New Normโยกย้ายในสธ.?? ย้าย-ตั้งคนเดิม2ครั้งในรอบ2ปี
เกิดอะไรขึ้นที่รพ.ศูนย์ขอนแก่น เป็นคำถามที่ยังต้องรอคำตอบ หลังในรอบ 2 ปี มีการสั่งย้ายผอ.รพ.คนเดิมและแต่งตั้งคนแทนเป็นคนเดิม ถึง 2 ครั้ง!!! นับตั้งแต่ที่นพ.สุขุม กาญจนพิมาย เข้าดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารสุข(สธ.)
เกิดอะไรขึ้นที่รพ.ศูนย์ขอนแก่น เป็นคำถามที่ยังต้องรอคำตอบ หลังในรอบ 2 ปี มีการสั่งย้าย "นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล" ผู้อำนวยการรพ.ศูนย์ขอนแก่น และแต่งตั้ง "นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี และประธานชมรมแพทย์ชนบทมาแทน มาแทนถึง 2 ครั้ง! ในสมัยนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารสุข(สธ.) ครั้งแรกเมื่อปี 2561 หลังรับตำแหน่งไม่ถึง 1 สัปดาห์ และครั้งล่าสุด 1 มิ.ย.2563 ก่อนเกษียณ 4 เดือน
ว่ากันว่าคำสั่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ ย้ายนพ.ชาญชัย ครั้งแรกเมื่อเดือนต.ค.2561 ไปเป็นผอ.รพ.พระปกเกล้าจันทบุรี ซึ่งเป็นการย้ายโดยที่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลขอนแก่น ระบุว่า ไม่ถูกตามธรรมเนียมปฏิบัติ และเป็นการย้ายอย่างรวดเร็ว โดยมีคำสั่งให้ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ เข้ารับตำแหน่ง รพ.ศูนย์ขอนแก่น ส่งผลให้บุคลากรโรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่แต่งดำไว้ทุกข์ คัดค้านการการย้าย สุดท้ายมีคำสั่งจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรรีว่าการสาธารณสุข ขณะนั้น ให้ย้ายนพ.ชาญชัย กลับมาที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นตามเดิม
ส่วนครั้งที่ 2 นั้นเป็นการย้ายเพราะมีข้อกล่าวว่า ตามที่มีข้อร้องเรียนและมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ผอ.นพ.ชาญชัย จากกรณีมีผู้ร้องเรียนกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และระเบียบของราชการเรื่องเรียกรับเงินจากบริษัทยา และร้านค้า 5% เข้าบัญชีกองทุนพัฒนา รพ.ขอนแก่น และล่าสุด (1 มิย.)มีหนังสือคำสั่งจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้นายแพทย์ชาญชัย ไปปฏิบัติราชการที่กระทรวงสาธารณสุข พร้อมมีคำสั่งให้ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ มารักษาราชการแทน ที่ รพ.ศูนย์ขอนแก่น. และมีปรากฏการณ์แฮชแท็ก #saveหมอชาญชัย และองค์กรแพทย์รพ.ขอนแก่นได้เข้าร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ขอความเป็นธรรมให้อีกเช่นกัน
ซึ่งกรณีการย้ายดังกล่าว "นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ" รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ปลายปี 2562 มีผู้ร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์ มาที่ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต พร้อมแนบหลักฐาน โดยร้องเรียนทั้งผอ.รพ.ศูนย์ขอนแก่นและเจ้าหน้าที่การเงิน จึงมอบให้กลุ่มเสริมสร้างและระบบคุณธรรมตรวจสอบตามระบบปกติ
กระทั่งปลายเดือน ต.ค. 2562 กลุ่มเสริมสร้างวินัยฯ ตรวจสอบพบมีมูล มีบางประเด็นที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่ารพ.ศูนย์ขอนแก่นทำไม่ถูกต้องในเชิงหลักการที่ถือปฏิบัติ โดยพบว่าเดือน มี.ค. 2562 รับเงิน 1.5 ล้านบาท และยังรับอีก 2 -3 เดือน จำนวนเงินต่างกัน ตรวจสอบพบว่าจำนวนเงินจะขึ้นกับจำนวนการสั่งซื้อยา แม้จะบอกว่าเป็นการบริจาค แต่เมื่อขึ้นกับจำนวนการซื้อยา และถึงแม้จะนำเข้ากองทุนของรพ.แต่ก็ถือเป็นประโยชน์ต่างตอบแทน จึงมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่มี นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 6 เป็นประธาน
ขณะที่ นพ.ชาญชัย อธิบายว่า ข้อกล่าวหาการรับเงินบริจาคจากบริษัทยานั้น ทางการเงินได้รวบรวมส่งให้ฝ่ายบัญชี และฝ่ายบัญชีส่งให้รองบริหาร และเขาในฐานะผอ.รพ.ลงนามเกี่ยวกับเงินบริจาค ซึ่งเงินบริจาคเป็นเงินที่เปิดให้ประชาชนสามารถบริจาคเข้ากองทุนพัฒนารพ.ขอนแก่น โดยจำนวนเงินบริจาคไม่ได้มีการแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับรายชื่อผู้บริจาคส่งขึ้นมา ซึ่งคาดว่าที่เป็นเช่นนั้นน่าจะอยู่ที่กำลังปรับระบบอยู่
คำถามที่แวดวงสาธารณสุขสงสัยคือว่าทำไมการย้ายครั้งที่ 2 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังตั้งรักษาการคนเดิมคือ " นพ.เกรียงศักดิ์ "หรือเป็นเพราะเคยเป็นผอ.รพ.อำเภอในจ.ขอนแก่นมาก่อนหรืออย่างไร ขณะเดียวกัน "นพ. นพ.ชาญชัย" ที่โดนข้อกล่าวหา“ฉ้อราษฎร์บังหลวง”มีคำสั่งให้ เข้าไปปฏิบัติราชการที่กระทรวงสาธารณสุข ใช้หลักการพิจารณาอย่างไรระหว่าง คำสั่งพักราชการ กับปฏิบัติราชการ
นพ.สุขุม อธิบายว่าจากการตรวจสอบพบว่ามีมูลความผิดชัดเจน และมีการขัดขวางการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการข่มขู่พยาน ส่วนข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น ระหว่างการสอบสวน สามารถดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาได้ 2 แนวทาง ได้แก่ พักราชการหรือการย้ายออกจากพื้นที่
ว่ากันว่าในเดือนก.ย. 2562 มีการแต่งตั้งโยกย้ายนพ.ยงยศ จากผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวงเข้ารับตำแหน่งรองปลัดสธ. เป็นการแต่งตั้งผู้บริหารระดับ 10 ข้ามสายงาน จากสายวิชาการ มาเป็นสายบริหารได้ และมีการแต่งตั้ง พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้ช่วยปลัดสธ.ที่ผ่านงานผู้ช่วยปลัดสธ.ได้ 6 เดือนเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงในเดือนต.ค.2562
อย่างไรก็ตามสำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายของข้าราชการ หากเห็นว่าคำสั่งไม่ชอบธรรมแล้ว ข้าราชการผู้นั้นสามารถร้องต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพื่อให้เกิดการตรวจสอบตามระบบได้ หรืออีกช่องทางหนึ่งสามารถร้องเรียนผ่านองค์กรภายนอกหากว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
ทว่าท่ามกลางการแต่งตั้งโยกย้ายที่เกิดขึ้น ยังมีคำถามเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในแวดวงกระทรวงสาธารณสุขในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด มีการบริหารจัดการหน้ากากเอ็น 95 ให้กับบุคลา่กรในสังกัดอย่างเป็นธรรมทั่วถึงหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะการเบิกจ่ายหลายพันชิ้น ที่สถาบันโรคทรวงอกราวๆปลายเดือน ม.ค.2563
ที่สำคัญทั้งการบริหารจัดการหน้ากากเอ็น 95 และการแต่งตั้งโยกย้ายที่เกิดขึ้น 2 เหตุการณ์นี้ต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง ยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ที่สำคัญต้องเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรสาธารณสุขทุกภาคส่วน ที่ต้องทำงานแบบ “สหวิชาชีพ”ประสานอย่างเป็นเอกภาพถึงจะทำให้เนื้องานออกมาสมบูรณ์แบบและประสบผลสำเร็จ