'เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า' จี้ตั้งหน่วยงานอิสระศึกษาผลวิจัยบุหรี่ไฟฟ้า

'เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า' จี้ตั้งหน่วยงานอิสระศึกษาผลวิจัยบุหรี่ไฟฟ้า

"เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า" จี้ ตั้งหน่วยงานอิสระศึกษาผลวิจัยบุหรี่ไฟฟ้า ซัดกลุ่มรณรงค์เลิกบุหรี่ไม่เปิดข้อมูลรอบด้าน ปิดกั้นเสียงจากประชาชน


นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่าย ECST กล่าวว่า “ในช่วงสัปดาห์งดสูบบุหรี่โลก เราได้ทำแคมเปญออนไลน์เพื่อเปิดเผยความล้มเหลวของนโยบายการแบนบุหรี่ไฟฟ้าและรวบรวมความเห็นจากผู้ใช้และผู้ไม่เห็นด้วยกับการแบน ซึ่งกลุ่มหมอ NGO และเครือข่ายต่อต้านบุหรี่มีการให้ข้อมูลด้านเดียว บิดเบือน ปิดกั้นข้อมูลในทุกวิถีทาง โดยพูดแต่ความอันตราย ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นๆ เช่นอังกฤษ นิวซีแลนด์ อเมริกา ต่างสนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ เราเชื่อว่าผู้บริโภคควรมีสิทธิได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และควรมีสิทธิได้เลือกและตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์ที่อันตรายน้อยกว่า แต่เราต้องถูกบังคับให้สูบบุหรี่ต่อไปเพราะไม่มีทางเลือก”


“ก่อนหน้านี้ กรมการค้าต่างประเทศมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ทำการศึกษาข้อดี-ข้อเสียของการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการวิจัยที่ออกมาก็น่าอดสูมาก เต็มไปด้วยอคติและไม่มีความเป็นกลาง มีแต่ข้อมูลฝ่ายเดียวจากกลุ่มที่รณรงค์ต่อต้านบุหรี่ วันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ เราจึงเปิดแคมเปญออนไลน์ #บอกหนูหน่อย ประมาณ 1 สัปดาห์ พูดคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ ทนายความและสมาชิกผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีผู้มาร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 800 ข้อความ ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่บอกว่าเลิกบุหรี่มวนได้เพราะใช้บุหรี่ไฟฟ้า อีกหลายเสียงบอกว่าได้รับความไม่ธรรมจากการโดนจับกุมเพราะใช้บุหรี่ไฟฟ้า และเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน”


“ประเทศที่มีความก้าวหน้าทั่วโลกเช่นยุโรป แคนาดา อังกฤษ ก็ไม่ได้แบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่อย่างใด ตั้งแต่ที่มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อ 2557 ทุกวันนี้กลับยังเห็นคนใช้มากกว่า 5 แสนคน เกิดการค้าขายในตลาดมืด เปิดช่องให้เกิดการรีดไถจับกุมผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า การลักลอบซื้อสินค้าของเด็กและเยาวชนโดยขาดการตรวจสอบ และไม่มีการควบคุมมาตรฐานสินค้า ถ้าการแบนคือมาตรการที่เหมาะสมตามที่รัฐบาลอ้าง ทำไมเรายังเห็นปัญหาเหล่านี้ตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวัน” นายอาสา ศาลิคุปต เสริม


ผศ. ดร. อุ่นกัง แซ่ลิ้ม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลผ่านการพุดคุยออนไลน์กับเครือข่ายฯ ว่าการแบนเป็นการสวนกลไกตลาด เพราะยิ่งทำให้บุหรี่ไฟฟ้าลงไปอยู่ใต้ดินและก่อให้เกิดการคอรัปชั่น ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจใต้ดินติดอันดับ 10 ของโลกหรือประมาณ 8 ล้านล้านบาท ไม่ควรให้บุหรี่ไฟฟ้าไปเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจใต้ดินเข้าไปอีก


"การศึกษาจากหลายประเทศระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน และหลายประเทศทั่วโลก กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่ง “ถูกกฎหมาย” และมีการ “ควบคุม” อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่าง เช่น สธ. อังกฤษและนิวซีแลนด์ ที่สนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน ทั้งสองประเทศก็ไม่พบปัญหาการใช้ของเด็กและเยาวชน ซึ่งหากประเทศไทยจะพิจารณาการแบนเสียใหม่ เน้นการควบคุมตามกฎหมายเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนแต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงใหม่ทางเลือกได้ ก็จะแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้ แต่ถ้าเรายังคงการแบนไว้เหมือนเดิม ปัญหาทั้งหมดก็จะมีอยู่ต่อไป”


สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความอิสระชื่อดังที่มาร่วมในแคมเปญออนไลน์ว่าโทษของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าสูงเกินไป ซึ่งไม่เป็นธรรมกับประชาชน หากรัฐบาลต้องการแก้ไขหรือยกเลิก พรบ. ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ก็เป็นอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ที่จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขได้ตลอดเวลา พร้อมระบุว่าปัจจุบันไม่มีกฎหมายเอาผิดผู้ใช้งานได้


“เราจะรวบรวมความคิดเห็นของผู้ใช้และผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ไปยื่นให้กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระมาทำหน้าที่ศึกษานโยบายบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มุ่งเน้นที่การศึกษาอย่างเป็นกลางเพื่อการกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง” นายมาริษ สรุป