เศรษฐกิจ 'ชาติลุ่มน้ำโขง' ระส่ำ แม้ยอดติดเชื้อ 'โควิด' น้อย
ประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในเชิงเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จะอยู่ในระดับต่ำ
แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 ฉุดจีดีพีประเทศทั้ง 4 แล้วก็มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเหมือนเดิม
ขณะนี้ ทั้ง 4 ประเทศพบผู้ติดเชื้อน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้า แต่กลายเป็นว่ากลับไปรับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักหนาสาหัสเช่นกัน จึงเกิดคำถามขึ้นมาอีกครั้งเกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั้ง 4 ในลุ่มน้ำโขง
บรรดานักวิเคราะห์จากเมย์แบงก์ กิมเอ็ง คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 4 ประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) จะลดลงเหลือ 3% ในปีนี้ จาก 6.9% ในปี 2562
ส่วนผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า รัฐบาลทั้ง 4 ประเทศอาจจะเรียกร้องขอให้ต่างชาติเข้ามาช่วยรับมือวิกฤติสาธารณสุขครั้งนี้ แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะต่ำมากเมื่อเทียบกับ 5 ชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าในอาเชียน เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
เมื่อวันศุกร์ (22 พ.ค.) กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่มีจำนวน 448 รายในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่งผลให้ขณะนี้สิงคโปร์มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 สะสมรวม 29,812 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่ของสิงคโปร์เป็นแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในหอพัก โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 90% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด
นอกจากนี้ สิงคโปร์มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 23 ราย แต่ต่ำกว่าอินโดนีเซีย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในภูมิภาค จำนวน 1,278 ราย
"ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในบรรดาประเทศที่เป็นหุ้นส่วนในอาเซียน เช่น กรณีของไทยจะสร้างแรงกดดันด้านการส่งออกแก่กลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะเมียนมาและลาว ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจะส่งผลในเชิงลบอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2563" ลินดา หลิว และชัว ฮัก บิน ระบุในรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง
หลิว และชัว เสริมว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกก็ปรับตัวร่วงลงอย่างหนักจากปัจจัยเรื่องระบบห่วงโซ่อุปทานและความต้องการในตลาดโลกลดลง
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศ CLMV มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีอยู่ที่ 6% ซึ่งช่วยหนุนตัวเลขการเติบโตของจีดีพีโดยรวมของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า 5 ประเทศให้ขยายตัวมากกว่า 4.6%
แต่ปีนี้ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวแค่ 3.6% จาก 7% ส่วนประเทศอื่น ๆ อย่างกัมพูชาขยายตัวแค่ 0.5% เทียบกับปีที่แล้วที่ขยายตัว 7% เมียนมาขยายตัว 2% ลดลงจากปีที่แล้วที่ขยายตัว 6.8% ส่วนลาวขยายตัว 2.4% ลดลงจากที่เคยขยายตัว 4.7% เมื่อปีที่แล้ว
เมย์แบงก์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจทั้ง 4 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงจะฟื้นตัวในปี 2564 แต่ในปี 2563 เศรษฐกิจทั้ง 4 ประเทศยังต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างหนัก
เหมือนกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน เม.ย.ว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวแค่ 2.7% ส่วนเมียนมาขยายตัวเพียง 1.8% ลาวขยายตัว 0.7% และกัมพูชาเศรษฐกิจหดตัวประมาณ 1.6% ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจทั้งภูมิภาคอาเซียน ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าปีนี้จะหดตัวประมาณ 0.7%
"กลุ่ม CLMV เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กมาก ประเทศเหล่านี้พึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า กัมพูชา ซึ่งพึ่งพารายงานจากอุตสาหกรรมสิ่งทอก็ขาดรายได้มหาศาลเพราะความต้องการสิ่งทอทั่วโลกลดลง" นักวิเคราะห์จากซีไอเอ็มบี ให้ความเห็น
ในส่วนของการรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลทั้ง 4 ประเทศในกลุ่ม CLMV พยายามทำทุกวิธีทางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างกรณีเวียดนาม จัดสรรเงิน 180 ล้านล้านด่อง (7.78 พันล้านดอลลาร์) ในช่วงต้นเดือนเม.ย. ไว้ใช้จ่ายในการลดภาษี เช่นเดียวกับกัมพูชาและเมียนมาใช้มาตรการยกเว้นภาษีแก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ส่วนลาวลดภาษีนิติบุคคลให้กับบริษัทขนาดเล็ก
แต่นักวิเคราะห์จากซีไอเอ็มบี มองว่ายังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัว
"ฐานะการเงินของประเทศเหล่านี้อยู่ในฐานะเปราะบาง แม้รัฐบาลทั้ง 4 ประเทศจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากแค่ไหนแต่ก็ยังไม่พอ อาจจะต้องถึงเวลาขอความช่วยเหลือจากต่างชาติทั้งจากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี)" ซอง เส็ง วุน นักเศรษฐศาสตร์ด้านไพรเวท แบงกิงของซีไอเอ็มบี กล่าว
จุดแข็งของ 4 ประเทศเรื่องค่าแรงราคาถูกที่เคยดึงดูดบรรดาผู้ประกอบการด้านสิ่งทอจากต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิต รวมทั้งบริษัทรถยนต์และบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่เมื่อเกิดปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานมีปัญหาก็ทำให้อุตสาหกรรมที่กล่าวมาพลอยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงไปด้วย
ฟิทช์ โซลูชัน เผยแพร่บทวิเคราะห์เมื่อเดือนก.พ. ว่า การผลิตรถในอาเซียนจะเผชิญภาวะขาลงในช่วงที่โรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด และเมียนมาเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดเนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในเมียนมาต้องพึ่งพาชิ้นส่วนรถยนต์จากจีน โดยมีสัดส่วนการพึ่งพาชิ้นส่วนจากจีน 28% ส่วนเวียดนามเป็นอันดับ 2 คือ 16.5%
ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความต้องการในเวียดนามอย่างมาก โดยราจีฟ บิสวาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส มาร์กิต ระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ยอดขายรถที่ผลิตในเวียดนามลดลง 35% โดยคาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี
ไม่ใช่มีแต่ชิ้นส่วนรถยนต์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ จีนยังเป็นแหล่งรายได้หลักด้านการท่องเที่ยวของทั้ง 4 ประเทศด้วย โดยหลิว และชัว ตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้หายไปมากเมื่อเทียบกับปี 2561
“จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนโดยรวม ไม่ใช่เฉพาะ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง โดยกัมพูชา พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในสัดส่วน 12.3% ของจีดีพี ตามมาด้วยเมียนมา 11.2% และเวียดนาม 6.6%” รายงานวิเคราะห์จากเมย์แบงก์ ระบุ