โควิดดันยอดตึ๊ง 'รถยนต์' พุ่ง เหตุคนรายได้ลด-สภาพคล่องธุรกิจหด

โควิดดันยอดตึ๊ง 'รถยนต์' พุ่ง เหตุคนรายได้ลด-สภาพคล่องธุรกิจหด

“นอนแบงก์” ชี้พิษโควิดทำรายได้ลด สภาพคล่องหด คนแห่นำรถยนต์-จักรยานยนต์ตึ๊งขอสินเชื่อ ดันยอดปล่อยกู้จำนำทะเบียนรถพุ่ง “เมืองไทยแคปปิตอล” คาดแนวโน้มไตรมาสสองยิ่งกระฉูด เหตุใกล้ฤดูเพาะปลูก ขณะ “ศรีสวัสดิ์” เร่งเตรียมสภาพคล่องรองรับลูกค้าเก่า-ใหม่ ขอกู้

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ทำให้หลายธุรกิจหยุดชะงักจากมาตรการ “ล็อกดาวน์” ของภาครัฐ ส่งผลต่อเนื่องไปยังพนักงานและลูกจ้างจำนวนมากที่ต้องตกงาน แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาแต่ก็ไม่เพียงพอ ทำให้หลายคนต้องหันมาพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงิน โดยหนึ่งในสินเชื่อที่ประชาชนให้ความสนใจกู้ยืมมากสุด คือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC กล่าวว่า การระบาดของ  โควิด-19 ทำให้ความต้องการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ทั้งในส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะในไตรมาส 2 เชื่อว่าความต้องการสินเชื่อประเภทนี้จะมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ส่วนหนึ่งเพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลที่เกษตรกรต้องเตรียมลงทุนเพาะปลูก 

“ช่วงไตรมาสแรกสินเชื่อยังเติบโตดี ส่วนในไตรมาส 2 เราคาดว่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในระดับ 20-25% ทำให้เรายืนเป้าการเติบโตของรายได้ปีนี้ตามแผนงานเดิมที่ 20-25%”

สำหรับแผนธุรกิจปีนี้ ยังเดินหน้าเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 600 แห่ง ทำให้จำนวนสาขาเพิ่มเป็น 4,700 แห่ง ซึ่งจะช่วยหนุนให้ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่รวมทั้งผลดำเนินงานในปีนี้เติบโตระดับ 20-25% 

นายชูชาติ กล่าวว่า พอร์ตลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม และลูกค้าที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน มีสัดส่วนไม่เกิน 10% ของพอร์ตลูกหนี้รวมทั้งระบบ ทำให้ผลกระทบต่อธุรกิจยังมีจำกัด 

ทั้งนี้พอร์ตลูกหนี้รวมของบริษัทส่วนใหญ่ 60% เป็นเกษตรกร, 20% เป็นก่อสร้าง 10% เป็นข้าราชการและมนุษย์เงินเดือน

ปัจจุบันลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการฯ ของบริษัท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของพอร์ตลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว หรือคิดเป็นจำนวน 25,000 ราย มูลหนี้ทั้งสิ้นราว 400 ล้านบาท หรือมูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 15,000 บาท มีทั้งขอพักชำระหนี้และจ่าย 70% ของมูลหนี้เดิม ในสัดส่วนเท่ากัน

ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธปท. ทำให้ NPL ยังมีทิศทางที่ดีในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ และมั่นใจว่าทั้งปีนี้จะคุม NPLไว้ไม่เกิน2% จากไตรมาสแรกที่ NPL ยังอยู่ที่ระดับ 1% กว่าเท่านั้น

สำหรับธุรกิจจำนำทะเบียนหลังวิกฤติโควิด-19ผ่านพ้นไปแล้ว นายชูชาติ คาดการณ์ว่า ภาพรวมธุรกิจคงไม่ต่างไปจากเดิม เพราะยังคงเป็นธุรกิจปล่อยสินเชื่อที่ต้องมีหลักประกัน และยังต้องเห็นหลักประกัน โดยลูกค้ายังต้องเดินเข้ามาหา ส่วนการตีมูลค่ายังคงไว้ที่ 50% ของหลักประกันเหมือนเดิม

นางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตอนนี้เริ่มเห็นลูกค้ากลับมาติดต่อขอสินเชื่อในทุกช่องทางของบริษัทบ้างแล้ว โดยเฉพาะผ่านสาขาและทางไลน์มากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงปลายเดือนมี.ค.2563 เนื่องจากช่วงนั้นการระบาดของโควิด-19มีค่อนข้างมาก คนจึงไม่ออกจากบ้าน ทำให้บรรยากาศการขอสินเชื่อเบาบางกว่าปกติ

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 ยังประเมินได้ยาก โดยขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ทำให้ภาครัฐทยอยเปิดเมืองได้ เชื่อว่ายอดการขอสินเชื่อจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิม เพราะเวลานี้มีคนที่เดือดร้อนจำนวนมากต้องการสินเชื่อเพื่อการดำรงชีพหรือเพื่อเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ 

"เราพยายามเตรียมสภาพคล่องให้เพียงพอและจัดสรรให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ทั้งลูกค้าเก่าและใหม่ โดยวงเงินปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายยังอยู่ที่ 1-2 แสนบาท"

สนใจสินเชื่อรถแลกเงิน คลิก

สนใจสินเชื่อรถแลกเงิน คลิก