประมาณ 77,000 ครอบครัว เพื่อให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
“ในกรณีของชาวไร่ มีการสนับสนุนงบประมาณในการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพด มีการจัดสรรให้ 12,000 ครอบครัว เกือบ 100,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวนหลายหมื่นตัน โดยให้กรมการข้าวและกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้ผลิตและจัดสรรให้กับเกษตรกร ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินกลับคืนไปสู่เกษตรกร”