‘ประกันสังคม’ จ่ายชดเชยว่างงาน 4.4 ล้าน รอนายจ้างรองรับสิทธิ 1.9 แสน คาดมีผู้มาใช้สิทธิเพิ่ม

‘ประกันสังคม’ จ่ายชดเชยว่างงาน 4.4 ล้าน รอนายจ้างรองรับสิทธิ 1.9 แสน คาดมีผู้มาใช้สิทธิเพิ่ม

สำนักงาน “ประกันสังคม” เร่งติดตามนายจ้าง รับรองหยุดงานลูกจ้าง 1.9 แสนราย จ่ายว่างงานแล้ว 4.4 ล้าน คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิกรณีว่างงานเพิ่มอีก พร้อมจัดโครงการเงินกู้เพื่อการจ้างงาน

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 63 สำนักงานประกันสังคม ได้ตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (โควิด-19) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มีหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ติดตามการขอรับเงินสิทธิ์ประโยชน์ว่างงานสุดวิสัย การรับเรื่องอุทรณ์ในกรณีผู้ประกันตนได้รับหนังสือแจ้งผลปฏิเสธการจ่ายสิทธิประโยชน์ว่างงานสุดวิสัยจากสำนักประกันสังคม เพื่อเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้รับเงินโดยเร็วที่สุด

สำหรับจำนวนผู้มายื่นขอรับสิทธิ์จนถึงปัจจุบัน (เริ่มยื่นวันที่ 24 มี.ค.-13 พ.ค.) จำนวน 1,090,082 ราย สรุปการจ่ายเงิน ข้อมูลวันที่ (20 เม.ย.-13 พ.ค.) ได้อนุมัติสั่งจ่ายไปแล้วจำนวน 776,441 ราย รวมเป็นเงิน 4,465.542 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้ประกันตนมาใช้สิทธิกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายจ้างจะให้กรอกแบบฟอร์มรับรองการหยุดงานของลูกจ้างผ่าน e-service ทางเว็ปไซต์ www.sso.co.th เพื่อนำเข้าระบบประมวลผลจับคู่ความถูกต้องของข้อมูล แล้วส่งให้หน่วยปฏิบัติวินิจฉัยจ่ายเงินว่างงานและการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ประกันตนภายใน 3 วัน

ขณะมีผู้ประกันตนจำนวน 190,245 ราย ที่รอนายจ้างรับรองสิทธิ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้เร่งติดตามพร้อมส่งหนังสือแจ้งเตือน และประสานกลุ่มประกอบการดังกล่าว ให้รีบรับรองการหยุดงานของผู้ประกันตนอย่างเร่งด่วน ซึ่งปัญหาที่พบคือ นายจ้างได้ปิดกิจการ ติดต่อไม่ได้ จึงส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบสถานที่ประกอบการ รวมทั้งพยานแวดล้อม เพื่อให้จ่ายเงินผู้ประกันตนโดยเร็วที่สุด จึงขอผู้ประกันตนประสานติดต่อนายจ้าง ให้เร่งเข้ามารับรองการหยุดงานอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท ให้สถานผู้ประกอบการกู้เป็นทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องให้มีศักยภาพมีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการกู้เพื่อ Refinance ร้อยละ 50 ของวงเงินปล่อยกู้ของแต่ละธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ

น.ส.พิศมัย นิธิไพบูลย์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ขณะนี้มี 2 ธนาคารเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน คือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย วงเงินสินเชื่อเพื่อกู้ในโครงการ 2,000 ล้านบาท และธนาคารยูโอบี จำกัด วงเงินเพิ่มเติม 2,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 63 หรือ จนกว่าโครงการจะหมด โดยมีวงเงิน 18,000 ล้านบาท

สำหรับสถานประกอบการมีลูกจ้างไม่เกิน 50 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย วงเงิน 9,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบการมีลูกจ้าง 51-200 คน วงเงินกู้ 10 ล้านบาทต่อราย และวงเงินกู้ 3,000 ล้านบาท ต่อสถานประกอบการมีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป วงเงินกู้ 15 ล้านบาทต่อราย

สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ต้องขึ้นทะเบียนสำนักงานประกันสังคม และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเมื่อได้รับสินเชื่อแล้ว ต้องรักษาผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า 80% ของผู้ประกัน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุโครงการ 3 ปี ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมเข้าตรวจทุกปี