‘สอนออนไลน์’ สำหรับครูไทยพร้อมหรือยัง?
กระทรวงศึกษามีนโยบาย 'เรียนออนไลน์' และเปิดให้เริ่มทดลองสอนในวันที่ 18 พ.ค.นี้ แต่ครูส่วนหนึ่งยังไร้ความพร้อมต่อการ 'สอนออนไลน์' ที่กำลังจะเกิดขึ้น
“การเรียนการสอนออนไลน์ และผ่านระบบเทคโนโลยีทางการศึกษาทางไกล” เป็นมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ ในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่ได้มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ทุกระดับชั้นในทั่วประเทศ เพราะต่อให้ที่ผ่านมามีระบบเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอยู่แล้ว แต่ดำเนินการในโรงเรียนห่างไกล โรงเรียนขยายโอกาสเป็นส่วนใหญ่
ถึงแม้ว่า ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) จะออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ภาพรวมการใช้งานการเรียนการสอนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นผ่านระบบการศึกษาเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ซึ่งจะเริ่มทดลองการเรียนการสอนในวันที่ 18 พ.ค.นี้ และการเรียนออนไลน์มีความพร้อมเกือบ 90% แล้ว
แต่นั่นก็เป็นเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีเสียงเล็กๆ ของคุณครูส่วนหนึ่งออกมาบอกเล่าว่า ระบบพร้อมแต่ครูอาจจะไม่พร้อมสำหรับเรียนการออนไลน์ที่จะเกิดขึ้น
- กายพร้อม แต่ปัจจัยบางอย่างทำให้ครูไม่พร้อม
ครูสอนวิชาศิลปะและวิชานาฎศิลป์โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ยอมรับว่าทั้งตนเองและเพื่อนครูในหมวดที่สอนด้วยกันยังไม่มีความพร้อมสำหรับสอนออนไลน์ ปกติก็ไม่ค่อยได้ใช้อินเตอร์เน็ตหรือพวกเครื่องมือเทคโนโลยีเป็นประจำอยู่แล้ว ทำให้ทุกอย่างคงต้องเริ่มใหม่หมด
“ปัญหาหนึ่งที่เจอคืออุปกรณ์เราไม่มี หลังจากที่กระทรวงศึกษาออกนโยบายมาแน่ๆ ว่าจะให้มีการสอนออนไลน์ เรากับเพื่อนครูด้วยกันเลยปรึกษาว่าจะรวมกลุ่มกันไปกู้เงินสหกรณ์โรงเรียนเพื่อมาซื้อไอแพดใช้ในการสอน”
นอกจากเรื่องอุปกรณ์แล้ว ครูยังกล่าวอีกว่า โปรแกรมสำหรับการสอนออนไลน์หรือการทำข้อสอบก็มีความยากอยู่พอสมควร ล่าสุดคือที่เพิ่งทดลองไปคือการสร้างข้อสอบที่ให้นักเรียนมาตอบบนโปรแกรม google From กว่าจะทำให้หนึ่งหน้าใช้เวลาประมาณ 2 วัน
เช่นเดียวกับ ครูโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เล่าว่า โรงเรียนสังกัดของตนเองนั้นมีนโยบายให้เรียนออนไลน์ แต่การอบรมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาก็ไม่ได้แจ้งว่าต้องสอนออนไลน์ในลักษณะไหน สุดท้ายแล้วผู้บริหารโรงเรียนก็ต้องมาจัดการเอง ซึ่งต้องทำให้ทันภายในวันที่ 18 ที่เริ่มทดลองสอนออนไลน์ครั้งแรก
นอกจากนี้ในในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง Facebook และ Twitter ยังมี แฮชแทก #สอนออนไลน์ เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
เช่นเดียวกับผลสำรวจความคิดเห็นครูจำนวน 678 คน จากโรงเรียนใน 67 จังหวัดในประเทศไทยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) พบว่า ครูเคยเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์มากที่สุด คือ Youtube จำนวน 83.% รองลงมา คือ Facebook จำนวน 67.4% และ Google search จำนวน 55% และตอบว่าไม่เคยใช้เลย จำนวน 9.5% เคยใช้ประกอบการสอนหรือจัดการเรียนการสอนผ่าน Youtube จำนวน 43% Facebook จำนวน 42.5% และ Line จำนวน 40.5%
เมื่อถามถึงความพร้อมของครูหากจำเป็นต้องสอนออนไลน์ ครูจะเลือกใช้ผ่าน Facebook มากที่สุด จำนวน 51.8% รองลงมา คือ Line จำนวน 49% Google classroom จำนวน 38 % Youtube จำนวน 31.1% และตอบว่าไม่สามารถสอนออนไลน์ได้ 11.5%
โดยมีความพร้อมในการสอนออนไลน์อยู่ในระดับปานกลางขึ้นไป จำนวน 66.6% แต่หากถามว่าจะพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม หรือไม่ มีผู้ตอบว่าพร้อมในระดับปานกลางขึ้นไป จำนวน 58.2%
- นักวิชาการชี้ หลักสูตรออนไลน์กลางคือสิ่งสำคัญ
สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มก. ให้ความเห็นเรื่องการสอนออนไลน์ว่า หากต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ รัฐบาลต้องการผลักดันนโยบายการสอนออนไลน์ รัฐบาลจำเป็นต้องจัดอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ เนื่องจากรูปแบบและแนวทางการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ที่เหมาะสมของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้มีข้อจำกัดและเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยควรมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำและตัวอย่างแนวทางที่เป็นไปได้ หรือ ควรจัดตั้งกลุ่มสังคมแห่งการเรียนรู้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในแต่ละกลุ่มสาระไปพร้อมกันด้วย
“รัฐบาลต้องจัดทำหลักสูตรออนไลน์กลางแล้วให้ครูเป็นผู้ประสานงานช่วยเหลือให้นักเรียนเข้าถึงระบบการเรียนการสอนออนไลน์กลางนี้ สำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ได้ หรือ ไม่พร้อมด้วยสาเหตุใดก็ตาม รัฐจำเป็นต้องให้การดูแลนักเรียนกลุ่มนี้ไม่ให้การเรียนรู้ขาดช่วง โดยควรส่งเสริมและหาช่องทางการเรียนรู้รูปแบบอื่นควบคู่ไปพร้อมกัน ในส่วนการจัดหาอุปกรณ์การสื่อสาร และจัดหาอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ในเวลาอันสั้น”
สุมิตร ยังกล่าวอีกว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแล ควบคุม กำกับ การทำงานของโรงเรียน ควรให้การผ่อนปรนตามสถานการณ์ อย่าคาดหวังให้ครูสอนออนไลน์เพื่อให้นักเรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียนครบถ้วนตามในหลักสูตร หรือ อย่าคาดหวังให้โรงเรียนทำเอกสารไว้ตรวจประเมินคุณภาพการศึกษา เหมือนว่าอยู่ในสถานการณ์ปกติ
- การปิดโรงเรียนอาจจะไม่ใช่ทางออก
เรื่องความพร้อมในการสอนออนไลน์ของครูยังคงเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดคำถามว่า การปิดโรงเรียนและเปิดการสอนแบบออนไลน์นั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ได้ไม่คุ้มเสีย
ผลการศึกษาจากงานวิจัยเรื่องการปิดโรงเรียนในประเทศจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ประกอบกับบทเรียนในอดีตจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส SARs บ่งชี้ว่า การปิดโรงเรียนอย่างเดียวส่งผลน้อยมากต่อการลดจำนวนของผู้ติดเชื้อ เมื่อเทียบกับมาตรการอื่น
นอกจากนี้ธนาคารโลกยังแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ปิดโรงเรียนว่า จะส่งผลให้นักเรียนส่วนใหญ่เสียโอกาสในการเรียนรู้ โดยเฉพาะนักเรียนในครอบครัวที่มีฐานะยากจน เนื่องจากไม่มีรายได้มากพอที่จะนำมาใช้สนับสนุนการเรียนของบุตรหลานเพิ่มเติม ที่ร้ายแรงที่สุดการปิดโรงเรียนอาจผลักให้นักเรียนกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตเด็กในระยะยาว
ผลสรุปจากงานวิจัยยังแนะนำว่า สิ่งที่จำเป็นคือการวางแนวทางเปิดโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้ไปโรงเรียนอีกครั้ง โดยให้สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์ ควบคู่กับการใช้มาตรการทางด้านสาธารณสุขและมาตรการทางสังคมอย่างเคร่งครัดในโรงเรียน