ชป.พร้อมรับมือ 'ฤดูฝน' ปี63 เดินหน้ากำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
ชป.พร้อมรับมือ "ฤดูฝน" ปี63 เดินหน้ากำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำชลประทาน
เมื่อวันที่ 18 พ.ค.63 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ ในการนี้ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ VDO Conference จากทำเนียบรัฐบาลมายังศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน สามเสน
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(18 พ.ค. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 34,100 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,436 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,276 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,580 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน(18 พ.ค. 63)
มีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 1,481 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของแผนจัดสรรน้ำฤดูฝน เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 485 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 15 ของแผนฯ ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปี 2563 ปัจจุบันทั้งประเทศเพาะปลูกแล้วรวมทั้งสิ้น 0.65 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 16.79 ล้านไร่ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกแล้ว 0.43 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 8.10 ล้านไร่
ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ค่อนข้างจำกัด สำรองไว้ใช้ได้เฉพาะอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น ส่วนการทำนาปี ขอให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก และถึงแม้ว่าขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยา จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม ขอให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเมื่อเห็นว่ามีปริมาณฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำเพียงพอในพื้นที่
สำหรับการบริหารจัดการน้ำ และการเตรียมการรับมือฤดูฝนปี 63 นั้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทาน ทั่วประเทศ ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่ง ให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งสำรวจสิ่งกีดขวางทาง และการกำจัดวัชพืชในแม่น้ำสายหลัก คู คลองต่างๆ การติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆเป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกักที่วางไว้ ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หรือน้ำล้นตลิ่ง อีกทั้ง ยังได้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน