การบินไทย กับดักปิดทางออก
สถานะการบินไทยวันนี้ ต้องบอกว่าอาการหนัก เข้าสู่ภาวะล้มละลายทางเทคนิคไปเรียบร้อยแล้ว เพราะเผชิญภาวะขาดทุนสะสมนาน 8 ปี อยู่ในแผนฟื้นฟู 5 ปีแล้วยังไม่ดีขึ้น เพราะแก้ไม่ตรงจุด ติดกับดักสายการบินแห่งชาติ เมื่อต้องเผชิญโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก
เรากำลังติดกับดักคำว่า “สายการบินแห่งชาติ” จนทำให้การแก้ปัญหาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุ ตามสภาพความเป็นจริง ทำให้เป็นวงเวียนวัฏจักรกลับมาแก้ปัญหาบริษัทการบินไทยครั้งแล้วครั้งเล่า เอาเงินภาษีประชาชนเข้าไปอุ้มไปช่วยเหลือไม่มีที่สิ้นสุด ที่ร้ายไปกว่านั้นการแก้ไขแบบนี้ การยึดกรอบสายการบินแห่งชาติล้มไม่ได้ ทำให้คนในองค์กรไม่มีแรงกดดันเหมือนบริษัทอื่นๆ
วิกฤติของการบินไทย จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก รัฐบาล กระทรวงการคลัง ต้องหาเงินมาอุ้มสภาพคล่อง มาเพิ่มทุนอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ความหมายของสายการบินแห่งชาติที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ นิยามที่ถูกต้องหมายถึงอะไร เพราะหากคิดแค่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่และนั่นคือสายการบินแห่งชาติ ก็อาจจะไม่ตรงความหมายแท้จริง หากถามว่าสายการบินแห่งชาติ คือสายการบินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ ใช้บริการหรือมีส่วนร่วมมากสุด ถือวันนี้ก็ไม่น่าจะใช่แล้ว เพราะสายการบินอื่น ยึดมาร์เก็ตแชร์แซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นหากแนวทางแก้ปัญหาสามารถข้ามพ้นกับดักความกลัว “สายการบินแห่งชาติ” ไปได้ จะทำให้ทุกฝ่ายบรรลุธรรมในการจัดการปัญหา มีสติในการหาทางออก เพราะต้องอย่าลืมว่าตลอด 5 ปี โจทย์ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อแก้ปัญหานั้นถึงวันนี้ ยังไม่ตกผลึก เพราะเราติดกับดักสายการบินแห่งชาติ ที่ไม่สามารถผ่าตัดเฉกเช่นบริษัททั่วๆ ไปที่เกิดปัญหาได้ และเป็นเรื่องดีที่นายกรัฐมนตรี ยังไม่รับหลักการล่าสุดที่เสนอเข้ามาในรูปโฮลดิ้ง พร้อมกับการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 5 หมื่นล้านบาท
เพราะหากเดินตามแนวทางนั้น 2-3 เดือน เม็ดเงิน 5 หมื่นล้านบาท น่าจะหมดโดยไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่สะสมมายาวนาน เพราะนายกรัฐมนตรีเห็นว่าการแก้ปัญหาต้องทำให้เกิดประสิทธิผล และแผนฟื้นฟูต้องพิจารณาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้นถึงเวลานี้ ต้องบอกว่าแผนต่างๆ ยังไม่ชัดเจน เพราะการจะให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้นั้น แผนฟื้นฟูต้องมีประสิทธิภาพมากพอควร เพราะนั้นคือเอาประชาชนทั้งชาติการันตีให้การบินไทย เอาภาษีของชาติ ในยามประเทศทุกข์ยากไปอุ้มองค์กร ที่ไม่รู้ความทุกข์ของตัวเอง
สถานะการบินไทยวันนี้ ต้องบอกว่าอาการหนัก เข้าสู่ภาวะล้มละลายทางเทคนิคไปเรียบร้อยแล้ว เพราะเผชิญภาวะขาดทุนสะสมมานานถึง 8 ปี อยู่ในแผนฟื้นฟูมานานถึง 5 ปีแล้วยังไม่ดีขึ้น เพราะอย่างที่บอกแก้ไม่ตรงจุด ติดกับดัก และเมื่อต้องเผชิญกับโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก
เพราะแค่สิ้นปี 2562 รายได้ 1.88 แสนล้านบาท ขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท ขาดทุนสะสม 1.9 หมื่นล้านบาท มีหนี้สิน 2.44 แสนล้านบาท และมีการประเมินว่ายังเดินหน้าต่อไป ด้วยสภาพปัจจุบัน ค้ำประกันเงินกู้งวดแรก 5 หมื่นล้านบาทน่าจะหมดภายใน 3 เดือนเท่านั้นเอง เพราะมีรายจ่ายคงที่ 1.3 หมื่นล้านบาทเป็นภาระอยู่แล้ว
บวกกับสถานการณ์ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการบิน ที่จะฟื้นตัวช้าสุดหลังโควิด ด้วยแล้ว แนวทางฟื้นฟูแก้ปัญหาการบินไทย ก็ไม่ควรอยู่ในกรอบคิดแบบเดิมๆ แนวทางยื่นเข้าสู่ศาลล้มละลาย เพื่อผ่าตัดปัญหาอย่างจริงจัง ก็เป็นทางเลือกที่ดี หลายสายการบินทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จวันนี้ ก็เคยปฏิบัติผ่านมา เพราะหากยังทำแบบเดิมๆ อาจจะเหลือเพียงชื่อให้ลูกหลานได้เล่าเรียน แนวทางยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟู เป็นอีกทางเลือกที่ควรคำนึงถึง