'ประยุทธ์' เตรียมแจง 4 พ.ร.ก. คลังงัดข้อมูลสภาพัฒน์โต้ตีเช็คเปล่า

'ประยุทธ์' เตรียมแจง 4 พ.ร.ก. คลังงัดข้อมูลสภาพัฒน์โต้ตีเช็คเปล่า

นายกฯ ยันเตรียมพร้อมแจงสภาฯด้วยตนเอง "อุตตม" มั่นใจแจงได้ สั่งงัดข้อมูลสภาพัฒน์โต้ปมตีเช็คเปล่า ด้านฝ่ายค้านลั่นโหวตผ่านแบบมีเงื่อนไข จี้ตั้ง กมธ. ตรวจสอบใช้งบรายงานสภาทุกเดือน ขณะที่“ชวน” อ้างปัญหากฎหมาย-กฤษฎีกาตีความ โอนงบสภาไม่ได้

ความเคลื่อนไหวก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินจำนวน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาทในวันที่27-31 พ.ค.นี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ว่านายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องกรอบเวลาที่จะใช้ในการอภิปราย แต่ส่วนตัวเชื่อว่าการประชุมทั้งหมดจะราบรื่นไม่มีปัญหา เนื่องจากนายชวน สามารถควบคุมบรรยากาศการประชุมได้ เพราะเวลาที่จะใช้ในการประชุมต้องคำนึงถึงการประกาศเคอร์ฟิวที่ไม่ควรจะให้เกินเวลาที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามนายกฯจะเดินทางไปสภาฯ เพื่อชี้แจงด้วยตนเองทั้งหมด

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่าได้หารือสมาชิกพรรคพลังประชารัฐจำนวนประมาณ 30 คนเพื่อรับฟังแนวทางการออกพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการอภิปรายทั้งนี้ ที่ผ่านมาเราเตรียมข้อมูลให้วิปรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว

กรณีที่ฝ่ายค้านระบุว่า พ.ร.ก.กู้เงินเป็นการตีเช็คเปล่าเรื่องนี้เราสามารถชี้แจงได้ เรามีกรอบที่สภาพัฒน์ได้ยกร่างมาแล้วว่า กรอบในการดำเนินการเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่า การดำเนินการจะมีการกลั่นกรองอย่างไร และผ่านคณะรัฐมนตรี การจัดซื้อจัดจ้างต้องผ่านระเบียบตามปกติ และมีกลุ่มเป้าหมายโครงการ ฉะนั้น ตนเห็นว่ากรอบการดำเนินการมีอยู่แล้ว

ส่วนการตรวจสอบโครงการมีแน่นอน ต้องให้คณะกรรมการกลั่นกรองติดตามใกล้ชิด หน่วยที่ได้รับงบประมาณไปก็ต้องแจ้งความคืบหน้าต่อทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะที่เป็นหน่วยงานกู้ เมื่อโครงการเสร็จ กระทรวงการคลังก็ต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรยืนยันว่ามีขั้นตอนให้เกิดความรัดกุม เปิดเผยและโปร่งใสและไม่ปิดกั้นว่าภาคส่วนไหนที่จะมาร่วมคิดโครงการแต่ขณะนี้โครงการของกระทรวงการคลังอยู่ในช่วงการหารือ

“สนธิรัตน์” วอนอภิปรายสร้างสรรค์

ส่วนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถชี้แจงรายละเอียดและความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ เพื่อให้เกิดการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้อย่างรอบด้าน

“ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้การอภิปรายที่จะเกิดขึ้นพ.ร.ก.กู้เงินและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงมาชี้แจงกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่า พร้อมจะรับฟังทุกข้อเสนอที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งระยะเวลา 3 วัน ถือว่าเพียงพอที่ส.ส.ฝ่ายค้านจะทำทำการอภิปรายซักถามและตรวจสอบ ไม่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาถึง 5 วัน ” นายสนธิรัตน์กล่าว

เตือนฝ่ายค้านมีความรับผิดชอบ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล​ (วิปรัฐบาล) เปิดเผยภายหลังเพื่อหาข้อยุติต่อการจัดสรรเวลาว่า ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล ได้รับการจัดสรรเวลา 660 นาที หรือ 11 ชั่วโมง เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้เวลา 660 นาที หรือ 11 ชั่วโมงขณะที่การแบ่งเวลาให้ส.ส. แต่ละพรรคนั้น ได้กำหนดเวลามาตรฐาน คนละ 7 นาทีโดยเวลาที่คำนวณให้แต่ละพรรคนั้น เป็นหน้าที่ของพรรคที่จะเป็นผู้จัดสรรเวลาเอง

ทั้งนี้นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร.ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมวิปรัฐบาลไม่ได้กำชับให้ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลต้องทำหน้าที่เพื่อปกป้องรัฐบาลและไม่มีความกังวลใดๆส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านตั้งประเด็นอภิปรายทั้งการส่อการทุจริตการใช้เงิน หรือการตีเช็คเปล่านั้น เป็นสิทธิที่ฝ่ายค้านจะตั้งข้อสังเกตได้ และรัฐบาลมีหน้าที่จะชี้แจง

“ที่กังวลว่าฝ่ายค้านจะใช้สภาฯ เป็นเวทีโจมตีรัฐบาลนั้น อยู่ที่เขา แต่ผมเชื่อว่าคนที่พูดนั้นต้องรับผิดชอบตัวเอง ทั้งนี้ผมเชื่อว่าฝ่ายค้านเอง ไม่มีประเด็นที่จะขัดข้องต่อการกู้เงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ”นายชัยวุฒิ กล่าว

ฝ่ายค้านยันผ่านมีเงื่อนไข

ส่วนท่าทีฝ่ายค้านนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านแถลงถึงผลการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรคว่า เบื้องต้นพรรคร่วมฝ่ายค้านใช้สิทธิอภิปรายประมาณ 60-65 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย35 คนพรรคก้าวไกล15 คน ส่วนที่เหลือที่ลดลั่นไปตามสัดส่วนของส.ส.ฝ่ายค้านแต่ละพรรค

ทั้งนี้ฝ่ายค้านยังคงยืนยันว่าหากจะให้ฝ่ายค้านให้ความเห็นชอบกับพ.ร.ก.จะต้องมีเงื่อนไขบางประการ เมื่อรัฐบาลไม่ได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เงินมาเสนอต่อสภาฯ จึงจำเป็นต้องขอให้รัฐบาลรับปากต่อสภาฯได้หรือไม่ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาและตรวจสอบการใช้เงินพร้อมกับการที่รัฐบาลจะรับปากว่าจะทำรายงานการใช้เงินกู้เสนอมายังสภาเดือนละครั้ง

ส่วนการอภิปรายของฝ่ายค้านเราเอาบทเรียนในอดีตมาแก้ไข โดยจัดสรรเวลาแบบวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ การประชุมสภามีปัจจัยหลายเรื่องแต่เราจะให้เกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด

เตือนรบ.รับผิดชอบองค์ประชุม

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หน้าที่รับผิดชอบองค์ประชุมจะไม่ได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่จะเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน โดยตามขั้นตอนถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกำหนด หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกำหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

อ้างปัญหาก.ม.ไม่หั่นงบสภา

ส่วนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์หลังรัฐสภาไม่ถูกตัดงบประมาณตามร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โอนงบประมาณรายจ่ายย พ.ศ. .... ว่า ผู้ที่ไม่ตัดงบประมาณรัฐสภา คือ รัฐบาลไม่ได้เกี่ยวกับทางรัฐสภา ในทางกลับกัน ทางเรายินดีที่จะถูกตัดงบ10เปอร์เซ็นต์ เพื่อช่วยเยียวยาและฟื้นฟูวิกฤตโควิด-19 เพียงแต่ตรงนี้เป็นปัญหาทางกฎหมาย

จากเดิมรัฐสภาตัดงบประมาณไปประมาณ 300 ล้านบาท แต่ตอนนี้ได้มีหนังสือแจ้งมาแล้วว่าตัดไม่ได้ ไม่ใช่ว่ารัฐสภาไม่ให้ตัด และถึงอย่างไรถ้างบประมาณก้อนดังกล่าวไม่ได้ใช้ สุดท้ายก็ต้องคืนให้คลังอยู่ดี

เช่นเดียวกับนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ กล่าวว่า ทางกฤษฎีกาตีความว่าเนื่องจากงบประมาณที่โอนมาให้สภาถือเป็นทรัพย์สินของสภาแล้ว จึงไม่สามารถตัดงบได้ ทั้งนี้ ยังพบว่าหน่วยงานของศาลก็ไม่สามารถตัดงบประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ได้เช่นกัน เพราะเป็นหน่วยงานอิสระ

ส.ว.ยันไร้อำนาจตั้งทีมสอบพ.ร.ก.

ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัยประธานวุฒิสภา เปิดเผยว่า การพิจารณาพ.ร.ก.4 ฉบับทางวุฒิสภาพร้อมจะพิจารณาในวันที่ 1 มิ.ย. หากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จในวันที่ 31 พ.ค. ส่วนข้อเสนอของ ส.ว. ที่จะตั้งกรรมการอิสระมาพิจารณาการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินนั้น ส.ว. มีอำนาจในการพิจารณาและอภิปรายเพื่อให้ความเห็นกับฝ่ายบริหารเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจในการตั้งกรรมาธิการ

ศก.ใหม่อ้างมติพรรคโหวตหนุน

ด้านนายสุภดิช อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องเข้าร่วมกับพรรครัฐบาล หลังจากที่ก่อนหน้านี้ระบุว่าจะทำงานเป็นฝ่ายอิสระ เพราะต้องการหาสังกัดเพื่อให้การทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันการเข้าร่วมรัฐบาลเป็นไปตามมติของกรรมการบริหารพรรค ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจของส.ส.อย่างเดียว เมื่อเป็นมติพรรคแล้ว ส.ส.ต้องปฏิบัติตาม ส่วนนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่อาจไม่ยอมรับมตินั้น เมื่อมติพรรคสรุปเช่นไร ส.ส.ควรปฏิบัติตาม ต้องไปถามนายมิ่งขวัญเองว่าจะทำอย่างไร

ส่วนการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล เพื่อแลกกับตำแหน่งประธานกมธ.1คณะยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ตำแหน่งประธานกมธ.ที่พรรคเศรษฐกิจใหม่จะได้รับนั้น เพราะส.ส.อนาคตใหม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 11 คน ทำให้พรรคก้าวไกลต้องลดตำแหน่งประธานกมธ.ลงมา 2 คณะ