EEC พลิกวิกฤต โควิด-19 จัดหลักสูตรเร่งพัฒนาบุคลากร
ผลกระทบจากโควิด 19 คาดว่าจีดีพีในอีอีซี จะลดลงประมาณ 8% เหตุนักท่องเที่ยวหาย ขณะนักศึกษาจบใหม่เตรียมตกงาน นับแสน
แม้ว่าวิกฤติโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมอย่างร้ายแรง แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นโอกาสที่สำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทยมีเวลาในการพัฒนาบุคลากรในการเพิ่มทักษะใหม่ๆ เพิ่มฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี ที่ในภาวะปกติมีการขาดแคลนแรงงานสูงมาก และโรงงานต่างๆก็ทุ่มเวลาอย่างเต็มที่ ในการผลิตให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า ทำให้ไม่สามารถจะพัฒนาแรงงาน และฝึกอบรมบุคลากรได้ทัน ดังนั้น อีอีซี จึงได้จัดหลักสูตรระยะสั้น ขึ้นมารองรับบุคลากรเหล่านี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน ว่า ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการขยายการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นจำนวนมาก ทำให้ผลิตบุคลากรขึ้นมารองรับไม่ทัน
โดยจากวิกฤติโควิด-19 แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต แต่ก็ส่งผลบวกให้ไทยมีเวลาในการผลิตบุคลากรขึ้นมารองรับ เนื่องจากการลงทุนอาจจะชะลอตัวออกไป โรงงานต่างๆชะลอการผลิต รวมทั้งมีแรงงานที่กำลังจะจบการศึกษาจะหางานได้ยากขึ้น เกิดการว่างงาน หรือมีชั่วโมงการทำงานลดลง หันมาฝึกอบรมเพิ่มทักษะใหม่ๆ เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคต
ทั้งนี้ จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจของ อีอีซี พบว่าลดลงกว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าจีดีพีในอีอีซี จะลดลงประมาณ 8% สูงกว่าจีดีพี ประเทศไทยที่ลดลง 5.5% เนื่องจากอีอีซีมีแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพัทยาที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 10 ล้านคน คาดว่าจะหายไปจนถึงปลายปีนี้ รวมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ยอดการผลิตลดลงมาก ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 จะมีแรงงานที่ต้องออกจากงาน และมีนักศึกษาที่จบออกไม่สามารถหางานทำ่ได้กว่า 1 แสนราย
ดังนั้นในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสอันดี ในการปรับทักษะแรงงานโดยการ รีสกิล อัพสกิล และการเพิ่มทักษะใหม่เพื่อรองรับตลาดแรงงานหลังวิกฤติโควิด-19 โดยได้ร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษาฯ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่างๆ พัฒนาบุคลากรร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้แรงงานที่จบออกมา มีคุณภาพตรงกับความต้องการมากที่สุด จะเน้นจัดทำหลักสูตรระยะสั้นประมาณ 3 เดือน ฝึกทักษะฝีมือแรงงานใหม่ๆ ซึ่งผู้ที่จะหลักสูตรสามารถเข้าทำงานได้ทันที
โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มที่มีความต้องการมากที่สุดภายหลังโควิด–19 เช่น บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5จี แรงงานด้านดิจิทัล และแพรตฟอร์มโลจิสติกส์ใหม่ๆ เทคโนโลยีไอโอที สมาร์ทเทคโนโลยีต่างๆ เช่น สมาร์ทฟาร์มมิ่ง สมาร์ททัวริซึม การดูแลผู้สูงวัย ออโตเมชั้นและหุ่นยนต์ เอไอ เป็นต้น
ขณะนี้ได้ออกหลักสูตรระยะสั้นไปแล้ว 48 หลังสูตร และภายใน 3 เดือน จะเพิ่มเป็น 200 หลักสูตร ซึ่งหลังจากที่ประเทศไทยได้ลงทุนระบบ 5จี ไปแล้ว จะทำให้มีการลงทุนด้านนี้ เพิ่มขึ้น และมีความต้องการบุคลากรด้านนี้อีกมาก
“ที่ผ่านมาการพัฒนาหลักสูตรระยะยาวทำได้ช้า ต้องในเวลาหลายปีกว่าจะจบการศึกษา แต่การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น จะทำให้ได้แรงงานทักษะสูงในเวลาที่รวดเร็ว และตรงกับความต้องการของภาคเอกชน เพราะเป็นการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน ทำให้เข้ามารองรับความต้องการของภาคเอกชนได้รวดเร็ว และช่วยพัฒนาแรงงานที่อาจจะต้องตกงาน และผู้ที่จบการศึกษามีโอกาสหางานทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังเป็นการรองรับความต้องการของ อีอีซี ในอนาคต”
สำหรับเป้าหมายของการฝึกอบรมบุคลากรระยะสั้น ในปี 2563 จะผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคน และในปี 2564 จะร่วมกับภาคเอกชนอุดหนุนทุนการศึกษาร่วมกับภาครัฐในสัดส่วน 50:50 ซึ่งจะผลิตได้อีก 2 หมื่นคน แต่จากภาวะการณ์โควิด-19 จะเพิ่มจำนวนได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปหารือกับผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 500 ราย เพื่อเข้าไปจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ช่วยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งจะช่วยชะลอการปลดคนงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น เนื่องจากในภาวะปกติแรงงานเหล่านี้ ต้องทำงานเต็มที่ทำให้ไม่มีเวลามาฝึกอบรมเพิ่มทักษะใหม่ๆ โดยในช่วงโควิด-19 ปริมาณงานได้ลดลงมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาบุคลากร
สำหรับโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนบ้าง แต่โครงการลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้ยกเลิกแต่เลื่อนโครงการออกไป โดยเป้าหมายที่จะดึงดูดการลงทุนในอีอีซี ปีละ 1 แสนล้านอาจจะกระทบในปีนี้ แต่จะไม่ปรับเป้าหมาย ซึ่งหลังจากวิกฤติโควิด-19 ยุติ มีการผลิตวัคซีนขึ้นมาได้ โครงการลงทุนต่างๆก็จะค่อยๆทยอยกลับมา บางอุตสาหกรรมอาจจะฟื้นตัวได้เร็ว เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์อาจจะใช้เวลา 6 เดือนแต่อุตสาหกรรมการบินอาจจะต้องปรับตัว 1-2 ปี
อย่างไรก็ตามต่างชาติยังคงสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย แม้กระทั้งอุตสาหกรรมการบิน โดยบริษัทซีเนียร์แอโรสเปซ และพาทเนอร์จากประเทศญี่ปุ่นก็เข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องจักรที่ใช้ในหลักสูตรอากาศยานให้กับวิทยาลับสัตหีบ 20-30 ล้านบาท และจะเปลี่ยนให้ใหม่ทุก 3 ปี เพื่อให้มีเครื่องจักรที่ทันสมัย
ล่าสุดผู้ผลิตชิ้นส่วนรถไฟรายใหญ่ของอิตาลี ก็เข้ามาหารือลงทุนผลิตชิ้นส่วนในพื้นที่ อีอีซี รวมทั้งยังมีบริษัทจากจีน และอีกๆอีกหลายรายก็จะเข้ามาลงทุนเพิ่ม และยังมีผู้ผลิตอุปกรณ์ 5จี จากไต้หวันก็จะเข้ามาลงทุนอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าต่างชาติยังคงให้ความสำคัญในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
“การที่ไทยรับมือวิกฤติคิด-19 ได้ดี ยิ่งส่งผลบวกต่อการลงทุนในไทย เพราะนักลงทุนต่างชาติจะมองปัจจัยความปลอดภัยด้านสุขภาพขึ้นมาเป็นอันดับ 1 มากกว่าปัจจัยเรื่องต้นทุนค่าแรงและเรื่องอื่นๆ เพราะชีวิตมีความสำคัญมากที่สุด”