กษ. เล็งแบน "ไกลโฟเซต" ต่อ หลังแบนสองสารฯ หลักได้แล้ว มีผลวันนี้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ พร้อมด้วยคณะทำงาน ลงพื้นที่มอบนโยบายแบนสารฯ ที่จังหวัดชัยนาทเป็นที่แรกวันนี้
โดย รมช. กษ. มนัญญากล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย
จากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศให้คลอไพริฟอส และพาราควอต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามมิให้ผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน หรือการมีไว้ในครอบครอง โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนในวันนี้ จึงขอให้เกษตรกร ผู้ค้าผู้จัดจำหน่าย ส่งคืนสารดังกล่าวด้วย
ส่วนสารฯ อีกตัวหนึ่งคือ ไกลโฟเซต ต้องมีการจำกัดการใช้ตามประกาศเดิมเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งกรมวิชาการเกษตร จะเป็นผู้ดูแลและรวบรวมดำเนินการต่อไป
รมช. มนัญญา ยังกล่าวในการประชุมมอบนโยบายฯ แก่เจ้าหน้าที่เกษตรฯ ว่า ขอให้สารวัตรเกษตร เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯทุกหน่วยงาน ช่วยกันลงพื้นที่สร้างความเข้าใจเกษตรกรให้สามารถคืนสารเคมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้กับร้านค้าที่ซื้อมาภาย90วัน และให้ร้านค้ารวบรวมแจ้งปริมาณต่อเจ้าหน้าที่ภายในพื้นที่ภายใน120วัน เพื่อส่งคืนไปยังผู้ผลิตและผู้นำเข้า และอย่าให้มีข่าวการจับกุมเกษตรกร กรณีคืนไม่ทัน
ถ้าเกิดเหตุขึ้น ข้าราชการทุกคนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ถือว่ากลั้นแกล้งให้เกษตรกรต้องเดือดร้อน เพราะเรื่องแบนสารเป็นนโยบายรัฐบาล ให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ซึ่งจะเป็นได้ประเทศไทยจะต้องสะอาด
“มีคนถามว่าทำไมมาเริ่มปฏิบัติการ1มิ.ย.ที่จ.ชัยนาท เพราะว่าเป็นพื้นที่จังหวัดไม่ใหญ่ แต่พบว่ามีสารเคมีวอ.4 จำนวนมาก โดย มีพาราคควอต 4 หมื่นกว่าลิตร ไกลโฟเซส 6 หมื่นกว่าลิตร คลอร์ไพริฟอส 1 หมื่นกว่าลิตร มีร้านค้าทั้งหมด 218 แห่งที่ขาย 3 สาร พบว่ามีเพียง 2 ร้านค้า ขาย 3 สารมากกว่า 80% เป็นเจ้าใหญ่ของตลาดชัยนาท ซึ่งตัวเลขสารเคมีที่เหลือจำนวนมาก คำถามว่าเพราะอะไร หรือเกษตรกรลดการใช้แล้ว หรือเชื่อตามข่าวลือว่าจะมีการขยายเวลาแบน ซึ่งยืนยันว่า ไม่มีแน่นอน เพราะกฏหมายคือกฏหมาย และก้าวต่อไปของดิฉัน คือสารไกลโฟเซต “ รมช.มนัญญา กล่าว
ทั่วประเทศ ปริมาณ 3 สาร มีจำนวนสต็อกทั้งสิ้นประมาณ 2.1 หมื่นตัน เป็นสารพาราควอต 9 พันตัน ไกลโฟเซต 1.1 หมื่นตัน คลอร์ไพริฟอส 2 พันตัน ขณะที่เวลาเดียวกันปี 62 มี 2.6 หมื่นต้น
รมช.เกษตรฯตั้งข้อสังเกตต่อจ.ชัยนาท ในการให้นโยบายว่า มีพื้นที่ปลูกข้าวมากถึง 9 แสนกว่าไร่ หรือ 75% ของพื้นที่แต่ทำไมมีการขายพาราควอตจำนวนมาก ทั้งๆที่ห้ามใช้ในข้าว ผัก และผลไม้ เพราะฉะนั้น กรณีการอบรมเกษตรกรใช้สารเคมี ของกรมวิชาการเกษตร ต้องเปลี่ยนใหม่ ไม่ใช่มาอบรมเพื่อได้สิทธิ์ซื้อสารเคมี ต้องแยกอบรมเป็นรายพืชที่ใช้จริงเท่านั้น ไม่ใช่อบรมไปทั่ว ทำไปเพื่ออะไรเอาเกษตรกรปลูกข้าวมา อบรมใช้พาราควอต มันเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่
“ต่อไปบริษัทที่จำหน่ายสารเคมี ต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ใช้พอมีสารตกค้าง ก็โทษว่าเกษตรกรใช้ไม่เป็น ซึ่งจากนี้จะเดินสายในหลายจังหวัด และเห็นว่าบริษัทที่ขายสารเคมีควรมีหน้าที่ลงมาดูแลเกษตรกรผู้ใช้สารด้วย ต้องเอื้อกันดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ” รมช. กษ. มนัญญากล่าว
นอกจากนั้นในวันที่ 9 มิ.ย.ตนจะหารือร่วมกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมอาหาร ที่เรียกร้องให้ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป โดยอ้างว่ากระทบวัตถุดิบนำเข้ามาแปรรูปอาหารทั้งคนและสัตว์
“ดิฉันต้องการความชัดเจนว่ามาตรฐานการผลิตเป็นอย่างไรและกระทบอย่างไร เพราะเรื่องแบนสารฯ ไม่ใช่รัฐมนตรี มนัญญา ทำคนเดียว ที่เกิดขึ้นได้มาจากทุกคนต้องการอาหารปลอดภัย สุขภาพที่ดี จึงเกิดความร่วมแรงรวมใจ ทั้งกระทรวงเกษตรฯกระทรวงสาธารณสุข ที่ผลักดันอย่างหนักมาโดยตลอดจนมาถึงวันนี้” รมช. กษ. มนัญญา กล่าว
ด้านรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร อิงอร ปัญญากิจ กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 โดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้วัตถุอันตราย พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 กรมวิชาการเกษตรได้ให้ความสำคัญตามประกาศฯ ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เมื่อประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4) ใบทะเบียน ใบอนุญาตผลิต และใบอนุญาตครอบครองซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จะสิ้นสุดทันที
ดังนั้น ผู้ที่มีพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ไว้ในครอบครองก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกรมวิชาการเกษตร ดังนี้คือ เกษตรกร ให้ส่งคืนสารฯให้ร้านที่ซื้อมาภายใน 90 วัน (ไม่เกิน วันที่ 29 สิงหาคม 2563), ร้านค้าจัดจำหน่าย ให้ส่งคืนสารฯ แก่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และแจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภายใน 120 วัน (ไม่เกิน วันที่ 28 กันยายน 2563), และผู้ผลิตและผู้นำเข้า แจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรเพื่อรวบรวมแจ้งปริมาณวัตถุอันตรายตามแบบ วอ./วก.5 ภายใน 270 วัน (ไม่เกิน วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564)
จากนั้น ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการได้กำหนดวัน วิธี และสถานที่ในการทำลาย โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมการทำลาย รองอธิบดี กว. กล่าว
นอกจากนี้ กว.ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสารคลอร์ไพริฟอสและพาราควอตของผู้ครอบครองตามประกาศฯ ให้ป็นไปตามอย่างเคร่งครัด
ผู้ที่ฝ่าฝืนให้ระวังโทษ จำคุกไม่กิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมทั้งได้ดำเนินการสร้างการรับรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ฏิบัติงาน เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้นำเข้าผู้ส่งออก ผ่านช่องทางการรับรู้ต่างๆได้แก่ หน่วยงานของกระทรวงฯ และสื่อต่างๆ รองอธิบดี กว. กล่าว
ข้อมูล 3 สารฯ ในเดือน พ.ค. ทั่วประเทศมีอยู่ใน 16,005 ร้าน โดยในส่วนของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่พืชไร่สำคัญของประเทศที่ รมช.กษ. ตรวจเยี่ยมวันนี้ มีจำนวน 3,158 ร้าน, มีปริมาณสารฯ รวมกันที่ประมาณ 1,300 ตัน
ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกร ทำเกษตรทางเลือกอื่นๆ กรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่าได้เตรียมไว้แล้ว รวมทั้งสารเคมีทดแทน ซึ่งมีประมาณ 16 ชนิด แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
ทางด้าน วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรหลักต้านสารพิษเกษตร ได้กล่าวถึงการแบนสารฯ ครั้งนี้ว่า เป็นการเพิ่มช่องให้ระบบเกษตรและอาหารแบบใหม่ที่ปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต สภาผู้แทนราษฎร เคยตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา แล้วเสียงทุกเสียงในสภาก็บอกตรงกันว่า ประเทศไทยจะมุ่งไปสู่การทำประเทศไทยให้เป็นเกษตรยั่งยืน 100% นี่คือ เนื้อหาสำคัญที่ทางเครือข่ายฯ ต้องการสื่อสารไปถึงสังคม
นายวิฑูรย์ยังกล่าวอีกว่า การที่โลกกำลังเจอวิกฤตการณ์ ซึ่งมองไปสู่เรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยของอาหารและเรื่องการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร โดยคนหลายล้านคนกำลังกลับไปสู่ภาคเกษตร นี่คือจุดเปลี่ยน ซึ่งการแบนครั้งนี้เองกำลังเกิดในบริบทที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศและไปสู่อนาคตใหม่
นายวิฑูรย์กล่าวว่า พาราควอตเป็นสารที่ใช้มากอันดับ 2 คือประมาณ 25 % ของสารเคมีที่เกษตรกรไทยใช้ ส่วนคลอร์ไพริฟอส ก็เป็นสารเคมีกำจัดแมลงที่พบการตกค้างมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และยังเป็นสารที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งการหันหลังให้สารเคมีโดยสิ้นเชิง จะช่วยลดความเสี่ยงของทั้งเกษตรกรที่สัมผัสโดยตรง และลดสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ที่ไปกระทบต่อเด็กอย่างถาวร
"ทั้งหมดนี้คือความหวังที่มีความหมายของคนทั้งประเทศ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นี้ จะเชื่อมโยงพวกเราเข้าหาเป้าหมายเดียวกันได้หรือไม่ ระบบเกษตรกรรมและอาหารข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คำตอบอยู่ในใจของทุกคนแล้ว ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเกษตรยั่งยืน เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยของโลก ไม่ว่าท่านจะเป็นเกษตรกรหรือผู้บริโภค เราทุกฝ่ายก็สามารถมีบทบาทในเรื่องนี้ได้" นายวิฑูรย์กล่าว