'วิรไท' เคลียร์ปม พ.ร.ก. 3 ฉบับ ย้ำของธปท. 'ไม่ใช่กู้เงิน'
วิรไท แจง เงินพ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านบาท ชี้ไม่ควรเรียก เป็นพ.ร.ก.กุ้เงิน ชี้ เมื่อครบกำหนด 2 ปี แบงก์จะได้เงินกู้ซอทฟ์โลนคืน เช่นเดียวกับ BSF ที่เป็นการให้เงินกู้ชั่วคราว เมื่อครบกำหนดสามารถเอาเงินคืนกลับมาได้ ยันไม่เป็นภาระการคลัง-ภาษี
วันนี้ (27 พ.ค.) นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเปิดเผย ผ่าน Facebook ส่วนตัว กรณี มีการอภิปราย ในสภาฯ ว่ารัฐบาลมีการออก พระราชกำหนด กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาทนั้น
ขอยืนยันว่า พรก. ที่ ธปท. เสนอ “ไม่” ควรเรียกว่าเป็น พรก. กู้เงิน เพราะหัวใจของ พรก. ทั้งสองฉบับคือการให้อำนาจ ธปท. เข้าไปบริหารจัดการสภาพคล่องได้ตรงจุด เพราะ เมื่อครบเวลาสองปี เงินที่ ธปท. ปล่อย soft loans ผ่านสถาบันการเงินไปให้ SMEs สถาบันการเงินก็ต้องเอากลับมาคืน ธปท.
ส่วนเงินที่ ธปท. จะลงทุน ผ่านกองทุน BSF เป็นการให้ bridge financing ชั่วคราว เมื่อครบกำหนดก็เอาเงินกลับมาคืน ธปท. ธปท. ถึงต้องเน้นเรื่องคุณภาพของตราสารที่กองทุน BSF เข้าไปลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
ทั้งกลไกของ soft loans และกองทุน BSF ไม่ใช่การกู้เงิน 900,000 ล้านบาทมาใช้จ่าย หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ได้สร้างภาระการคลัง 900,000 ล้านบาท หรือไม่ได้สร้างภาระภาษี 900,000 ล้านบาทให้ลูกหลานเหมือนกับที่หลายท่านกังวล
ทั้งสองกลไกอาจจะสร้างภาระการคลังในอนาคตได้บ้าง ถ้าสินเชื่อ soft loans ที่ปล่อยให้ SMEs จำนวนมากเกิดกลายเป็นหนี้เสีย หรือตราสารหนี้ที่กองทุน BSF เข้าไปลงทุนไม่ได้รับชำระหนี้คืน ซึ่งตาม พรก. แล้วรัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ธปท. ตระหนักดีว่าทั้งสองกลไกที่ ธปท. เสนอไม่พึงสร้างภาระการคลังให้กับคนไทยในอนาคต จึงต้องมีเงื่อนไขด้านคุณภาพอย่างรัดกุมทั้งการปล่อยสินเชื่อผ่าน soft loans และการลงทุนผ่านกองทุน BSF