ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน รับมือเสี่ยง 'เฟส 3-4' ใช้วัคซีนสู้โควิดใน 3 ปี
ศบค. เคาะขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน รองรับการผ่อนปรนระยะที่ 3-4 ยังมีความเสี่ยงสูง สธ.คาด 3 ปี ผลิตวัคซีนสู้โควิดสำเร็จ เผยผลสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อ 2 รายล่าสุด พบคนเสี่ยงสูงแค่คนในครอบครัว พร้อมเร่งทำการค้นหาเชิงรุกพื้นที่ จ.ชัยภูมิ
วานนี้ (22 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ ภาพรวมประเทศมีผู้ป่วยสะสม 3,037 ราย รักษาหายแล้ว 2,910 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 71 ราย และเสียชีวิตสะสม 56 ราย แต่ 0 รายนี้ไม่ได้ 0 รายแบบเต็มที่ เพราะ ยังมีการรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ)ที่เป็นทางการอีก 2 รายจากผู้ที่เข้าพักในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) จำนวน 2 ราย ซึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศอียิปต์และอินเดีย
หากพิจารณาผู้ป่วยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 8-21 พ.ค.จำนวน 45 ราย หากพิจารณาสถานการณ์ในประเทศไทยจะแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1.ช่วงต้นเดือนมี.ค. มีการแพร่โรคต่ำระบาดในวงจำกัด 2.กลางเดือนมี.ค.-ต้นเม.ย. มีการระบาดในวงกว้าง 3.ช่วงเดือนเม.ย.ควบคุมได้ พบผู้ป่วยประปราย และ4.เดือนพฤษภาคม ควบคุมได้เต็มที่ มีผู้ป่วยรายใหม่เป็นหลักหน่วยและบางวันเป็น 0 ราย
ทั้งนี้สถานการณ์ของโลกยังเพิ่มขึ้น จึงมีความสำคัญจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการต่างๆที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารศบค.รับทราบและนำมาตัดสินใจร่วมด้วย
สธ.คาด3ปีผลิตวัคซีนสำเร็จ
นอกจากนี้ในการประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19ในประเทศไทยมีการศึกษา วิจัย พัฒนาอยู่ 6 เทคโนโลยี แยกตามหน่วยงานรับผิดชอบ ประกอบด้วย 1.จุฬาลงกรณ์ ไบโอเนท เอเชีย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)2.จุฬาลงกรณ์ และสวทช. 3. มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์ และสวทช. 4.มหาวิทยาลัยมหิดล(ศิริราช) สวทช. 5.มหาวิทยาลัยมหิดล และ6.สวทช. ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนทั่วโลก
ในส่วนของเป้าหมาย เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้ใช้วัคซีนในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่นนั้น ได้มีการดำเนินการใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.จองซื้อวัคซีนล่วงหน้า 2.การผลิตเองโดยการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศจากบริษัทที่ผลิตวัคซีนสำเร็จบริษัทร่วมทุน ซึ่งจะมีการปรับปรุงโรงงานเพื่อเตรียมการผลิตรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งหมดต้องใช้เวลา คาดว่าจะมีการวัคซีนสำเร็จใน 1 ปี แต่จะได้วัคซีนในจำนวนที่เหมาะสมเบื้องต้น หรือได้วัคซีนที่ผลิตได้เองในเวลาที่ใกล้เคียงกันกับเจ้าของเทคโนโลยีใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี 6 เดือน และ3.การสนับสนุนการวิจัย พัฒนาวัคซีนภายในประเทศ ด้วยการลงทุนสร้างโรงงานเพิ่ม ทุนสนับสนุนการวิจัยที่ยั่งยืน รองรับการระบาดในอนาคต และมีความมั่นคงด้านวัคซีน จะมีโรงงานพร้อมดำเนินงานกำลังการผลิตที่เพียงพอในอีก 3 ปี เพราะฉะนั้น ใช้เวลาอีกนานกว่าที่คนไทยจะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงจำเป็นที่คนไทยจะต้องอยู่ในวิถีชีวิตแบบใหม่ไปอีกนาน
ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เล็งปรับเคอร์ฟิว
นพ.ทวีศิลป์ แถลงถึงมติที่ประชุมศบค.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบขยายประกาศการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ไปอีก 1 เดือนตั้งแต่1-30 มิ.ย.นี้ ตามที่พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)นำเสนอใน3เหตุผล 1.ยังคงจำเป็นต้องบังคับใช้เพื่อความเป็นเอกภาพรวดเร็วโดยต้องใช้กฎหมายประกอบ40ฉบับมาอยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
2.เตรียมรองรับการผ่อนปรนระยะที่3-4ซึ่งกิจการที่มีความเสี่ยงสูงจะปรากฏขึ้น และ3.สถานการณ์การแพร่ระบาดและติดเชื้อยังไม่สิ้นสุดหลายประเทศการระบาดยังสูงจึงมีความจำเป็นต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดประเทศมีมาตรการรองรับความเสี่ยงที่อาจมีการกลับมาระบาด
ส่วนการปรับลดเวลาเคอร์ฟิวจากเดิม23.00 -04.00น.นั้นที่ประชุมโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีการพูดถึงถ้ามีการผ่อนปรนระยะที่3ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือไม่มั่วสุมดื่มสุราหรือออกจากเคหสถานโดยไม่จำเป็นและตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงก็มีโอกาสที่ศบค.จะลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวลง
ตรวจคนใกล้ชิด2ผู้ป่วยเสี่ยงต่ำ
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลการสอบสวนโรคผู้ติดโควิด-19ในประเทศไทย 2 รายล่าสุดว่า ผู้ป่วยรายแรกที่เป็นชายไทย อายุ 72 ปี ซึ่งมีประวัติไปตรวจโรคประจำตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และไปร้านตัดผมย่านประชาชื่นนั้น พบว่า ผู้ป่วยมีการระมัดระวังตัวเองดีมากเพราะเป็นผู้ป่วยโรคที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจึงใส่หน้ากากเป็นประจำ
ซึ่งทีมสอบสวนโรคได้ลงพื้นที่ร้านตัดผม ได้รับรายงานว่าไม่มีลูกค้ารายอื่นที่ใช้บริการในเวลาเดียวกับผู้ป่วย แต่มีในส่วนของพนักงานร้านอยู่ในเวลาดังกล่าว 8 รายแต่ทุกคนใส่หน้ากากตลอดเวลา จึงถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้ ร้านดังกล่าวให้ความร่วมมือด้วยการปิดร้านชั่วคราวและให้พนักงานทุกคนหยุดเฝ้าระวังอาการตนเอง ดังนั้น ในกรณีผู้ป่วยรายนี้ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเฉพาะคนในครอบครัว2-3 คนเท่านั้น อยู่ระหว่างการตรวจหาเชื้อ
ส่วนกรณีชายชาวเยอรมัน อายุ 42 ปี เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือนม.ค. และมีประวัติเดินทางไปที่จ.ชัยภูมิ จากการตรวจเชื้อจากภรรยาและลูกไม่พบเชื้อ เพราะฉะนั้น คนที่ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่สุดคือคนในครอบครัวไม่ติดเชื้อ บุคคลอื่นที่ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ.