'กุลิศ' ตั้ง 7 เงื่อนไขเข้ม งบกองทุนอนุรักษ์ปี63
“กุลิศ” วาง 7 เงื่อนไขเข้มกลั่นกรองของบกองทุนอนุรักษ์ฯปี2563 หลังยอดขอทะลุ 6 หมื่นล้านบาท ทำมีส่วนเกินกรอบวงเงิน 5,600 ล้านบาท ชี้พร้อมปัดตกโครงการคัดลอกของเก่า หรือ Copy&Paste ก่องชง บอร์ดชุดใหญ่ อนุมัติ มิ.ย.นี้
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กองทุนอนุรักษ์ฯ) เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการฯ วานนี้(27 พ.ค.) ได้สรุปยอดการยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ ประจำปีงบประมาณ 2563 ระหว่างวันที่ 8-18 พ.ค.2563 พบว่า มีจำนวนทั้งหมด 5,155 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 62,616 ล้านบาท จากกรอบการจัดสรรเงินกองทุนฯ มีอยู่ที่ 5,600 ล้านบาท สูงเกินกรอบวงเงินประมาณ 11 เท่า
โดยโครงการฯที่ยื่นเขามาแบ่งเป็นในกลุ่มแผนเพิ่มประสิทธิภาพ 1,134 โครงการ วงเงิน 20,874 ล้านบาท (วงเงินจัดสรร 2,400 ล้านบาท) และแผนพลังงานทดแทน 4,021 โครงการ วงเงิน 41,743 ล้านบาท (วงเงินจัดสรร 3,200 ล้านบาท)
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาและกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างละเอียดรอบคอบและให้ครอบคลุมหลายมิติ โดยลำดับแรกจะพิจารณาว่าเป็นไปตามเงื่อนไขการจัดทำข้อเสนอโครงการและเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกองทุนฯหรือไม่ เช่น ผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนไม่เข้าข่ายเป็นผู้ขอรับแทนกัน มีข้อมูลด้านความคุมค่า กรณีเป็นโครงการต่อเนื่องต้องมีผลความก้าวหน้าและผลการเบิกจ่ายมากกว่า 50% ของโครงการในปีที่ผ่านมา มีข้อมูลด้านศักยภาพของหน่วยงานและเชิงพื้นที่ เป็นต้น
สำหรับเงื่อนไขพิจารณาโครงการกำหนดไว้ 7 ข้อในการพิจารณากลั่นกรอง ดังนั้น 1.เน้นโครงการที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 โดยมีกิจกรรม/ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่แสดงความสำเร็จของโครงการ/กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับผลประโยชน์ชัดเจน รวมถึงแสดงถึงจุดสิ้นสุดของโครงการ มีหน่วยงานรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลโครงการต่อ
2.เน้นโครงการที่มีข้อมูลทางเทคนิคของอุปกรณ์มาประกอบการพิจารณา โดยแสดงผลประหยัดที่ถูกต้อง มีระยะเวลาการคืนทุน มีข้อมูลความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการชัดเจน
3.เน้นโครงการที่ผู้ขอยื่นรับการสนับสนุนไม่เข้าข่ายเป็นผู้ขอแทนกันในลักษณะที่ไม่ใช่เจ้าของหน่วยงานในสังกัดเดียวกัน 4.กรณีที่เป็นโครงการต่อเนื่อง ต้องมีรายงานแสดงผลการเบิกจ่ายของปีที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่า 50% และมีรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 50% โดยแสดงข้อมูลดังกล่าว ณ วันที่ยื่นข้อเสนอโครงการ
5.ไม่สนับสนุนโครงการที่ขอดำเนินการในลักษณะเดียวกับโครงการสาธิตริเริ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ หรือมีการดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว 6.กรณีเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผลผลิตภาคการเกษตรจะต้องสามารถวัดผลได้ ว่ามีการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร
และ 7.ทรัพย์สินที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ถือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ได้รับการสนับสนุนจะต้องบำรุงรักษาต่อไป โดยหากโครงการที่ยื่นเสนอมาผ่าน 7 เงื่อนไขแล้วถึงจะได้รับการพิจารณา และให้คะแนนต่อไป
“ยอมรับว่า ปีนี้ค่อยข้างหนักหนา มีคนยื่นเสนอโครงการจำนวนมาก จึงได้ตั้งคณะทำงานฯขึ้นมาช่วยกลั่นกรอง แยกประเภทโครงการ ดูตามเงื่อนไข และให้คะแนน ซึ่งหากโครงการไหนไม่ผ่านเงื่อนไขก็จะไม่มีการพิจารณา และโครงการประเภทCopy&Paste กว่า 20 โครงการ ก็จะไม่เข้าเกณฑ์ แต่คณะอนุกรรมการฯไม่มีสิทธิตีตก เพราะไม่มีอำนาจ”
อย่างไรก็ตาม คาดว่า คณะอนุกรรมการฯ จะใช้ระยะเวลาประชุมกลั่นกรองโครงการให้แล้วเสร็จประมาณ 7-8 ครั้ง เพื่อเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติในปลายเดือนมิถุนายนต่อไป