‘แชร์ลูกโซ่’ 2020 เป็นอย่างไร? เปิด 6 จุด จับสังเกตก่อนตกเป็นเหยื่อ

‘แชร์ลูกโซ่’ 2020 เป็นอย่างไร? เปิด 6 จุด จับสังเกตก่อนตกเป็นเหยื่อ

ทำความเข้าใจลักษณะของ “แชร์ลูกโซ่” หลอกลวงลงทุน ออมเงินดอกเบี้ยสูงช่วง “โควิด-19” พร้อม 6 จุด จับสังเกตที่ช่วยให้พิจารณาจับพิรุธกลโกงเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

การชักชวนให้ลงทุน สร้างผลตอบแทนสูงๆ ในระยะเวลาสั้นๆ ยังคงเป็นกลเม็ดที่เหล่า “มิจฉาชีพ” หยิบยกมาจูงใจให้ประชาชนเข้ามาติดกับ “แชร์ลูกโซ่” ได้อยู่เสมอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเหล่ามิจฉาชีพเหล่านี้ค่อยๆ เปลี่ยนวิธีการชักชวนไปตามยุคสมัย สร้างเรื่องราวสารพัดรูปแบบ เพื่อหาช่องให้เหยื่อติดกับดักในรูปแบบใหม่ๆ  

"แชร์ลูกโซ่" คือคำเรียกลักษณะการล่อลวงให้ลงทุนเป็นเครือข่าย ที่มุ่งหารายได้จากการระดมทุน โดยมักการันตีว่าสามารถให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น ทั้งที่ความเป็นจริงไม่มีการลงทุน แต่นำเงินของสมาชิกใหม่มาเวียนเป็นผลตอบแทนให้สมาชิกเก่าตามที่กล่าวอ้างในตอนแรกเพื่อสร้างความหน้าเชื่อถือและเมื่อไม่สามารถหาสมาชิกใหม่มาลงทุนเพิ่มได้ ก็จะไม่มีเงินมาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตาม ที่สัญญาไว้และในที่สุดก็ต้องปิดกิจการหนีไป

ไม่ว่าจะมีการชักชวนในรูปแบบไหน “แชร์ลูกโซ่ ก็มักจะมีโมเดลที่คล้ายๆ กัน เสมอ “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมลักษณะสำคัญของแชร์ลูกโซ่ จาก กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. และ กองปราบปราม ที่มักจะแฝงมาในคำเชิญชวนรูปแบบต่างๆ ที่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจร่วมลงทุน ก่อนตกเป็นเหยื่อ ดังนี้

159066976651

 1. ลงทุนน้อยผลตอบแทนสูง 

“ออมเงินได้กำไร ราย7วันกำไรจุก

ลงทุนคริปโตเคอเรนซี การันตีผลตอบแทนทุกเดือน” 

คำชักชวนหลากหลายรูปแบบ ที่มีใจความสำคัญสื่อถึงการสร้างผลตอบแทนที่ได้มาง่ายๆ ยิ่งลงทุนเยอะ ยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง เป็นจุดสังเกตหลักที่ต้องเอะใจทันทีที่ได้รับคำเชิญชวนเหล่านี้ เพราะการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงลิบในระยะเวลาสั้นๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก หรือเรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลยก็คงไม่ผิด

เช่น กรณีแชร์แม่มณีที่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อร่วม 4,400 คน รวมมูลค่าความเสียหาย 1,396 ล้านบาท หรือกรณีที่มีการชวนออมเงินดอกเบี้ยสูง ผ่านโซเชียลมีเดียที่มีแนวโน้มเป็นแชร์ลูกโซ่ ที่มีการโฆษณาว่า "ออมเงินได้กำไร ราย 7 วัน กำไรจุก" ซึ่งเป็นแชร์ลูกโซ่อีกหนึ่งรูปแบบที่มักถูกนำมาใช้ หรือที่เรียกว่าการ “ออมกินดอก” ใช้วิธีฝากเงินระยะสั้นๆ แต่ให้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ

ดร.พีรพัฒน์ ฝอยทอง ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย/นักวางแผนการเงินส่วนบุคคล ได้อธิบายถึงการออมกินดอก ไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัว ซึ่งกำลังระบาดแข่งกับโควิด-19 พร้อมบอกเหตุผลที่ฟันธงว่าการออมกินดอกตามภาพที่ปรากฏเป็นแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากมีการอ้างว่าออม 300 บาท 4 วัน จะได้เงิน 400 บาท หมายความว่าได้ กำไร 100 บาท หรือคิดเป็น 33.33% ใน 4 วัน ฉะนั้นถ้าคิดเป็น 1 ปีก็กำไร 3,041.36% ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้



2. เชียร์ให้ลงทุนมากๆ โดยไม่มีการคำนึงถึงความเสี่ยง 

การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน

คำเตือนที่ต้องหยิบขึ้นมาเตือนตัวเองทุกครั้งเมื่อต้องลงทุนในบางสิ่งบางอย่างเสมอ เพราะการ ลงทุน” = “ความเสี่ยง ฉะนั้นคำเชิญชวนลงทุน หรือทำธุรกิจใดๆ ที่จะนำมาซึ่งผลกำไรสูงๆ แบบไร้ความเสี่ยง จึงเป็นจุดสังเกตสำคัญที่กำลังบ่งบอกว่า คุณกำลังต้องเผชิญกับความเสี่ยงมหาศาล ที่มีโอกาสสูญเงินทั้งหมดเข้าแล้ว

การลงทุนแบบใหม่ที่มิจฉาชีพเริ่มนำมาใช้ คือ "การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี (cryptocurrency)" ซึ่งเป็นการระดมทุนแบบใหม่ในยุคดิจิทัล ที่สามารถทำได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งเป็นการลงทุนในมูลค่าของเหรียญที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างจำกัดในระบบบล็อกเชน (blockchain) และสร้างกำไรจากส่วนต่างของมูลค่าเหรียญนั้นๆ

ซึ่งการลงทุนแบบใหม่นี้ กลายมาเป็นเครื่องมือของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่นำข้อเท็จจริงของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงบางส่วน แต่งเติมเรื่องราวความสำเร็จเข้าไป พร้อมการันตีผลตอบแทนสูงที่ชวนให้ทุ่มเงินลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนสูงๆ โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงใดๆ 

กลโกงนี้มักอาศัยความไม่เข้าใจการลงทุนในสิ่งที่เรียกว่าสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของโลกการลงทุน มิจฉาชีพจะใช้ความใหม่ของสินทรัพย์นี้เอง เป็นตัวโน้มน้าวถึงโอกาสใหม่ๆ ที่ผู้ลงทุนจะได้รับก่อนใคร และได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น 

159099208529

 3. เน้นหาเครือข่าย และให้เงินเพิ่มเมื่อชักชวนผู้อื่นมาลงทุนได้ 

อีกหนึ่งจุดสังเกต ซึ่งเป็นกลวิธีที่กลุ่มมิจฉาชีพนำมาใช้อยู่เสมอ คือการชักชวนให้หาคนมาร่วมลงทุนเยอะๆ สำหรับใครที่สามารถหาคนมาร่วมลงทุนได้ จะให้ผลตอบแทนเป็นเงิน หรือของมีค่าเพื่อจูงใจให้พยายามหาคนมาร่วมเครือข่ายเยอะๆ เพิ่มสภาพคล่องให้ขบวนการ เพื่อนำเงินไปหมุนเวียนเป็นผลตอบแทนให้สมาชิกในช่วงแรกๆ ก่อนปิดโครงการ หรือหนีหายไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อเงินตึงมือ

ส่วนใหญ่กลโกงนี้มักจะแฝงมากับการ "ชักชวนทำธุรกิจ" ต่างๆ ซึ่งเป็นรูปแบบแชร์ลูกโซ่สุดคลาสิก ที่มีมาทุกยุคสมัย และก็ยังไม่มีท่าทีที่จะหมดไปในยุคนี้ เช่น ร่วมลงทุนทำผลิตภัณฑ์การันตีผลตอบแทน การสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายธุรกิจที่สามารถสร้าง Passive Income ได้แบบไม่ต้องลงมือทำอะไร แค่ใช้เงินร่วมลงทุน ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าการชวนทำธุรกิจจะเป็นแชร์ลูกโซ่ทั้งหมด เพราะมีธุรกิจที่เป็นธุรกิจจริงๆ แต่มีลักษณะเป็นเครือข่ายคล้ายกับแชร์ลูกโซ่ คือ ธุรกิจขายตรง ซึ่งธุรกิจประเภทนี้มักจะมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง และสามารถตรวจสอบได้ผ่าน ข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และได้วางหลักประกันตามกฎกระทรวง การวางหลักประกันการประกอบธุรกิจ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561

หรือ รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และได้วางหลักประกันตามกฎกระทรวง การวางหลักประกันการประกอบธุรกิจ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561 

 4. หว่านล้อม กดดันให้รีบตัดสินใจ  

อีกหนึ่งเทคนิคทางจิตวิทยาที่มักตามมากับคำชักชวนสวยหรู คือการพยายามหว่านล้อมให้รีบลงทุนเพื่อลดโอกาสในการไตร่ตรองในรอบคอบ หรือหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบ เช่น เสนอว่าเป็นสิทธิพิเศษเฉพาะคุณ มีแค่วันนี้วันเดียว ถ้าปฏิเสธแล้วจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้อีก ฯลฯ หากพบการเชิญชวนที่เร่งให้รีบตัดสินใจ ไม่เปิดโอกาสให้ตรวจสอบข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการลงทุนนี้อาจไม่โปร่งใส 

159099208570

 

 5. อ้างว่ามีคนมีชื่อเสียงร่วมลงทุน 

ความน่าเชื่อถือของการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หรือผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ที่มาร่วมลงทุน แต่ขึ้นอยู่กับรายละเอียดการลงทุน ว่าการลงทุนนั้นมีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนได้จริงตามที่มีการกล่าวอ้างไว้หรือไม่ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ดังนั้น การชูจุดเด่นของการลงทุนโดยอ้างว่ามีคนมีชื่อเสียงเป็นแม่ข่าย หรือมีคนดังร่วมลงทุนจึงสันนิษฐานได้ว่าการลงทุนนี้อาจไม่ชอบมาพากล 

 6. ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีหน่วยงานรองรับ 

การตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่กำกับดูแล คือการตรวจสอบขั้นพื้นฐานที่ทำให้สามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่กำลังจะลงทุนมีที่มาที่ไป เชื่อถือได้ ไม่ใช่มีเพียงการกล่าวอ้าง

โดยหากมีการแอบอ้างว่าเป็นธุรกิจขายตรง จะสามารถตรวจสอบธุรกิจขายตรงที่มีการขึ้นทะเบียนได้จาก ข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และได้วางหลักประกันตามกฎกระทรวง การวางหลักประกันการประกอบธุรกิจ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561

หรือ รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และได้วางหลักประกันตามกฎกระทรวง การวางหลักประกันการประกอบธุรกิจ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561 

นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการชักชวนให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี (cryptocurrency) สามารถค้นหารายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตเพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านช่องทาง SEC CHECK FIRST ได้ด้วยตนเอง 

แม้รูปแบบแชร์ลูกโซ่2020 จะมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนๆ บ้าง แต่ยังคงมีเป้าหมายเดิมคือ "หลอกลวง" โดยอาศัย "ความโลภ" หรือ "ความไม่รู้" เป็นเครื่องมือ ดังนั้นจึงควรติดตามกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพให้รู้เท่าทันอยู่เสมอ ที่สำคัญคือก่อนลงทุน หรือใช้เงินเพื่อสร้างผลตอบแทนรูปแบบใดก็ตาม อย่าลืมไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และพึงระลึกเสมอว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ (ขนาดนั้น) 

ทั้งนี้ หากพบข้อสงสัยหรือต้องการร้องเรียนเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ สามารถติดช่องทางต่างๆ ได้ ดังนี้

  • ติดต่อด้วยตนเองที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
  • ติดต่อผ่านสายด่วน 1202 หรือ 02-831-9888
  • ติดต่อผ่านเว็บไซต์ www.dsi.go.th หรือ opm.1111.go.th
  • ติดต่อผ่านเฟซบุ๊ก “กรมสอบสวนคดีพิเศษ”
  • ติดต่อผ่านตู้สีขาว “DSI”
  • ติดต่อผ่านศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคทั่วประเทศ
  • ติดต่อผ่านแอปพลิเคชัน ‘DSI Map Extended’

159066491582

โดยผู้กระทำผิดในคดีแชร์ลูกโซ่จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 5 ปี พร้อมโทษปรับวันละ 1 หมื่นบาท และอาจเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ