‘ประท้วงกวางจู’ บาดแผลไม่เคยจาง
ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่จะได้กันง่ายๆ ประชาชนหลายประเทศต่างสังเวยชีวิตเพื่อให้ได้สิ่งนี้ เกาหลีใต้ก็เช่นเดียวกัน วันนี้ (18 พ.ค.) เป็นวันครบรอบ 40 ปี “การประท้วงที่กวางจู” รอยแผลใจร้าวลึกที่ยังสะเทือนการเมืองเกาหลีใต้มาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2523 ผู้ประท้วงต่อต้านการประกาศกฎอัยการศึกของเผด็จการชุน ดูฮวาน ถูกกองทัพสลายการชุมนุม ความรุนแรงยืดเยื้อถึง 10 วัน เผด็จการทหารคร่าชีวิตประชาชนหลายร้อยคน หนึ่งในนั้นคือสามีของชเว จุงจา ผู้ต้องจากไปโดยไม่มีวันกลับ
ชเวเล่าว่า ในวันนั้นสามีวัย 43 ปีออกจากบ้านในเมืองกวางจู ทางภาคใต้ของประเทศออกไปซื้อน้ำมันใส่ฮีทเตอร์ แต่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นเสียก่อน เธอพยายามออกไปตามหาตัวเขา ถึงขนาดต้องสุ่มเปิดโลงศพคลุมด้วยธงชาติเปื้อนเลือดตามท้องถนน
“เปิดได้ 3 โลงฉันก็ไปต่อไม่ได้ ทุกศพใบหน้าอาบเลือด ไม่รู้จะบรรยายยังไง บอกไม่ได้ว่าใครเป็นใคร” ชเวย้อนถึงวันอันเลวร้ายเมื่อ 40 ปีก่อน ถึงวันนี้เธอยังต้องพบแพทย์เพื่อรักษาอาการบอบช้ำทางจิตใจ และต้องสาปแช่งทุกครั้งเมื่อเห็นภาพชุนในโทรทัศน์
ปี 2539 ชุนถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดกรณีกวางจูและรับสินบน มีโทษถึงประหารชีวิต แต่ได้รับอภัยโทษจาก ‘คิมยองซัม’ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น เพื่อเป็นการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในสังคม ส่วนชุนปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนผู้ลุกฮือ
ยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามประชาชนที่กวางจูยังไม่ตรงกัน รายงานข่าวระบุว่า ศพถูกนำไปฝังและทิ้งทะเลอย่างลับๆ หลังวันนั้นทหารยังอยู่ในอำนาจต่ออีก 8 ปี จึงมีโอกาสมหาศาลในการทำลายหลักฐาน
หน่วยงานทางการรายงานยอดผู้เสียชีวิตราว 160 คน รวมทหารและตำรวจ สูญหายอีกกว่า 70 คน แต่นักกิจการกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตอาจมากกว่านี้ถึง 3 เท่า
แต่การค้นหาความยุติธรรมต้องพลิกผันไปมาหลายครั้ง การนองเลือดที่กวางจูเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้เป็นประเด็นการเมืองมากที่สุดในประเทศที่แยกขั้วอย่างรุนแรงแห่งนี้
ถึงวันนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมในแดนโสมขาวยังคงประณามว่าการลุกฮือของประชาชนที่กวางจู ว่าเป็นการก่อกบฏได้แรงบันดาลใจจากคอมมิวนิสต์ที่มีโสมแดงสนับสนุน ขณะที่ประธานาธิบดีมุน แจอิน ผู้มีแนวคิดเสรีนิยม ตอนเกิดเหตุที่กวางจูเขายังเป็นนักศึกษา และเคยร่วมประท้วงต้านเผด็จการมาหลายครั้ง มุนให้คำมั่นว่าจะเปิดสอบสวนการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่กวางจู และจารึกเหตุการณ์นี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ
ฝ่ายค้านเกาหลีใต้พยายามป้ายสีมุนว่า เป็นพวกเห็นใจเปียงยาง ฮันส์ มอสเลอร์ จากมหาวิทยาลัยดืสบวร์ค-เอ็สเซิน กล่าวว่า ฝ่ายขวาพยายามใช้เหตุการณ์กวางจูมาทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายเสรีนิยม โดยเชื่อมโยงพวกเขากับความชั่วร้ายของเกาหลีเหนือ
“เมื่อการลุกฮือที่กวางจูถูกบิดเบือนให้พัวพันกับเกาหลีเหนือ จึงกลายเป็นเชื้อไฟโหมความแตกแยกในเกาหลีใต้ให้คุโชนไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด” นักวิชาการกล่าว
ปีที่แล้วมีการพบศพราว 40 ศพในพื้นที่เรือนจำเก่าเมืองกวางจู ญาติผู้สูญหาย 242 คนต่างให้ตัวอย่างดีเอ็นเอ ด้วยหวังว่าจะระบุอัตลักษณ์ศพได้ว่าใครเป็นใคร ในจำนวนนี้รวมถึงชา โชกัง หญิงชราวัย 81 ปี ที่ลูกชาย วัย 19 ปี เพิ่งเริ่มขายกระเทียมในตลาดต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
“สามีฉันตายไปเมื่อ 3 ปีก่อน ความปรารถนาสุดท้ายของเขาคือได้ฝังศพลูกชายก่อนงานศพตัวเอง ฉันเองก็ต้องการเหมือนกับเขา แต่ยังไม่รู้เลยว่าความหวังจะเป็นจริงหรือเปล่า” หญิงชรารำพึง