ผ่อนคลายมาตรการระยะ 3 ไทยระบาดซ้ำหรือไม่ ใครคือผู้ชี้ชะตา
แม้ไทยจะไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศระยะหนึ่ง แต่หากมีการรวมตัวกันจำนวนมาก ก็อาจจะมีโอกาสกลับมาพบผู้ป่วยเพิ่มได้ การผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 จะเกิดกการระบาดซ้ำหรือไม่ ความสำคัญ คือ ความร่วมมือของภาคธุรกิจ บ้าน โรงเรียน และคนไทยทุกคนเป็นผู้ชะตา
(1 มิย.) วันแรกที่มีการผ่อนคลายกิจกรรมระยะที่ 3 ซึ่งยังคงมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งทางบก/น้ำ/อากาศ ปรับระยะเวลาการห้ามออกนอกเคหะสถาน เป็น 23.00-03.00 น. ให้สามารถเดินทางข้ามจังหวัดภายใต้มาตรการตามที่ราชการกำหนด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ให้เปิดดำเนินการไม่เกินเวลา 21.00 น.
ส่วนสถานประกอบการต่างๆที่เปิดดำเนินการทุกแห่งต้องคำนึงถึงมาตรการหลักๆ ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทั้งการควบคุมคนไม่ให้หนาแน่น เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 เมตร แต่ละประเภทสถานประกอบการต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด
นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ถ้ามีการรวมตัวกันของผู้คนเป็นจำนวนมากและมีผู้ป่วยหลุดเข้าไป จะมีโอกาสกลับมาพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้อีก โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกคือระยะที่โรคยังมีการแพร่ระบาดแบ่งเป็น 3 ระดับ
ระดับที่ 1 ไม่มีผู้ป่วยหรือมีผู้ป่วยในวงจำกัด ระดับ 2 การแพร่ระบาดต่อเนื่อง และ ระดับ 3 การแพร่ระบาดระดับวิกฤติ ระยะที่ 2 คือ หลังจากที่สามารถสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้ด้วยวัคซีน ระยะที่ 3 ระยะฟื้นฟู เตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดของโรคใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
“ขณะนี้ไทยยังอยู่ในระยะที่ 1 คือระยะที่โรคนี้ยังมีการแพร่ระบาดในระดับต่ำสุด บางจังหวัดไม่เคยพบโรคนี้ บางจังหวัดพบในระดับต่ำมากๆ แต่หากหย่อนการป้องกันตัวเอง จะมีโอกาสที่จะเริ่มมีการแพร่ระบาดต่อเนื่อง และหากไม่ระวังและควบคุมโรคไม่ดี ก็จะมีโอกาสแพร่ระบาดในระดับวิกฤติ มีผู้ป่วยมากกว่าจำนวนเตียงโรงพยาบาล”
ซึ่งการพิจารณาสถานการณ์ในระยะต่อไปจะพิจารณาเป็นรายจังหวัด โดยการผ่อนปรนมาตรการทางสังคมภาคบังคับจะต้องไม่เพิ่มความเสี่ยงการแพร่ระบาด จะดำเนินการใน 3 มาตรการเพื่อให้สถานการณ์โรคอยู่ระดับต่ำต่อไป
คือ มาตรการทางสาธารณสุข ได้แก่ การป้องกัน ค้นหา รักษา และควบคุม ในส่วนของการค้นหา กระทรวงสาธารณสุขยังคงให้ความสำคัญกับการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกแม้ว่าช่วงหลังผู้ป่วยน้อยลง แต่จำนวนตัวอย่างที่ตรวจไม่ได้น้อยลง ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจได้ 45,076 ตัวอย่าง รวมสะสมตรวจได้ 400,000 กว่าตัวอย่าง และยังเฝ้าระวังโรคในพื้นที่เฉพาะกับประชากรกลุ่มเสี่ยง
มาตรการระดับบุคคล ขอความร่วมมือให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น กลุ่มเสี่ยงพักอยู่กับบ้าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการพบปะหรือการชุมนุมกันเป็นกลุ่มก้อน ที่สำคัญคือสวมหน้ากากทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ไม่ใส่เฟซชิลด์โดยไม่สวมหน้ากาก และหมั่นล้างมือบ่อยๆ
ส่วนมาตรการระดับองค์กร ขอความร่วมมือผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ รักษาระดับความเข้มขนของมาตรการต่อไป ทั้งการทำงานที่บ้าน เหลื่อมเวลาการทำงาน ธุรกรรมออนไลน์ ลดแออัดในที่ทำงาน ดูแลระบบระบายอากาศ ปรับระบบงาน เช่น การคัดกรองพนักงาน ประชุมออนไลน์ รวมถึงส่งเสริมให้พนักงาน ลูกค้า และผู้ที่มาติดต่อสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ
ทั้งนี้ข้อมูลสำคัญ 3 ส่วนที่จะบ่งบอกความเสี่ยงการระบาดในระลอก 2 หลังจากการผ่อนคลายคือ ข้อมูลของพฤติกรรมประชาชน ข้อมูลการปฏิบัติของผู้ประกอบการ และข้อมูลการควบคุมโรคโควิด 19 ในประเทศไทย หากข้อมูลการปฏิบัติส่วนหนึ่งส่วนใดทำได้ไม่ดีจะเริ่มมีความเสี่ยง
ผลการสำรวจพฤติกรรมประชาชนในช่วงเดือนเมษายน จากผู้ตอบแบบสอบถาม 99,848 รายพบว่ามีการระวังการจับหน้า ตา จมูก ปาก ร้อยละ 60 เว้นระยะห่าง1-2 เมตรร้อยละ 64 กินอาหารร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว ร้อยละ 84 ใช้หน้ากากอนามัย/ผ้า ร้อยละ 84 และล้างมือด้วยสบู่/แอลกอฮอล์เจลร้อยละ 86 ซึ่งแนวโน้มตอนนี้เมื่อมีมาตรการผ่อนคลาย คนก็เริ่มผ่อน โรคก็เพิ่มขึ้น
ในส่วนของข้อมูลสถานประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมประเมินมาตรฐานกรมอนามัย Thai Stop Covid จำนวน 40,445 แห่ง ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 79.19 เป็นห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ 81 แห่ง ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 90 ติดตามข้อมูลผู้ใช้บริการร้อยละ 6 ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร 418 แห่ง ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 81 เว้นระยะห่างร้อยละ 7
สถานออกกำลังกาย ฟิตเนส ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าหรือคอมมูนิตี้มอลล์ 68 แห่ง ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 78 ภาชนะรองรับที่มีฝาปิดมิดชิดร้อยละ12 ลงทะเบียนเข้า-ออกร้อยละ12 ควบคุมไม่ให้แออัดร้อยละ 6 และร้านค้าปลีก/ค้าส่งหรือตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ 388 แห่ง ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 74 ติดตามข้อมูลผู้ใช้บริการร้อยละ 17 ทำความสะอาดห้องน้ำร้อยละ 15 และควบคุมจำนวน ลดความแออัดร้อยละ 10
“เมื่อสถานการณ์กิจกรรมที่ผ่อนปรน ประเทศไทยคลายล็อคสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับวินัยใหม่ของคนไทยทุกคน ร่วมกันป้องกันไม่โรคแพร่กระจายในกิจการ บ้าน และโรงเรียน โดยในส่วนของเด็ก ถึงจะมีการติดเชื้อน้อย โดยเด็กไทยติดเชื้ออายุ 0-9 ปี 1.99% อายุ 10-19 ปี 3.81% แต่หลายประเทศเมื่อมีการเปิดเรียนก็ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ อย่าง เกาหลีใต้ที่ประกาศปิดโรงเรียน 500 แห่ง ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็น กิจการ บ้าน และโรงเรียน” นายแพทย์บัญชา กล่าว
ขณะนี้ สถานการณ์ของประเทศไทยสามารถบอกได้ว่าควบคุมโรคได้ แต่ยังไม่สามารถกำจัดโรคได้ ตอนนี้ยังเป็นช่วงที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งหากมองไปข้างหน้า หากทุกคนช่วยกันดูแล พยายามป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเต็มที่ ก็จะอยู่ในผู้ป่วยระดับต่ำ แต่ถ้าเราพลาด เราเผลอ อาจจะมีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยได้
อย่างไรก็ตามหลังจากผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 3 แล้วสถานการณ์ประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ประชาชนสามารถร้องเรียนเข้ามายังสาธารณสุขจังหวัด หรือหน่วยงานระดับจังหวัด ซึ่งถ้าไม่ผ่านเกณฑ์จะมีการแนะนำให้ปรับปรุง และถ้ามีการกลับมาพบผู้ป่วยใหม่ โดยไปติดโรคจากที่ใดที่หนึ่ง จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจดูกิจการดังกล่าว
หากดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เหมาะสม เป็นแหล่งแพร่โรค ทางสาธารณสุขจังหวัด และจังหวัด มีอำนาจในการปิดสถานที่นั้นๆ จนสามารถมั่นใจได้ว่าป้องกันได้อย่างดี และถ้ามีการแพร่ระบาดในวงกว้าง จังหวัดจะเริ่มสั่งการให้ปิดธุรกิจ หรือปิดจังหวัดที่อาจมีการแพร่ระบาดสูง เพราะถ้าไม่ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยง การแพร่โรคไปในระดับควบคุมไม่ได้จะมีค่อนข้างสูง