'สมคิด' ชี้แจงความจำเป็นออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ ป้องกันเศรษฐกิจไทยพัง
“สมคิด” ชี้แจงความจำเป็นออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ ป้องกันเศรษฐกิจไทยพัง แจงอุ้มตลาดตราสารหนี้ ป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยปี 40 พร้อมเตรียมมาตรการช่วยเหลือ SME ที่ไม่ได้อยู่ในระบบเงินกู้ธนาคาร ชู EEC พาไทยก้าวกระโดดได้หลังหมดโควิด-19
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.63 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ชี้แจงถึงการออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 ว่า มีบางจุดที่ต้องสร้างความเข้าใจกันให้ถูกต้อง เพราะว่ารัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎรยังต้องร่วมมือกันอีกยาว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่จบง่ายๆ เป็นภาระที่ประชาชนจะต้องประสบกับความเดือดร้อน การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีโอกาสอภิปรายแสดงความเห็นให้กับรัฐบาลถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เชื่อว่าการกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงค์ชาติ สำนักงบประมาณ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะรับเอาสิ่งเหล่านี้ไปพิจารณาปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้น ทราบว่าสมาชิกทุกคนก็เป็นห่วง
ทั้งนี้ เท่าที่ฟังมาทั้งหมด ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.3 ฉบับ ก็ถือโอกาสนี้ชี้แจงว่าการกฎหมายนี้ จำเป็นเร่งด่วนจริงๆ ตอนที่โควิด-19 เริ่มระบาด ขณะนั้นประเทศไทยอยู่อันดับที่ 2 ของโลกที่มีผู้ติดเชื้อ นายกรัฐมนตรีหารือกับทุกคนที่เกี่ยวข้องว่า ถ้าไม่รีบยุติภายในไม่กี่วัน จะมีผู้ติดเชื้อเป็นหมื่นคน และเมื่อถึงจุดนั้นจะเบรคกันไม่อยู่ ก็ถึงจุดที่ต้องตัดสินใจหากจะคุมไวรัสให้อยู่ หมายความว่าตามหลักการแพทย์ ทุกคนต้องเว้นระยะ อยู่กับบ้าน ซึ่งจะไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โรงงานจะต้องปิด ทุกอย่างต้องหยุดหมด รัฐบาลรู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่นายกรัฐมนตรีก็เข้าใจว่า ปัญหาระยะสั้นต้องเอาให้อยู่ แล้วค่อยๆ คลายออกมา เพื่อให้เกิดดุลยภาพ เมื่อกดถึงจุดต่ำสุด มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 คน จะคลายสถานการณ์อย่างไร หากมีคนป่วยเพิ่มขึ้นแล้วค่อยมารักษา เพื่อให้อยู่ในวิสัยที่สามารถแก้ไขได้ แต่หากเพิ่มหลักพันหรือหลักหมื่นคงควบคุมไม่อยู่แน่ ซึ่งประชาชนก็เข้าใจให้ความร่วมมือ ทำให้คุมสถานการณ์ได้
สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาในระยะสั้น หารือกันว่าจะหามาด้วยวิธีอะไร โดยงบประมาณที่มีอยู่ต้องเอามาใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงขอให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณดูแลเรื่องนี้ เมื่อไม่พอก็ต้องให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะเตรียมการกู้ยืม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวไว้แล้วว่ามีหลายช่วง เช่น การเยียวยาอย่างน้อยต้อง 3 เดือน เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น ได้รับการเยียวยา และผู้ที่มีฐานะดีก็ควรจะเกื้อกูลให้กับคนที่มีฐานะลำบาก แต่ก็ให้หลักการว่าถ้าใครเดือดร้อนก็จะช่วยเต็มที่
พร้อมยอมรับประเทศไทยไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ไม่มี Big Data แต่โชคดีที่มีระบบพร้อมเพย์แล้ว ถ้าไม่มี 4.0 หรือไม่มีพร้อมเพย์ ภายใน 2 เดือน เงินไม่มีทางถึงชาวบ้านได้เร็วขนาดนี้ นี่คือการตระเตรียม และเห็นว่าการจ่ายเงิน 5,000 บาท น่าจะทำให้ประชาชนอยู่ได้ในช่วงสั้นๆ แต่ประเด็นไม่ได้อยู่แค่นั้น เพราะตลาดตราสาร มีคนเริ่มไถ่ถอนกองทุน บางกองทุนเริ่มปิด ซึ่งตนเคยผ่านภาวะต้มยํากุ้งมาแล้ว เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา ผลิตไม่ได้ เดินต่อไม่ได้ จะพากระทบไปถึงตลาดเงินและตลาดทุนทันที เพราะกิจการส่วนใหญ่ยึดตามตลาดหลักทรัพย์ที่มีความจำเป็น สุดท้ายไปพันที่ธนาคาร ถ้าสิ่งเหล่านี้ดำเนินไป ธนาคารจะไปไม่รอด ซึ่งปี 2540 ทุกอย่างตามไม่ทันเวลา สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ต้องตามไปเก็บศพ เอาทรัพย์สินที่เสียออกไปจากธนาคาร ให้ทุกอย่างมันเดินได้ แต่ครั้งนี้จะไม่รอถึงขนาดนั้น
ฉะนั้นมาตรการที่ออกมาทั้งหมด ต้องการเดินเชิงรุก ทำก่อน-ป้องกันก่อน ไม่ให้เกิดขึ้น จึงตั้งกองทุนดูแลตราสารหนี้มูลค่ามหาศาล และอย่าไปคิดว่าเป็นการอุ้มเจ้าสัว หากมีการไถ่ถอนแล้วหาใหม่ไม่ได้ จะล้มทันที และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะล้มทันที ระบบการเงินทั้งหมดพันกัน ธนาคารก็จะมีปัญหา และที่บอกว่าให้ขยายประกันเงินฝากเป็น 5 ล้านบาทออกไป ก็ช่วยกันไว้ก่อน เวลาคนแตกตื่นจะไปถอนเงินออกจากธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องปกติตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แล้ว จึงต้องมองว่าเรื่องกองทุนเป็นสิ่งจำเป็น
ส่วนการปล่อยกู้ SME นายสมคิด กล่าวว่า ทุกคนห่วง SME จำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะไม่เคยอยู่ในระบบธนาคารหรือไม่มีสินทรัพย์ที่จะค้ำประกันได้ โดยกระทรวงการคลังหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง เตรียมออกกองทุนโดยเป็นการบริหารจัดการอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งผ่านอนุมัติหลักการโดยคณะรัฐมนตรีเมื่อการประชุมครั้งที่ผ่านมา นี่คือสิ่งที่เตรียมการไว้ล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 เดือนการเยียวยา เงินก็จะหมดแล้ว อย่างเก่งก็คือเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม หลังจากนั้นเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจะมาจากไหน ทุกคนเลยคุยกันว่า ครั้งนี้ต้องใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสให้ประเทศไทย ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการอาศัยการส่งออกอย่างเดียว ไม่ใช่คำตอบ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ดำริไว้นานแล้วว่า ต้องเติบโตจากภายใน สิ่งเหล่านี้ทำยากมากในยามปกติ แต่ในยามวิกฤตถือเป็นโอกาส เพราะขณะนี้ส่งออกไม่ได้ หลายประเทศเจอปัญหาหมด แต่ไทยโชคดีที่ตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ทำโครงสร้างให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่ต้องไปกู้เงินจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF เพราะสามารถกู้ในประเทศและต่างประเทศได้ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ทุกอย่างดีหมด แม้จะเจอสงครามการค้า การเลื่อนอนุมัติงบประมาณประจำปี 2563 แต่ก็ยังสามารถจำกัดการระบาดของโควิด-19 ได้อีก นี่คือเหตุผลที่ต้องออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ
นายสมคิด กล่าวว่า เห็นใจแบงค์ชาติที่ต้องเข้ามา แต่ถ้าไม่เข้ามาก็จะไม่มีตรงกลางว่าจะทำให้ตลาดทุนเดินไปได้ ซึ่งเป็นการเสียสละของแบงค์ชาติ แต่ประเด็นที่จะหารือ การจะเอาเงินก้อนมาฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ใช่แค่การฟื้นฟูธรรมดา แต่มีการคุยกันว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องเป็นฝ่ายทำงานหลัก อะไรที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรชุมชน ความเข้มแข็งการท่องเที่ยว ที่สามารถดึงการสร้างงานสร้างรายได้เข้าไปสู่ชุมชน อะไรที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งจากเกษตรกรมาสู่ตลาดที่ขายได้ อะไรที่สร้างบุคลากรในท้องถิ่นได้ ดึงมหาวิทยาลัยเข้าไปในท้องถิ่น ทุกกระทรวงเข้าไปช่วยกัน
นี่คือที่มาที่ไปของเงินก้อนนี้ จะใช้เป็นฐานที่เข้มแข็งของประเทศไทย ต้องช่วยกันเงินก้อนนี้ไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกเองว่าให้สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ และฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มาอยู่ตรงกลาง เป็นคนกลั่นกรอง และกำชับเลขาธิการสภาพัฒน์ว่า ต้องรับฟังความเห็นจากภายนอกและสภาผู้แทนราษฎร เพราะทุกคนมีความเป็นห่วง ทุกคนมีความคิดที่อยากจะแนะนำ ก็ต้องรับฟังไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ขออย่ากังวล
ส่วนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นั้น ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีมาก ขณะที่ประเทศอื่นใกล้เคียงไม่มีโครงการใดเป็นหลัก แต่ประเทศไทยมี EEC ถ้าใช้จังหวะนี้สร้างบุคลากร สร้างความพร้อม สร้างศักยภาพซึ่งมีพื้นฐานไว้แล้ว เมื่อพ้นโควิด-19 มีโอกาสกระโดดไปข้างหน้าก่อนคนอื่น ต้องใช้จังหวะนี้สร้างคน ซึ่งงบประมาณ 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็สามารถใช้ได้ และเมื่อหมดสถานการณ์นี้ จะมีข้อมูลมหาศาล มี Big Data ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมการต่อไป เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ประคองให้ประชาชนสามารถอยู่ถึงปีหน้า ดังนั้นคิดว่าเหตุการณ์ในช่วงนี้แค่ 3 เดือน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอีกยาวที่ต้องทำงานด้วยกัน ฉะนั้นถือโอกาสนี้ชี้แจงด้วยความเคารพ ไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น และดีที่สุดหากจะมีการตรวจสอบความโปร่งใส ชาวบ้านจะได้อุ่นใจ เพราะเงินนี้เป็นเงินก้อนที่ใหญ่มาก จะได้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน อยากให้สภาและพรรคการเมืองมีความสามัคคี ไม่เช่นนั้นจะผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไปถึงปีหน้าได้อย่างไร ประชาชนจะพึ่งพาจากใคร