เปลี่ยนวิกฤติ (โควิด-19) ให้มองเห็นปัญหา เยียวยาแรงงานในระบบ
การเยียวยาแรงงานในระบบ จากประกันสังคม ยังคงมีลูกจ้างบางส่วนที่ไมไ่ด้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากนายจ้างไม่แจ้งกับประกันสังคม รวมถึงปัญหาอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นโจทย์สำคัญให้ภาครัฐ เปลี่ยนวิกฤติ ในสถานการณ์โควิด-19 เป็นการมองเห็นปัญหา เตรียมรับมืออนาคต
ยังมีลูกจ้างอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถรับเงินเยียวยาจากประกันสังคมได้ เนื่องจากนายจ้างไม่แจ้งกับประกันสังคม เกิดคำถามที่ว่า การที่นายจ้างปิดกิจการชั่วคราวนั้น เข้าเกณฑ์เหตุสุดวิสัยของประกันสังคมหรือไม่ ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าว กลายเป็นโจทย์สำคัญให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกมาตรการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน รวมทั้งวางแผนรับมือผลกระทบกับแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะแรงงานรุ่นใหม่ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถสร้างงานได้จริง สอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้น
ว่ากันว่ามีผู้ประกันตน ม. 33 เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับการเยียวยาจากประกันสังคม 62% จากการปิดกิจการชั่วคราวเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากปัญหาความล่าช้า การไม่ได้รับเงินเนื่องจากนายจ้างไม่แจ้งกับประกันสังคมแล้ว ยังเกิดคำถามที่ว่า ตอนนี้เราได้รับเงินที่รัฐเยียวยา หรือกำลังใช้เงินของตนเองที่สะสมไว้?
วาสนา ลำดี อายุ 52 ปี เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการมาตรการปิดสถานบริการ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 โดยในช่วงแรก ได้รับเงินเยียวยาจากนายจ้าง จากการหยุดกิจการชั่วคราวมาตรา 75 และภายหลังสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 จากการหยุดกิจการชั่วคราวโดยเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ผู้ประกันตนมีสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับแจ้งว่าจะได้รับเงินในวันนี้ (26 พฤษภาคม) ประมาณ 51 วัน ราวหมื่นกว่าบาท
- เปิดได้แต่ก็ใช่ว่าจะพร้อม
ปัจจุบันมีการผ่อนปรนให้เปิดพิพิธภัณฑ์ได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อม จัดหาที่ตรวจวัดไข้ เจลล้างมือ และเตรียมการห้องประชุมต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการรัฐ ก่อนจะทำการเปิดในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ เดิมมีรายได้จากการบริจาคค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยว การเปิดให้เช่าพื้นที่ห้องประชุม แต่เดิมจุคนได้มากสุด 80 คน ตอนนี้ต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างไม่เกิน 15 คน คนเข้ามาประชุมต้องผ่านการตรวจวัดไข้ ใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างในการประชุม
ด้วยความที่ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับการเยียวยาจากประกันสังคมเพียงอย่างเดียว บางคนค่าจ้างต่ำ ทำให้ไม่สามารถดำรงชีพได้จากเงิน 75% หรือ 62% แม้จะได้ค่าจ้าง 100% ก็ยังอยู่แทบไม่ได้ ต้องทำงานล่วงเวลาเสริม หรือบางคนรายได้เงินเดือน 30,000 บาท นายจ้างให้เลือกระหว่างลดเงินเดือน 50% กับไปรับเงินประกันสังคม 62% จากเพดาน 15,000 บาท ก็ต้องยอมลดเงินเดือนตัวเอง ลงครึ่งหนึ่ง เพราะหากไปรับ 62% จะได้น้อยมากไม่เพียงพอกับรายจ่าย รวมถึงผู้ประกันตนมาตรา 39 กับ 40 ต้องให้ไปรับเงินจากกระทรวงการคลัง
- เรียนรู้อดีตแก้ปัญหาในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีลูกจ้างอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถรับเงินเยียวยาจากประกันสังคมได้ เนื่องจากนายจ้างไม่แจ้งกับประกันสังคม เกิดคำถามที่ว่า การที่นายจ้างปิดกิจการชั่วคราวนั้น เข้าเกณฑ์เหตุสุดวิสัยของประกันสังคมหรือไม่ ดังนั้นรัฐควรจะมีมาตรการตรวจสอบชัดเจน โดยเฉพาะนายจ้างที่แอบแฝงมาใช้การปิดกิจการชั่วคราวโควิด-19 ซึ่งความจริงมีทั้งนายจ้างที่เดือดร้อนและไม่เดือดร้อน ที่เข้าเกณฑ์เหตุสุดวิสัย 62% ต้องตรวจสอบ เข้าเกณฑ์หรือไม่ต้องให้ชัดเจน
ถัดมา คือ รัฐต้องพิจารณากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่มีอยู่ เพราะในอนาคตอาจจะมีวิกฤตทำให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงาน หรือทำให้คนต้องเปลี่ยนงานใหม่ ในอนาคตมีแนวโน้มว่าลูกจ้างในระบบจะออกสู่นอกระบบมากขึ้น เนื่องจากคนจบใหม่ไม่ค่อยเข้าสู่ในระบบ ดังนั้น รัฐต้องมีมาตรการดูแลคนในอนาคตแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
“กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง อาจจะต้องปรับปรุงให้กองทุนประกันความเสี่ยงในอนาคตลูกจ้าง หากเกิดวิกฤตการเลิกจ้างอีกในอนาคต ต้องมีระบบการจัดการที่ใหญ่มากขึ้น มองไปข้างหน้าในการแก้ไขปัญหา ขณะที่ปัจจุบัน เงินประกันสังคมถูกใช้ไปส่วนหนึ่งเนื่องจากต้องเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ และอีกไม่นานด้วยวิกฤตโควิดทำให้นายจ้างต้องปรับเปลี่ยนการจ้างงาน เทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามา ทำให้คนงานอาจไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบโรงงาน รัฐต้องมีมาตรการชัดเจน ในการทำแผนฟื้นฟูในอนาคต"
รวมทั้งต้องมีระบบการพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถสร้างงานได้จริง ทำให้คนก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่แค่การพัฒนาให้เขาหยอดขนมครกเป็น กู้เงินมา เพื่อเปิดร้านขายขนมครก แต่ควรจะต้องดูว่าเขาจะอยู่รอดอย่างไร มีการพัฒนาอะไรบ้าง รัฐควรจะส่งเสริมและพัฒนา ไม่ใช่แค่การสอนให้หยอดขนมครก 100 คน มันไปไม่รอด ให้ความรู้แล้ว ต้องให้เครื่องมือ สอนให้เขาว่ายน้ำ รัฐต้องคิดให้ครอบคลุมทั้งระบบ
“การอบรมอาชีพทางการเกษตร แต่ที่ดินไม่มี ดังนั้น ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้พัฒนาฝีมือแรงงาน ไปกับเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้น ทำให้คนเข้าใจว่าอนาคตจะมีอะไร มองให้กว้างขึ้น แนวคิดสวัสดิการสังคม จะทำให้คนไม่หลุดรอดออกจากตะแกรงที่เป็นสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดให้ได้อย่างไร” วาสนา กล่าว
- สปส.ระดมเพื่อนช่วยเพื่อน เยียวยาผู้ประกันตนว่างงาน
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง การช่วยเหลือผู้ประกันตนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ว่าได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่วินิจฉัยสั่งจ่ายอย่างเร่งด่วน และในขณะนี้ปรากฏว่ามีผู้ประกันตนยื่นคำขอ รับประโยชน์ทดแทนกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยวันละ 20,000 – 25,000 รายต่อวัน จึงได้สั่งการให้ มีการสนับสนุนเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจากส่วนกลางลงพื้นที่ช่วยเหลือสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ จังหวัด/สาขา เพื่อให้การปฏิบัติงานจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแล้วเสร็จโดยเร็ว
ล่าสุดได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเป็นชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่สนับสนุนการปฏิบัติงาน ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2, พื้นที่ 3, พื้นที่ 4, พื้นที่ 9, พื้นที่ 10, พื้นที่ 12, สำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต และสาขากระทู้ รวมถึงสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี สาขาศรีราชา สำหรับในเรื่องของเอกสารการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมยังได้มีการบริหารจัดการ แบบเพื่อนช่วยเพื่อน จังหวัดเล็กช่วยจังหวัดใหญ่ ร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานเพื่อบันทึกข้อมูลวินิจฉัยสิทธิ ระหว่างสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ จังหวัด/สาขา ที่มีผู้ประกันตนมาใช้สิทธิน้อย กับพื้นที่จังหวัดที่มีผู้ประกันตนมาขอใช้สิทธิกรณีดังกล่าวจำนวนมาก เพื่อให้การดำเนินงานจ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นไปอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนกลางได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ยังสำนักงานประกันสังคม (สำนักงานใหญ่) ตั้งอยู่ที่สำนักงานประกันสังคม 88/28 หมู่ที่ 4 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เพื่อช่วยเหลือรับข้อร้องเรียน และอุทธรณ์จากการยื่นของรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยฯ จากผู้ประกันตน พร้อมรับเรื่องการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทุกกรณีควบคู่ไปด้วย โดยจำนวนผู้ประกันตนที่มาใช้บริการ เฉลี่ยวันละ 500-600 รายต่อวัน เปิดให้บริการในวันราชการ เวลาทำการ 08.00 น. - 18.00 น.
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 มีผู้ประกันตนยื่นขอใช้สิทธิแล้ว 1,331,991 ราย ยื่นของใช้สิทธิรายใหม่ 17,903 ราย วินิจฉัยสั่งจ่ายสะสม 1,227,952 ล้านราย จ่ายสิทธิประโยชน์ว่างงานไปแล้ว 7,062.879 ล้านบาท ทั้งนี้ได้เร่งรัด พร้อมให้กำลังใจหน่วยปฏิบัติ จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ที่พร้อมขับเคลื่อนงานการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับเงินช่วยเหลือโดยรวดเร็วที่สุด