'เอเยนต์' รอดตัวไม่กระทบ การบินไทยคืนค่าตั๋วไม่ได้
เอเยนต์ขายตั๋ว รอดตัวไม่ได้รับกระทบ การบินไทยเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ คืนค่าตั๋วไม่ได้
รายงานข่าวจากการบินไทย กล่าวว่า ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้การบินไทยจะต้องเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดของการฟื้นฟูกิจการและพักชำระหนี้ ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหนี้ที่เป็นผู้โดยสารถือบัตรโดยสารของการบินไทยและสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส (ROP) ด้วย
ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปกติ การบินไทยจะมียอดจำหน่ายบัตรโดยสารเฉลี่ยเดือนละ 8,000–10,000 ล้านบาท หรือ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนช่วงเดือน มี.ค.–พ.ค.2563 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 คาดว่าจะมียอดจำหน่ายบัตรโดยสาร 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนนี้มีผู้โดยสารทยอยขอเลื่อนการเดินทาง คืนบัตรโดยสาร และแลก Travel Voucher บ้างแล้ว อาจทำให้ยอดหนี้ลดลง
ขณะที่กลุ่มจำหน่ายบัตรโดยสารผ่านตัวแทนจำหน่าย (เอเยนต์) ซึ่งปัจุจบันคิดเป็นสัดส่วนการขายราว 60% ของการขายบัตรโดยสารทั้งหมดของการบินไทย กลุ่มนี้ไม่ถือเป็นเจ้าหนี้หลักของการบินไทย เนื่องจากหลักการจำหน่ายผ่านระบบเอเยนต์
การบินไทยจะให้สิทธิ์ในการขายบัตรโดยสารเป็นล็อตแก่เอเยนต์ในลักษณะโควต้า โดยไม่ได้มีการซื้อขาด อีกทั้งหากเอเยนต์จำหน่ายบัตรโดยสารไม่หมด ก็สามารถคืนบัตรโดยสารให้กับการบินไทยได้
นอกจากนี้ เอเยนต์ถือเป็นสัดส่วนการจำหน่ายบัตรโดยสารหลักของการบินไทยก็จริง แต่การขายบัตรโดยสารกลุ่มนี้ไม่ได้ซื้อขาด และเป็นไปในลักษณะการได้โควต้าขาย ซึ่งเมื่อเอเยนต์สามารถขายบัตรโดยสารให้ผู้โดยสารได้ จึงจะจ่ายเงินเข้าระบบให้การบินไทย และรับส่วนแบ่งยอดขายดังกล่าว
แต่ถ้าเอเยนต์ขายตั๋วโดยสารได้ไม่หมดก็นำตั๋วนั้นมาคืนโควต้าได้ แต่เอเยนต์อาจจะถูกตัดสิทธิ์โควต้าการขายครั้งต่อไปได้ ซึ่งตอนนี้กลุ่มเอเยนต์ที่รับโควต้าการขายตั๋วไปแล้วน่าจะได้สิทธิ์คืนตั๋วในมือมาแล้ว จึงไม่น่าได้รับผลกระทบ
รายงานข่าวระบุว่า เจ้าหนี้กลุ่มสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส (ROP) ที่ปัจจุบันการบินไทยมีจำนวนสมาชิก 3 ล้านคน มีการเคลื่อนไหว 7-8 แสนคน โดยในเบื้องต้นการบินไทยได้ให้สิทธิ์ขยายไมล์สะสมรางวัลหมดอายุสิ้นเดือน มี.ค. ,มิ.ย. และ ก.ย.2563 รวมทั้งได้ให้ผู้โดยสารเก็บไว้แลกรางวัลได้ถึง 31 ธ.ค.2563