'การบินไทย' 60 ปีที่ลำบาก
การนำ "การบินไทย" เข้าสู่ศาลล้มละลายครั้งนี้ คือทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว เพราะเป็นการประหยัดเงินภาษีประชาชนไว้ใช้ในกิจการอย่างอื่น เพราะสถานการณ์โควิดยังอีกยาวไกล เพราะแม้จะเลือกใส่เงินเข้าไปทั้งกู้และเพิ่มทุน วันหนึ่งปัญหาก็จะวนกลับมาที่เดิม
คณะรัฐมนตรี นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินมาถูกทางแล้วที่เลือกนำบริษัทการบินไทย เข้าสู่ศาลล้มละลาย เพื่อฟื้นฟูกิจการ หลังจากที่มีให้ตัดสินใจใน 3 ทางเลือก 1.ปล่อยให้ล้มละลาย เนื่องจากปัจจุบันมีสถานะหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และล้มละลายทางเทคนิคผ่านไปเรียบร้อยแล้ว 2.คลังค้ำเงินกู้ 54,000 ล้านบาทและใส่เงินเข้าเพิ่มทุน และ 3.เข้าศาลล้มละลาย
ซึ่งคณะรัฐมนตรีเลือกแนวทางที่ 3 เมื่อเห็นว่าเป็นทิศทางที่จะทำให้การบินไทยกลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง ทั้งนี้หลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงว่าเป็นความยากลำบากใจ แต่ก็เชื่อว่าแนวทางนี้ "เมื่อมีอาชีพเข้ามาบริหารจัดการแล้วการบินไทยจะกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ เป็นวิธีการเดียวที่การบินไทยจะประกอบกิจการต่อได้ พนักงานการบินไทยจะได้มีงานทำ การปรับโครงสร้างการบินไทยที่ควรสำเร็จมานานก็จะเกิดขึ้นได้ นั่นคือการตัดสินใจของผมและเป็นสิ่งที่รัฐบาลยึดมั่นปฏิบัติกับการบินไทย”
สำหรับแนวทางการฟื้นฟูกิจการการบินไทยนั้น ประกอบด้วย ประการแรกเริ่มจากการให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงการคลังขายหุ้นการบินไทย 3% ให้กองทุนวายุภักษ์ ภายหลังการขายหุ้นแล้วทำให้คลังเหลือการถือหุ้น 47% ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นการบินไทยรวม 1,113.93 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 51.03% หากกระทรวงการคลังต้องขายหุ้นออก 3% จะมีหุ้นที่ถูกขายออกมาราว 65.48 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นการขาดทุนรวม 654 ล้านบาท
ประการที่ 2.ปรับโครงสร้างการบริหาร โดยให้กรรมการลาออกจนเหลือ 3 คน ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าเหลือใครและจะเติมกรรมการใหม่เข้าไป ขั้นตอนที่ 3.ร้องขอต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเมื่อศาลรับฟื้นฟูกิจการ หนี้ของการบินไทยจะผิดนัดชำระหนี้ โดยอัตโนมัติ ในประเด็นนี้ทีมบริหารคิดว่าจะดูแลในส่วนหนี้สหกรณ์ 3.6 หมื่นล้านบาท ยืดหนี้ออกไป โดยมีเงื่อนไขจะจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม ขั้นตอนที่ 4.ล้มแนวคิดเดิมที่ต้องการให้การบินไทย เป็นโฮลดิ้ง คัมพานี โดยการยกเลิกการตัดขายกิจการในเครือทั้งหมด เช่น ครัวการบินไทย หรือไทยสมายล์ และ 5.ดูแลเจ้าหนี้ต่างประเทศ จะเดินคู่ขนานกับศาลไทยและศาลสหรัฐ
เราเห็นว่า การนำการบินไทย เข้าสู่ศาลล้มละลายครั้งนี้ คือทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว เพราะเป็นการประหยัดเงิน ภาษีประชาชน ไว้ใช้ในกิจการอย่างอื่น อย่างที่นายกรัฐมนตรีได้วิตก เพราะสถานการณ์โควิดยังอีกยาวไกล เพราะแม้จะเลือกใส่เงินเข้าไปทั้งกู้ และเพิ่มทุน วันหนึ่งปัญหาก็จะวนกลับมาที่เดิมอีกรอบ เนื่องจากไม่ผ่านการผ่าตัด
เพราะหากย้อนไปดู มีการคาดกันว่าวิกฤติโควิดครั้งนี้ ฐานะการเงินของการบินไทย สิ้นปี 2563 อาจจะขาดทุนสุทธิ 59,000 ล้านบาท ส่วนของทุน ติดลบ 4.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หนี้สินที่มีดอกเบี้ย ซึ่งไม่รวมค่าเช่าเครื่องบินอยู่ที่ 220,000 ล้านบาท ถือว่าอาการหนักพอสมควร การเลือกผ่าตัดเข้าสู่ศาลล้มละลาย เป็นเส้นทางบินใหม่ในรอบ 60 ปี แม้ทุกฝ่ายไม่อยากเลือก แต่เส้นทางกำหนดไว้เช่นนั้นแล้ว