'อพท.' หนุนชุมชนเมืองเก่าน่าน ผลิตหน้ากากดันรายได้ช่วงโควิด
ชุมชนเมืองเก่าน่านของ “อพท.” ลุยสร้างรายได้เสริมช่วงวิกฤติโควิด ผลิตหน้ากากผ้าพื้นเมืองน่านออกจำหน่าย ดึงอัตลักษณ์ความโดดเด่นศิลปะผ้าทอมือ โปรโมทแหล่งท่องเที่ยวผ่านผลิตภัณฑ์ประจำถิ่น
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมในช่วงเวลานี้ ชุมชนของ อพท.ในพื้นที่พิเศษได้พัฒนาสินค้าหน้ากากผ้าพื้นเมืองออกจัดจำหน่ายแก่ผู้สนใจซื้อใช้หรือซื้อเป็นของฝากผ่านช่องทางการขายแบบออนไลน์
โดยในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องผ้าทอมือ มีลวดลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวอยู่แล้วชุมชนจึงได้นำผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทางด้านศิลปะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ "หน้ากากผ้า" เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นความต้องการของตลาดในขณะนี้ เพราะเป็นสินค้าที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ประเทศไทยยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับแนวทางการพัฒนาของ อพท.เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ชาวบ้านและชุมชนการถ่ายทอดความรู้ด้านการออกแบบตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นเมือง จึงเป็นที่มาของการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ทุกสถานการณ์ ล่าสุดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคมคำ ตำบลม่วงตื๊ด และกลุ่มทอผ้าบ้านนาซาว จ.น่าน จึงนำผ้ามาออกแบบตัดเย็บเป็นหน้ากากผ้าอนามัย ด้านนอกเป็นผ้าฝ้ายทอมือ ด้านในบุด้วยผ้าป่านหรือผ้ามัสลินภายใต้คอนเซ็ป หน้ากากน่านน่าน สวยงาม และถูกต้องตามหลักสุขอนามัยด้วยลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์พื้นบ้าน เช่น ลวดลายตาโก้งดั้งเดิม ลายตาโก้งผ้าขาวม้า ลายผ้าทอสีพื้นลายมุก ลายตาไล่ และลายน้ำไหล
“กิจกรรมของ อพท.ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือภาคประชาชนในชุมชนให้มีรายได้เสริมและยังได้ผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาดคือหน้ากากอนามัยเพื่อใช้ในการป้องกันการติดโรคโควิด-19 เป้าหมายของชุมชน เพื่อสร้างรายได้เพิ่มในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเยือน และยังว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา”
อย่างไรก็ตามชุมชนบ้านโคมคำและชุมชนบ้านนาซาวเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านที่ อพท.ได้เข้าไปส่งเสริมและยกระดับให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนืออีกแห่งหนึ่งตามความสำเร็จในแผนงานการพัฒนาท่องเที่ยโดยชุมชนของ อพท. ซึ่งชุมชนจะมีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวในด้านต่างๆ ปัจจุบันจึงเป็นชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ
“อพท.ยังคงเดินหน้าส่งเสริมพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายขับเคลื่อนแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน เข้าสู่มาตรฐานเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network - UCCN) ตามแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี ของ อพท.” นายทวีพงษ์กล่าว