ตู้เย็นข้างบ้าน 2 I Green Pulse

ตู้เย็นข้างบ้าน 2 I Green Pulse

จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายในประเทศได้ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวแล้ว ยังกระทบเกษตรกรและประชาชนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ รวมทั้งเกิดปัญหาการกระจายสินค้าและเกิดการขาดแคลนพืชอาหารเพื่อการ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการป้องกัน ควบคุม แก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากการระบาด

โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมกับ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด (ศรแดง) จัดทำ "โครงการตู้เย็นข้างบ้านต้านโควิด-19" แจกฟรีเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป 1 ชุด เป้าหมาย 10,000 ราย ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ ผักบุ้ง แตงกวา โหระพา พริกขี้หนู มะเขือพวง เป็นต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน โดยไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งหลังจากได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว และได้ปิดรับการลงทะเบียนไปแล้ว นั้น

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดีที่ภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากการระบาด จึงตั้งใจจะสานต่อโครงการดังกล่าวในระยะที่ 2 โดยจะเปิดให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วม และจะขยายผลโครงการไปทั่วประเทศด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้จัดทำ “โครงการบ้านพอเพียงเลี้ยงชีวิต สู้โควิด-19” โดยศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 34 หน่วยงาน เตรียมแจกจ่ายและกระจายต้นพันธุ์พืชผักสมุนไพรรวมทั้งสิ้นกว่า 3.6 ล้านต้นให้กับเกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 ครัวเรือน/หมู่บ้าน ซึ่งจะส่งมอบผ่านสำนักงานเกษตรอำเภอไปยังอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และส่งมอบต่อไปยังเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 882 อำเภอ 225,390 ครัวเรือน


ทางด้านชาวประมงพื้นบ้าน ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด แม้จะยังออกหาปลาได้ แต่ช่องทางการขายก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเมื่อเกิดโรคระบาดนี้ การรับซื้อสินค้าสัตว์น้ำในชุมชนก็ลดลงและหยุดชะงักจากมาตรการรักษาระยะห่าง แพปลาต้องหยุดประกอบการ เนื่องจากการขนส่งและต้องเฝ้าระวังการทำงานในอาคาร ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีตลาดขาย

สมาคมรักษ์ทะเลไทยที่ทำงานในพื้นที่ ได้พยายามช่วยเหลือชาวประมงด้านผลผลิต ด้วยการสนับสนุนให้ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านได้จัดการผลผลิตเองผ่านการขายทาง ‘ร้านคนจับปลา’และเพิ่มโอกาสในการขายทางออนไลน์

ล่าสุด ทางสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ทำโครงการ “ทูตอาหารทะเล : ส่งปลาจากทะเลถึงผู้เสียสละ” เพื่อเปิดรับบริจาคจากคนทั่วไป และรับซื้ออาหารจากชาวประมงพื้นบ้าน แล้วนำไปส่งให้กลุ่มเป้าหมายคือ
กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มความช่วยเหลือตามมนุษยธรรม ซึ่งจะทำให้ชาวประมงได้มีช่องทางการขายเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

เจริญ โต๊ะอิแต หรือ บังมุ ที่ทำประมงพื้นบ้านที่ท่าศาลา นครศรีธรรมราชมากว่า 40 ปี บอกว่า ในหมู่บ้านของเขามีเรือประมงกว่า 200 ลำ แต่จากสถานการณ์ที่มีโรคระบาดทำให้เจอปัญหาหลายเรื่อง เช่น การประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถานช่วง 4 ทุ่ม - ตี 4 ขณะที่ชาวประมงจะออกเรือตอนตี 2 แต่รัฐมองเห็นปัญหาจึงให้ไปทำเรื่องขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านเป็นกรณีไป ที่ตลาดคนก็จับจ่ายใช้สอยกันน้อยมาก ถ้าไม่อยากเหลือกลับบ้านก็ต้องแจก


บังมุ ได้ร่วมโครงการทูตอาหารทะเล เขามองว่าโครงการนี้ได้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้พี่น้องชาวประมงบางส่วน แม้ว่าอาจได้ไม่เต็มที่ แต่สิ่งสำคัญที่พวกเขาเล็งเห็นคือ การได้ช่วยเหลือคนกลุ่มอื่นๆ อีกต่อหนึ่ง

“ด้วยความเป็นมนุษย์ที่เราอยากช่วยเขา เราเป็นห่วงคนกลุ่มที่ขาดโอกาส เรากินพอแล้วแต่เห็นคนอื่นยังขาดอาหารอยู่เลยอยากช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่นช่วงแรกมีโครงการระดมปลาทะเล 1 ตันส่งไปให้เป็นอาหารแก่ผู้พิการทางสายตาฟรี แล้วก็มีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หรือคนกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่มีอาหารการกิน

“พวกเรายินดีที่ได้ทำให้สถานการณ์ของคนอื่นๆ คลี่คลายลงและได้กินอาหารที่ปลอดภัย” บังมุกล่าว

“เราเชื่อว่าทะเลไทยเหมือนบึงใหญ่ที่พร้อมดูแลคนไทยทั้งหมด ถ้าเรามีการดูแลที่ดี ทำการประมงอย่างยั่งยืนทั้งรายเล็กและรายใหญ่ เราจะมีทะเลไทยเป็นแหล่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดที่สามารถดูแลพวกเราได้” วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมฯ กล่าว

ผู้ที่สนใจ สามารถสนับสนุนโครงการผ่านสมาคมรักษ์ทะเลไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี ‪691-235-323-6‬

ภาพ/ สมาคมรักษ์ทะเลไทย